สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บุญทรง แจงไม่ออก รัฐเจ๊งจำนำข้าว 2.6 แสนล้าน ยอมรับขาดทุนจริง แต่บอกไม่ได้เท่าไร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“บุญทรง”ดึงคลัง ธ.ก.ส. ร่วมชี้แจงจำนำเจ๊ง 2.6 แสนล้าน ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้ขาดทุนสูงขนาดนั้น อ้ำๆ อึ้งๆ บอกไม่ได้ว่าขาดทุนจริงๆ เท่าไรกันแน่ แต่บอกชาวนาได้ประโยชน์เต็มๆ แถมช่วยกระตุ้นจีดีพีประเทศ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2556 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวจากสำนักต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ได้เดินทางไปรับฟังการชี้แจงเรื่องจำนำข้าวขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท ที่กระทรวงพาณิชย์ แต่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้เดินทางมาแถลงจริงเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. โดยมาพร้อมกับนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประธานบอร์ดองค์การคลังสินค้า (อคส.) และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมการค้าภายใน
       
       นายบุญทรงได้เริ่มการแถลงข่าว โดยระบุว่า รัฐบาลได้จำนำข้าวมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นการช่วยยกระดับรายได้ให้กับชาวนา โดยรัฐบาลได้ใช้วงเงินจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบันวงเงิน 6 แสนล้านบาท จำนำข้าวได้รวม 39.5-40 ล้านตันข้าวเปลือก มีชาวนาได้ประโยชน์ 3.7 ล้านครัวเรือน หรือ 14-15 ล้านคน ซึ่งเงินที่ถึงมือชาวนาได้ช่วยให้ชาวนามีกำลังซื้อ และไปหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ ทำให้จีดีพีโต 0.5-1%
       
       ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ขายข้าวและส่งเงินคืนคลังไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลค้ำประกัน 4.1 แสนล้านบาท บวกเงินของ ธ.ก.ส.อีก 9 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จะไม่มีการขอวงเงินเพิ่ม โดยจะใช้วงเงินที่เหลือบวกเงินที่ได้จากการขายข้าวในการรับจำนำ
       
       “ยืนยันว่า การรับจำนำทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้นจริง ส่วนข้อมูลที่ถูกนำไปกล่าวหาตามสื่อ หรือโซเซียลมีเดียต่างๆ ว่าโครงการจำนำขาดทุนถึง 2.6 แสนล้านบาท ไม่จริง ไม่มีที่มาที่ไป”นายบุญทรงกล่าว
       
       จากนั้นนายบุญทรงได้ขอให้นายทนุศักดิ์ช่วยชี้แจงต่อ โดยนายทนุศักดิ์ไม่ได้ชี้แจงเรื่องจำนำข้าวขาดทุน แต่ได้ยืนยันนโยบายการรับจำนำว่าเป็นนโยบายรัฐบาล และเป็นประโยชน์กับเกษตรกร โดยคลัง และธกส. ไม่ได้ละเลยที่จะเข้าไปดูแลโครงการ และย้ำว่า โครงการช่วยให้เศรษฐกิจปีที่ผ่านมาเติบโตได้เกือบ 1% ทำให้จีพีดีเพิ่มจาก 5% เป็น 6% เมื่อปีที่แล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อนายทนุศักดิ์ชี้แจงได้ซักพัก ผู้สื่อข่าวก็ถามแย้งขึ้นมาว่า ขอให้ชี้แจงว่าโครงการจำนำขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ ไม่ใช่ให้มาชี้แจงนโยบายของกระทรวงการคลัง แต่นายทนุศักดิ์ก็ไม่ได้ตอบ โดยได้อธิบายถึงข้อดีของโครงการรับจำนำต่อ
       
       หลังจากนั้น นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การรับจำนำทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 4 พันบาทต่อตัน มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นทั้งระบบ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือ 39,160 บาท/ครัวเรือน โดยการรับจำนำตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันใช้เงินรับจำนำรวม 6.06 แสนล้านบาท แยกเป็นนาปี 2554/55 จำนวน 1.18 แสนล้าน นาปรัง 2555 2.1 แสนล้าน ปี 2555/56 2.28 แสนล้าน และนาปรัง 2556 5 หมื่นล้านบาท
       
       พอนายสุพัฒน์แถลงเสร็จ นายบุญทรงได้ขอให้นายณัฐวุฒิช่วยชี้แจงต่อในเรื่องการรับจำนำข้าวขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ โดยนายณัฐวุฒิกล่าวว่า มีตัวเลขเบื้องต้นจากคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ของกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า โครงการจำนำข้าวขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งตรวจสอบเบื้องต้นยังเป็นเอกสารลับ ยังแจกสื่อไม่ได้ ต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาก่อน แต่เท่าที่ดูตัวเลข ไม่มีระบุว่าขาดทุนถึง 2.6 แสนล้านบาท ที่ปรากฏ มีเพียงการระบายข้าวเปลือกปี 2547/48 จนถึงปัจจุบัน และมีโครงการจำนำมันสำปะหลังปี 2551/52 ข้าวโพด ปี 2551/52 กุ้งขาวปี 2552 รวม 17 โครงการ โดยมีการระบุกำไร ขาดทุนโครงการต่างๆ เอาไว้
       
       ส่วนการจำนำของรัฐบาลชุดนี้ มีมูลค่าข้าวคงเหลือ 2.26 แสนล้านบาท ขาดทุน 3 ปี แยกเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท 9 หมื่นล้านบาท และ 8.4 หมื่นล้านบาท ถ้าเอามูลค่าสินค้าคงเหลือหักกับมูลค่าดำเนินการ ไม่พบยอดขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท แต่ก็มีข้อสงสัยว่ามูลค่าสินค้าคงเหลือคิดจากราคาต่ำสุดหรือราคาที่ระบายได้ จึงยังสรุปไม่ได้ว่ารัฐบาลขาดทุนเท่าไร
       
       เมื่อถึงช่วงนี้ ผู้สื่อข่าวได้รุมถามอย่างหนักว่า แล้วจริงๆ มันขาดทุนเท่าไรกันแน่ เพราะที่อธิบายมาแล้ว 3-4 ท่าน ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีความชัดเจนว่าโครงการจำนำขาดทุนหรือไม่ขาดทุน ซึ่งนายบุญทรงได้ขอให้ผู้สื่อข่าวใจเย็นๆ พร้อมระบุว่า ยังไม่ได้ปิดโครงการ ก็เลยบอกไม่ได้ว่าขาดทุนเท่าไรกันแน่ เพราะข้าวที่จำนำมา จะใช้เวลาขายอีก 2-3 ปี ถึงจะหมด
       
       ขณะที่นายณัฐวุฒิ ก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน แต่ได้เลี่ยงตอบว่า การจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลยังไม่ปรากฏว่ามีผลกำไรมาก่อน เพราะรัฐบาลต้องดูแลเกษตรกร พร้อมย้ำว่า ยังไม่ปรากฏว่ามีชาวนาอยากให้เลิกโครงการ ส่วนตัวเลขสรุปขาดทุนของคณะกรรมการปิดบัญชี จะต้องเสนอให้ กขช. พิจารณาก่อน
       
       เมื่อถามว่า แล้วข้าวในสต๊อกที่ยังคงเหลือมีอยู่จริงเท่าไร 17 ล้านตันใช่หรือไม่ นายบุญทรงกล่าวว่า คงราวๆ นั้น แต่หากหักข้าวที่มีภาระผูกพันออก ก็จะเหลือข้าวที่ไม่มีภาระผูกพันจริงกว่า 10 ล้านตันเท่านั้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view