สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส.ส.ใต้ ปชป.แฉ นายกฯ ปู สั่งเองไม่ให้เจรจาม็อบยางอีก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ส.ส.ใต้ ปชป.แถลง การช่วยเหลือชาวสวนยางไม่ตอบโจทย์ เหตุคนกรีดยางไม่ได้ประโยชน์ แถมการยื่นเอกสารรับสิทธิ์ยุ่งยาก พวกที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินก็ไม่ได้อะไรจากมาตรการนี้ “ชินวรณ์” ชี้ข้อมูลกักตุนยางของรองเลขาฯ นายกฯ มั่วนิ่ม ซ้ำเติมปัญหา “นิพิฏฐ์” ปลุกม็อบ แฉ “ปู” สั่งเองไม่ต้องเจรจากับชาวสวนยางใต้อีก
         ที่รัฐสภา วันนี้ (20 ก.ย.) ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในจังหวัดพื้นที่ปลูกยาง นำโดยนายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคืบความหน้าในการชุมนุมของชาวสวนยางที่ชุมนุมเรียก ร้องให้รัฐบาลผลักดันราคายางให้สูงกว่าราคาในปัจจุบันว่า หลังจากที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี ผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ให้จ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไร่ละ 2,520 บาทต่อไร่ โดยให้ไม่เกิน 25 ไร่นั้น นายอาคมกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลสร้างปัญหาให้กับชาวสวนยางส่วนใหญ่เป็นอันมาก ถึงแม้ว่าบางพื้นที่จะรับเพราะเห็นว่ารัฐบาลได้ช่วยเหลือแล้ว เพราะชาวสวนยางบางรายมีสวนยางมากกว่า 25 ไร่ และไม่ได้ตอบโจทย์ของเกษตรกรที่กรีดยางที่เรียกร้องเพราะไม่ได้ประโยชน์จาก มาตรการดังกล่าว
       
       “ซึ่งจากการลงพื้นที่ในสัปดาห์ผ่านมา ผมได้ถามกับชาวสวนยางว่าทำไมถึงไม่รับมาตรการที่ช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต ของรัฐบาล ก็ได้รับคำตอบว่า การจะยื่นเอกสารเพื่อจะรับสิทธิ์ตรงนี้มันยุ่งยากมาก เพราะว่า ครม.ยังไม่ตอบว่าในพื้นที่สวนยางที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้น จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้หรือไม่ ทำให้ต้องรอคำตอบจาก ครม.อีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร แต่รัฐบาลเองก็รับปากว่าจะช่วย และเกษตรกรที่กรีดยาง นอกจาก 25 ไร่แล้ว ชาวบ้านเกรงว่าถ้ากรีดยางไร่ที่ 26 เป็นต้นไปก็จะไม่ได้รับประโยชน์ ทำให้ไม่เกิดความเป็นธรรม ซึ่งจากการสอบถามชาวสวนยางส่วนใหญ่ ผมคิดว่าพวกเขาเรียกร้องต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากกว่า โดยให้รัฐบาลบริหารยางใหม่ ให้ราคาไปถึง 90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งอย่างนี้ตอบโจทย์ของประชาชนแน่นอนทั้งหมด เกษตรกรก็ได้ ชาวบ้านก็ได้ และรัฐบาลแก้ปัญหายางอย่างตรงประเด็นด้วย”
       
       นายอาคมกล่าวว่า ในพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดนั้น ราคาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องสามารถผลักดันให้ได้ ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการต่อไป แต่ถ้ายังทำไม่ได้ รัฐบาลก็จะต้องใช้จ่ายเงินส่วนต่างหรือเงินประกันราคาให้กับเกษตรกรก็ได้ โดยที่ไม่เป็นภาระของรัฐบาลเหมือนกับข้าว และสิ่งที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงานหรือภาคส่วนอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ ก็จะทำให้ราคายางสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณอย่างไร ซึ่ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ในพื้นที่ปลูกยางก็หารือกันจนได้ขอสรุปว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันราคายางให้ไม่ต่ำกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม และนอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ซึ่งขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.50 บาท ดังนั้น ขอให้รัฐบาลสกัดกั้นการนำเข้าปาล์มน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้าน และผลักดันให้ราคาปาล์มน้ำมันสูงขึ้นด้วย
       
       ด้านนายชินวรณ์กล่าวว่า รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาแบบมั่วนิ่ม ซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ปัญหาราคายาง เพราะการที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ และ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง สองรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาบอกว่ามีพ่อค้ากักตุนยางพารา 2.7 หมื่นตัน เพื่อหวังเก็งกำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้นและมีการจ้างวัยรุ่นออกมาชุมนุมนั้น เป็นข้อมูลที่มั่วนิ่ม และพยายามโยนความผิดให้กลุ่มอื่นหลังจากที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาการชุมนุมไม่ได้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงยางจำนวน 2.7 หมื่นตันนั้นเป็นปริมาณยางพาราที่อยู่ในกลไกการส่งออก ไม่ใช่การกักตุนเพื่อราคาส่วนตางราคาที่เพิ่มขึ้น และปริมาณยางพาราแค่ 2.7 หมื่นตันก็คิดเป็นแค่ 1% ของปริมาณยางทั้งหมดในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกักตุนเพื่อเก็งกำไร
       
       ทั้งนี้ ตนมีความกังวลว่าการที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะส่งรายชื่อ 135 เจ้าของสต๊อกยางพาราทั่วประเทศ ให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาม็อบชาวสวนยางนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการ และพ่อค้ารับซื้อยางเกิดความแตกตื่น จนหยุดรับซื้อยางจากเกษตรกร ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายออกไปอีก
       
       “ผมอยากเตือนรัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่าอย่าเชื่อข้อมูลมั่วนิ่ม และอย่านำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาราคายาง เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ขึ้นอีกด้วย และจะยิ่งทำให้ราคายางตกต่ำลงไปอีก”
       
       ส่วนนายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหา และข้อเสนอจากเกษตรกรที่ชุมนุมบริเวณแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งผู้ชุมนุมก็มีข้อเสนอผ่านพวกตนไปยังรัฐบาลว่า ต้องการให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลอีกรอบเพื่อตกลงราคายางพาราให้ไม่ต่ำกว่า 90 บาท ซึ่งหลังจากนั้นตนก็ได้ประสานไปยังรัฐมนตรีบางคน เพื่อให้นำข้อเสนอของเกษตรกรไปรายงานให้รัฐบาลทราบ แต่เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาตนก็ได้คำตอบจากรัฐมนตรีคนดังกล่าวว่า นายกฯปฏิเสธที่จะเจรจากับเกษตรกรในเรื่องราคา ดังนั้นจึงอยากแจ้งให้เกษตรกรทราบเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view