สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปู ตกใจ! น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น-มท.เผย 21 จว.ท่วมแล้ว อุบลฯ น่าห่วงสุด

ปู” ตกใจ! น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น-มท.เผย 21 จว.ท่วมแล้ว “อุบลฯ” น่าห่วงสุด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

นายกฯ ดูระดับน้ำหน้าราชนาวิกสภา กองทัพเรือ ห่วงระดับน้ำสูงขึ้น สั่งกองทัพเรือติดตามใกล้ชิด อีกด้านที่มหาดไทย ประชุมด่วนถกรับมือป้องกันน้ำท่วม “รอยล” เผยตอนนี้เกิดอุทกภัยแล้ว 21 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 604,788 คน “อุบลราชธานี” น่าห่วง สั่งทุกจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า
         วันนี้ (23 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น.ที่ราชนาวิกสภา กองทัพเรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนดูระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณระเบียงหอประชุมราชนาวิกสภา ก่อนการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า ซึ่งนายกฯ แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ให้กองทัพเรือติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ใช้เรือผลักดันน้ำเร่งระบาย พร้อมระบุว่าได้สั่งการให้ทุกจังหวัดมีความเชื่อมโยงในการระบายอย่างเป็น ระบบ มั่นใจน้ำเหนือเขื่อนจะมีปริมาณไม่มาก ขณะที่น้ำใต้เขื่อนจะมีการเร่งระบายไปตามพื้นที่รับน้ำที่เตรียมไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ กทม.สั่งเตรียมเครื่องสูบน้ำ เรือดันน้ำ ร่วมกับ กทม.เร่งระบายน้ำอีกทางหนึ่งแล้ว ซึ่งเบื้องต้น กทม.ได้เตรียมแผนรับมือตามที่รัฐบาลวางแผนไว้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมเอ่อล้นจนระบายไม่ทัน ก็หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ชาวบ้านประท้วงขอเปิดประตูระบายน้ำ
       
       อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากเข้าประชุมอาทิ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมชลประทาน และนายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นต้น
       
       โดย นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายจังหวัดมีฝนตกหนักจากร่องฝน และดีเปรสชันเคลื่อนตัวผ่าน ทำให้เกิดฝนตกหนักและเกินน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ทำให้กลายเป็นข่าวที่ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือหากมีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น
       
       นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้เกิดใน 21 จังหวัด 114 อำเภอ มีประชาชนเดือดร้อน 604,788 คน แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด, ภาคเหนือ 4 จังหวัด, ภาคกลาง 7 จังหวัด, ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 1 จังหวัด แต่โดยรวมแล้วน้ำปีนี้มากกว่าปี 2555 แต่ยังน้อยกว่าปี 2554 โดยจากการตรวจสอบปริมาณน้ำสถานีบ้านค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรองรับน้ำได้อีก แต่ที่น่ากังวลคือในวันที่ 25-29 ก.ย.นี้ จะมีร่องมรสุมพาดผ่านเข้ามาทางภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างอีกรอบ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคกลาง, กทม., ปริมณฑล และภาคตะวันออก ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดคือ เขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งขณะนี้มีน้ำอยู่ 92% ของความจุ สามารถรับได้อีกแค่ 17 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนลำนางรอง มีน้ำอยู่ 81% ของความจุ หากฝนตกลงมาอย่างหนักอีกรอบ จะทำให้น้ำจากเขื่อนลำนางรองจะทะลักออกไปทางจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนตัวพื้นที่น่าเป็นห่วงคือ จ.อุบลราชธานี ที่จะต้องรับน้ำจาก จ.นครราชสีมา และ จ.สุรินทร์ ซึ่งหากเกิดฝนตกในพื้นที่จะทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งได้
       
       “การระบายน้ำผ่านแม่น้ำสายหลักยังสามารถรับน้ำได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องผันน้ำเข้าทุ่ง เพราะจะกระทบกับเกษตรกรที่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะเริ่มพร่องน้ำออกจากเขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนลำนางรอง 30 ล้าน ลบ.ม./วัน เช่นเดียวกับเขื่อนเจ้าพระยาที่ขณะนี้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นวันละ 1 เซนติเมตร จำเป็นต้องระบายน้ำออกอย่างน้อยที่สุด 200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้น้ำในเจ้าพระยาที่สิงห์บุรีเพิ่มขึ้น 20 เซนติเมตร และที่พระนครศรีอยุธยา 30-40 เซนติเมตร” นายรอยลกล่าว
       
       นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าวว่าจะมีการประสานกับ กทม. ปริมณฑล รวมทั้งหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดการประสานงานในภาพรวม ทั้งนี้ทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า โดยมีผู้ว่าฯ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และให้แต่ละอำเภอตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นมา เพื่อระดมกำลังเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครจัดวางกระสอบทราย และเครื่องสูบน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ย่านชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และโบราณสถานเอาไว้ให้พร้อม


น้ำท่วมกรุงเก่าหนักขึ้น คาดอีก 5 วันอ่วมแน่ “กรมศิลปากร” ระดมป้องกันโบราณสถาน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

พระนครศรีอยุธยา - หลายอำเภอในพระนครศรีอยุธยาน้ำยังท่วมสูง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังเอ่อเข้าท่วมไม่หยุด โดยเฉพาะวัดที่อยู่ริมแม่น้ำได้รับผลกระทบหนัก ด้าน “กรมศิลปากร” ระดมป้องกันโบราณสถาน ปภ.อยุธยา เผย ระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น หลังน้ำผ่านนครสวรรค์เพิ่มขึ้น คาดอีก 5 วันอ่วมแน่ ขณะที่ระดับหน้าหน้าวัดไชยวัฒนาราม โบราณสถานมรดกโลกน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง
       
       เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ระดับน้ำในพื้นที่ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเฉลี่ย 10-15 เซนติเมตร โดยยังพบว่าวัดที่อยู่ริมแม่น้ำหลายวัดยังคงถูกน้ำท่วมอย่างหนัก โดยที่วัดอัมพวา หมู่ 1 ต.บางหัก อ.บางบาล น้ำได้ทะลักเข้าไปทั่วบริเวณโดยมีความสูงจากพื้น 1 เมตร น้ำท่วมเข้าไปภายในพระอุโบสถ พระซึ่งอยู่ภายในวัด 7 รูป ต้องลุยน้ำช่วยกันเก็บสิ่งของ เช่น พระพุทธรูปบูชา โต๊ะหมู่ พรม และเครื่องบูชาต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องเดินลุยน้ำช่วยกันเก็บสิ่งของที่อยู่นอกวัดด้วย เช่น รถสำหรับใช้ในพิธีฌาปนกิจศพ ซึ่งจมน้ำทั้งคัน
       
       พระปรีชา กิตติปาโร อายุ 60 ปี พระลูกวัดเปิดเผยว่า วัดอัมพวาเป็นวัดริมแม่น้ำ และมีคันดินล้อมรอบแต่ไม่เคยป้องกันได้ น้ำพังเข้ามาเมื่อค่ำวันที่ 21 ก.ย. พระต้องช่วยกันขนของ ตอนนี้ประสบปัญหาเรื่องเรือที่ใช้บิณฑบาต เนื่องจากเรือที่ใช้อยู่เป็นเรือใหญ่ ส่วนเรือเล็กก็เล็กจนนั่งกันหลายรูปไม่ได้ สิ่งที่ตามมาคือ อาหาร ซึ่งยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก
       
       ส่วนการป้องกันวัดธรรมาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเหนือพื้นนอกบังเกอร์ประมาณ 30 เซนติเมตร โดยเมื่อคืนวันที่ 22 ก.ย.น้ำได้ซึมเข้าทางฐานล่างของบังเกอร์ ทำให้ต้องระดมกำลังป้องกันจุดที่น้ำซึมกันตลอดคืน ซึ่งตั้งแต่เช้าวันเดียวกันนี้ กรมศิลปากร ระดมกำลังกันป้องกันน้ำที่ซึมได้สำเร็จแล้ว โดยมีการสูบน้ำออกจากญานล่างของบังเกอร์ที่น้ำซึม และมีการนำกระสอบทรายถมในจุดที่น้ำซึมเอาไว้ได้แล้วทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะสามารถป้องกันได้อย่างแน่นอน
       
       ด้านนายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำวันนี้ว่า ในพื้นที่ อ.บางบาล ผักไห่ เสนา พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน และบางไทร ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 10-15 เซนติเมตร สาเหตุเนื่องจากน้ำผ่านเขื่อนนครสวรรค์ 1,564 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 108 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านสิงห์บุรี 2,044 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 84 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านอ่างทอง 2,028 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คลองบางบาล 183 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 13 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีผลทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกจากเมื่อวานนี้
       
