สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สะเอียบ แถลงการณ์หยุดเขื่อนแม่วงก์-ระดมรับบริจาคของส่งชาวลุ่มน้ำแม่วงก์

สะเอียบ”แถลงการณ์หยุดเขื่อนแม่วงก์-ระดมรับบริจาคของส่งชาวลุ่มน้ำแม่วงก์

จากประชาชาติธุรกิจ

วันที่ 16 ก.ย. นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมกันออกแถลงการณ์ หยุด EHIA อัปยศ หยุดเขื่อนแม่วงก์ จี้ให้รัฐบาลยกเลิกการศึกษาเขื่อนยมบน ยมล่าง และคืนงบประมาณให้แผ่นดิน ทั้งนี้เนื่องจากกรณีที่รัฐบาลอนุมัติสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือ EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผน (สผ.)สิ่งแวดล้อม และไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และส่งมาแล้ว 4 ครั้งในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่ผ่าน ปัจจุบันรัฐบาลใช้อำนาจในการแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาผ่าน EHIA ตามที่รัฐบาลต้องการ จึงเป็นการอัปยศอย่างยิ่ง ไม่ต่างกับการเล่นละครตบตาหลอกลวงคนไทยทั้งชาติ ทั้งยังเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับ กดดันให้การศึกษาที่เป็นวิชาการเสื่อมเสียหมดความน่าเชื่อถือ

ผู้ประสานงานฯ กล่าวต่อว่า ทางพี่น้องกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ จึงได้คัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ด้วยเห็นว่าเป็นฉบับอัปยศ เป็นเสมือนตรายางให้ทำลายป่าและระบบนิเวศน์อย่างชอบธรรม และขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่วงก์โดยเด็ดขาด และคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ ได้ร่วมให้กำลังใจคณะนักอนุรักษ์ทุกคนที่ร่วมกันรณรงค์เดินเท้าทางไกล จากแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนัก และเห็นคุณค่าของป่าแม่วงก์และระบบนิเวศน์ ซึ่งคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ ได้ร่วมกันระดมทุนรับบริจาคข้าวของที่เป็นผลผลิตจากป่า อาทิ ฟักทอง หัวปลี หรือผัก เห็ด สารพัดผลผลิตจากป่า และเสบียงอาหารที่ได้รับบริจาคมาจากชาวบ้าน ถึงจะไม่มีมูลค่ามากมาย แต่เป็นน้ำใจของชาวสะเอียบเพื่อมอบให้แก่พี่น้องแม่วงก์ เป็นกำลังใจให้ต่อสู้ต่อไป

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ ได้ประกาศจุดยืนขอยืนยันคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดยเสนอให้รัฐบาลดำเนินแนวทางการจัดการน้ำชุมชนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง มีทั้งหมด 12 ข้อ เป็นแนวทางที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังใช้งบประมาณน้อยกว่าด้วย

“สำหรับโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ.แพร่ ซึ่งอยู่ในแผนงานโมดูล A1 ของ กบอ. ในงบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการศึกษาทั้ง EIA และ EHIA คิดว่าไม่จำเป็นต้องทำการศึกษาอีกต่อไปแล้ว ขอรัฐบาลอย่าได้สร้างความอัปยศความเสื่อมเสียทางวิชาการอีกต่อไป เพราะพวกเราชาวลุ่มน้ำทั่วประเทศไม่สามารถยอมรับความอัปยศดังกล่าวได้ และเราจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น รัฐควรนำงบประมาณไปพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นจะดีกว่า” นายสมเกียรติ กล่าว


อีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ สผ.และครม.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

โดย ชุติมา นุ่นมัน aae_ok@yahoo.com



ถึงวันที่ 16 กันยายน ก็ย่างเข้าวันที่ 7 ที่กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่ จ.นครสวรรค์ นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของการเดินเท้าจากพื้นที่ลานนกยูง อันเป็นพื้นที่หัวงาน การสร้างเขื่อนแม่วงก์ มุ่งสู่หอศิลป์ใจกลางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อคัดค้าน การที่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำลังจะส่งรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ไปให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) เพื่อจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินอีกที

คชก.ที่พิจารณาอีเอชไอเอของโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์นี้ มีนายสันติ บุญประคับ เลขาธิการ สผ.ทำหน้าที่เป็นประธานผู้พิจารณา ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ โดยอีเอชไอเอฉบับนี้ นายสันติบอกว่า จนถึงปัจจุบัน คจช.ยังมีข้อสงสัย ข้อท้วงติง ที่ยังไม่สามารถส่งผ่านไปให้บอร์ดสิ่งแวดล้อมพิจารณาต่อ ซึ่งหลังจาก คชก.ให้ความเห็นแล้ว คชก.ต้องให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นควบคู่ไปด้วย จึงส่งให้บอร์ดสิ่งแวดล้อม พิจารณาให้ความเห็นอีกที จากนั้น ครม.จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะเอาหรือไม่เอาเขื่อนแม่วงก์

ข้อกังวลที่ทำให้ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่วางใจ เนื่องจากมั่นใจว่า อีกไม่นานขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาจะถูกรวบรัดตัดตอนให้เสร็จ เพื่อส่งให้ ครม.พิจารณา ตัดสิน ว่าจะเอาหรือไม่เอาเขื่อนแม่วงก์แห่งนี้ เพราะโครงการเขื่อนแม่วงก์ถูกบรรจุให้เป็น 1 ในโครงการที่จะต้องอยู่ภายใต้การแก้ปัญหาน้ำท่วม และอยู่ภายใต้การใช้งบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ผู้คัดค้านจึงมั่นใจว่า ในเมื่อมีการปักธง ตั้งเป้าเอาไว้ชัดเจนแล้ว ถึงอย่างไรเขื่อนแห่งนี้ก็ต้องเกิด



นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบฯ บอกว่า รู้สึกตกใจที่ได้ฟังคำชี้แจงจากนายสันติว่า สิ่งที่ คชก. องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม หรือบอร์ดสิ่งแวดล้อมพิจารณาในรายละเอียดของอีเอชไอเอฉบับนี้ เป็นเพียงแค่ความเห็นประกอบ เพราะในที่สุดแล้ว ผู้ที่จะตัดสินว่าจะเอาหรือไม่เอาคือ ครม. จึงเพิ่งรู้ว่าขั้นตอนเป็นแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นจะมี คชก.ไปทำไม ที่ผ่านมาใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมากลั่นกรองบรรดาโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แม้กระทั่งในบอร์ดสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน มีทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย สุดท้ายความเห็นของคนเหล่านี้เป็นเพียงความเห็นประกอบหรือ...

ประธานมูลนิธิสืบฯยืนยันว่าจะนำเรื่องไปหารือกับฝ่ายกฎหมายว่า ทุกอย่างในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติให้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีขั้นตอนการพิจารณา ก่อนทำโครงการแบบนี้จริงหรือ พร้อมทั้งยืนยันว่า จะออกโรงคัดค้านถึงที่สุด

ขณะที่ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการ ทส. ยืนยันว่า การพิจารณาอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ จะต้องเป็นไปอย่างละเอียด รอบคอบ โดยเฉพาะตัวเลขในการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ระบุไม่ห่วงเรื่องเวลาพิจารณานาน แต่ต้องการให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น กล้าไม้อีก 10,000 ต้น หรือเปรียบเทียบได้ว่าพื้นที่ป่า 1 ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วมจะมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 80 ต้น เป็นไม้สัก 13 ต้น ลูกไม้ 576 ต้น และกล้าไม้อีก 1,880 ต้น จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไปจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน

เรามีทางเลือก จะเอาป่า หรือจะเอาเขื่อน จะเอาน้ำท่วม หรือไม่เอาน้ำท่วม ทางเลือกแบบยั่งยืน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกหรือไม่..




ที่มา นสพ.มติชน ภาพ เฟซบุ๊ค คนอนุรักษ์


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view