        โดยช่วงเที่ยงวันนี้ ริมคลองบางหลวง บางบาล แม่น้ำน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตบางบาล พระนครศรีอยุธยา เสนา ผักไห่ บางไทร บางปะอิน จะเพิ่มต่อเนื่องเกือบทุกวัน เพราะน้ำจากนครสวรรค์ค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่หากชลประทานควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะทำให้ระดับน้ำในจังหวัดฯ เพิ่มขึ้นไม่มาก คือ ประมาณวันละ 15-20 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากนี้ไปอีก 4-5 วัน น้ำจะเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร
       
       ส่วนที่วัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานที่โบราณสถานสำคัญอันเป็นมรดกโลก พบว่า ระดับน้ำเจ้าพระยาหน้าวัดไชยวัฒนาราม มีปริมาณเพิ่มขึ้น และไหลแรง โดยปริมาณน้ำได้พ้นแนวตลิ่งเข้าถึงแนวบังเกอร์กั้นน้ำกว่า 20 เซนติเมตร ซึ่งบังเกอร์ที่ตั้งด้านติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีระยะทาง 165 เมตร จำนวน 138 แผ่น ขนาดของบังเกอร์กว้างแผ่นละ 1.20 เมตร และสูง 1.90 เมตร
       
       ขณะที่บริเวณรอบข้างของวัดไชยวัฒนาราม เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เร่งทำแนวคันดินทางข้างวัดที่มีการรื้อกำแพงเก่าออก โดยการเอาดินมาปั้นเป็นคันกันน้ำชั่วคราวสูงกว่า 3 เมตรล้อมรอบเพื่อป้องกันน้ำที่จะทะลักเข้าท่วมโบราณสถานอันเป็นมรดกโลกแห่ง นี้ซ้ำรอย ปี 2554 อีกชั้น โดยคาดว่าวันนี้น่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์


น้ำท่วมปราจีนยังวิกฤต ประกาศ 4 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

      ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถานการณ์น้ำท่วมปราจีนยังวิกฤต จังหวัดประกาศ 4 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ล่าสุด ระดับน้ำที่ต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี วัดที่ อ.กบินทร์บุรี เกินจุดวิกฤต 25 ซม. ล้นตลิ่งท่วมเรือนจำกบินทร์บุรี ต้องเร่งขนย้ายนักโทษ
       
       


       
       วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปราจีนบุรี ว่า จังหวัดได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 4 อำเภอ คือ อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.เมือง และล่าสุด ระดับน้ำที่ต้นน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี วัดที่ อ.กบินทร์บุรี เกินจุดวิกฤต 25 เซนติเมตร ล้นตลิ่งท่วมเรือนจำกบินทร์บุรี ต้องขนย้ายผู้ต้องขังไปที่เรือนจำจังหวัดสระแก้ว และเรือนจำจังหวัดปราจีนบุรี 142 คน จากทั้งหมด 734 คน ส่วนที่ชุมชนไปรษณีย์ ชุมชนโรงสี น้ำสูงประมาณ 1.20 เมตร ประชาชนเดินทางเข้า-ออกด้วยความลำบาก
       
       นอกจากนี้ น้ำยังท่วมสูงที่ชุมชนตลาดเก่า และทะลักเข้าเขตเศรษฐกิจเทศบาลตำบลกบินทร์บุรีสูง 1 เมตร พ่อค้าแม่ค้าขนย้ายสิ่งของ และปิดร้านไปตั้งขายที่บริเวณศูนย์การค้าเทศบาลกบินทร์บุรี
       
       ล่าสุด น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี และน้ำที่ถูกระบายมาจากอ่างเก็บน้ำแควระบม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ได้หลากลงมาที่ อ.ศรีมหาโพธิ บ้าน วัด และโรงเรียน ที่อยู่ริมแม่น้ำปราจีนบุรีถูกน้ำท่วม ตลาดท่าประชุม หรือตลาดเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ น้ำท่วมสูง 20-40 เซนติเมตร โดยวันที่ 24 กันยายน เทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ์ จะให้แม่ค้าไปตั้งแผงขายที่สวนสาธารณะลายพระหัตถ์ หรือหน้าอำเภอศรีมหาโพธิเป็นการชั่วคราว
       
       นอกจากนี้ น้ำยังไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนหลายร้อยหลัง นาข้าวทั้งใน อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.เมือง คาดว่าจะเสียหายทั้งหมด ขณะที่มณฑลทหารบกที่ 12 นำรถบรรทุก 5 คัน และกำลังพล 150 นาย ออกบริการรับ-ส่งประชาชนที่ต้องเดินทางไปทำธุระนอกบ้าน


มาร์คจี้รัฐแก้น้ำท่วมเฉพาะหน้าต้องชัดเจน

จาก โพสต์ทูเดย์

"อภิสิทธิ์" จี้ภาครัฐชัดเจนแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารับมือน้ำท่วม เจรจา-เปิดเผยข้อมูลสร้างเขื่อนแม่วงก์


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเปิดตัวโครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020 ซึ่งเป็นแผนการลงทุนเพื่ออนาคต เพื่อให้ประชาชนนำไปเปรียบเทียบกับแผนกู้เงิน 2ล้าน:ล้านบาท ของรัฐบาล ที่สโมสรราชพฤกษ์ นอร์ธปาร์ค


นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ในฐานะประธานมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะจัดความช่วยเหลือและเตรียมลงพื้นที่ช่วยเหลือต่อไป เพราะมีน้ำท่วมทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก หลายพื้นที่ท่วมหนัก โดยเบื้องต้นจะคาดว่าจะเดินทางไปที่ จ.ปราจีนบุรี เพราะน้ำท่วมหนัก และเมื่อปีที่ผ่านมาก็เดินทางไป แต่ว่าช่าวงนี้ ก็ยังกังวลเรื่องเวลา เพราะติดกันอยู่ในสภาในอังคาร พุธ พฤหัสฯ และยังนัดแบบต่อเนื่องเพิ่มทุกอาทิตย์ โชคดีที่ไม่มีวันเสาร์ด้วย

ส่วน ที่เป็นปัญหาตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องยอมว่าบางพื้นที่จะมีลักษณะที่เกิดขึ้นแบบนี้เกือบทุกปี ประชาชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำทราบดี แล้วก็จะต้องมีวิธีการในการที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นการยืนยันว่า ที่พูดถึงการลงทุนในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมอะไรต่างๆ เรายังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่มีความแตกต่างจากเดิม และเราเพียงแต่ว่า ตอนนี้หวังว่าการจัดการกับปัญหาเมื่อเกิดขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนั้นจะสามารถเรียนรู้ว่าวิธีไหนที่จะทำ ให้การบรรเทาความเดือดร้อน และการทำงานกับมวลชน เป็นการจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ง่ายขึ้นนั้นต้องทำอย่างไร

สำหรับ การคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เห็นว่า โครงการนี้ยังจำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น ได้ความเห็นจากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม และชัดเจนว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ตื่นตัวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ เกิดขึ้น แต่ที่ไม่ค่อยจะงดงามเท่าไหร่ก็คือ ท่าทีของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ ที่พยายามจะพูดว่ายังไงก็ต้องทำ แทนที่จะไปพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับเขาเสียก่อน รัฐบาลต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับบรรดาประชาชน และองค์กรต่างๆ ที่มีความห่วงใย

ประการแรก ก็ต้องเอาข้อมูลมาพิสูจน์กันก่อนว่า ความจำเป็นหรือสิ่งที่อ้างว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้นจริงหรือไม่จริงอย่างไร แม้กระทั่งเทียบดูได้จากสถานการณ์ปัจจุบันว่า สมมติว่ามีเขื่อนแม่วงก์นี้ เหตุการณ์วันนี้เกิดหรือไม่เกิด ก็ต้องมาพิสูจน์กันให้เห็นว่ามันเป็นปัญหาจากตรงนั้นจริงแค่ไหน

ประการที่ 2 รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องเปิดเผยออกมา แล้วก็การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ชุมชนในพื้นที่แล้วก็องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันก่อน ไม่ใช่มาสรุปว่า ตกลงจะเดินหน้าแล้ว ป่าผืนเดียว สัตว์ไม่กี่พันตัว อะไรทำนองนี้ คำพูดเหล่านี้ไม่ควรพูดหรอกครับ แล้วก็ทำให้มันเกิดปฏิกิริยาจากประชาชนที่เขาหวงแหน แล้วก็ต้องการที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ป่า


บุรีรัมย์ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม7อำเภอ

จาก โพสต์ทูเดย์

บุรีรัมย์ประกาศภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 7 อำเภอราษฎรเดือดร้อนกว่า 2 หมื่นครัวเรือนเฝ้าระวังเพิ่มอีก 2 อำเภอ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายอำนวย  ทองบ่อ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก และฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นเมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมาทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันทั้งบ้านเรือน  ถนน และพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร ใน 7 อำเภอ คือ อ.บ้านกรวด  ละหานทราย โนนดินแดง  ปะคำ  ประโคนชัย  พลับพลาชัย  และ อ.เฉลิมพระเกียรติ  ว่า ขณะนี้ระดับน้ำที่ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน  ถนนได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ยังมีนาข้าวในหลายพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง

อย่างไรก็ตามคาดว่าภายใน 1 - 2 วันนี้หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมสถานการณ์ก็จะคลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้นพบมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้ง นี้ 30 ตำบล  336 หมู่บ้าน  มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 24,000 ครัวเรือน  นาข้าวเสียหายกว่า 8,000 ไร่  ถนน 77 สาย ฝายชำรุด 5 แห่ง และบ่อปลาอีก 40 ไร่ ล่าสุดนายอภินันท์ จันทรังษี ผวจ.บุรีรัมย์ ได้พิจารณาประกาศให้ 7 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากอุทกภัยแล้วและกำลังอยู่ ระหว่างการสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนต่อไป

ด้านนายอำนวย  ทองบ่อ  หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ จะเริ่มคลี่คลายลง แต่ยังมีพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังจะเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันอีก 2 อำเภอ คือ อ.นางรอง และ อ.หนองกี่เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากลำปะเทียที่จะไหลลงสู่ลำน้ำสาขา ในพื้นที่ 2 อำเภอดังกล่าว  ประกอบกับน้ำเหนือจากจ.นครราชสีมา ที่อาจจะไหลมาสมทบเพิ่มเติมจนทำให้น้ำท่วมฉับพลันได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ริมน้ำจะต้องเฝ้าระมัด ระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันบ้านเรือนทรัพย์สินเสียหาย


ทับคล้อพิจิตรจมน้ำกว่า4พันหลัง

จาก โพสต์ทูเดย์

น้ำป่าเพชรบูรณ์ไหลทะลักท่วมตลาดทับคล้อเมืองพิจิตรจม 4,350 หลังคาเรือน นาข้าวพัง 2หมื่นไร่

นายอำนวย พานทอง นายอำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมของอ.ทับคล้อ ว่า ตลอด2วัน 2 คืนที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักในเขตจ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ ส่งผลให้น้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลเข้าท่วมในเขตอ.ทับคล้อเข้ามาทางคลอง บ้านวังแดงไหลข้ามถนนและท้องนา น้ำได้ไหลเข้าท่วมตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาชาวบ้านต้องเร่งอพยพขนย้ายสิ่ง ของและสัตว์เลี้ยงกันจ้าละหวั่นตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา โดยปริมาณน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ได้รับความเสียหายใน 4 ตำบล คือ ต.เขาเจ็ดลูก เขาทราย ทับคล้อ และ ต.ท้ายทุ่ง รวม 46 หมู่บ้าน 4,350 หลังคาเรือน โดยเฉพาะในเขตตลาดทับคล้อ ซึ่งเป็นย่านชุมชน ร้านค้าและเขตเศรษฐกิจต่างก็ถูกน้ำท่วมเข้าไปในอาคารร้านค้าแบบตั้งตัวไม่ ทันส่วนภาคการเกษตรนาข้าวที่อายุใกล้ถึงวันเก็บเกี่ยวจำนวน 21,950 ไร่  ต้องถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นวงกว้าง

นายพงษ์ชัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตรเขต 2 กล่าวว่าขณะนี้ก็มีน้ำเข้าท่วมโรงเรียนในหลายแห่ง แต่ที่หนักที่สุดก็คือที่โรงเรียนบ้านวังแดง ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ ที่มีเด็กนักเรียนเกือบ 200 คน  ซึ่งโรงเรียนอยู่ติดกับลำคลองที่รับน้ำจากอ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ จึงทำให้น้ำเอ่อล้นลำคลองท่วมบ้านเรือนของเด็กนักเรียนรวมถึงน้ำท่วม โรงเรียนจึงได้ให้สั่งปิดโรงเรียนในวันนี้ 1 วันก่อน เพื่อดูสถานการณ์ ถ้าน้ำยังไม่ลดก็ให้ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจสั่งหยุดเรียนได้เลย นอกจากนี้ยังให้ครูกำชับเด็ดขาดว่าห้ามเด็กๆลงเล่นน้ำเนื่องจากเกรงจะตกน้ำ ตายและอาจได้รับเชื้อโรคที่ไหลปะปนมากับน้ำ โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นนาข้าว

ล่าสุดทางราชการได้พยายามเร่งระบายน้ำลงสู่คูคลองเพื่อจะระบายน้ำลงสู่ แม่น้ำน่านที่ขณะนี้น้ำในแม่น้ำน่านก็มีปริมาณสูงขึ้นต่ำกว่าตลิ่งเพียงแค่ 3 เมตรเท่านั้นก็จะถึงจุดวิกฤต


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view