สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธ.ก.ส.อ่วม!ส่อวืดเงินจำนำข้าวคืน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

จำนำข้าว,ธ.ก.ส.,

ธ.ก.ส.!อ่วม ส่อวืดเงินจำนำข้าวคืน หลังจากใช้เงินดำเนินโครงการเกินมติครม.กำหนดไว้ที่ 5 แสนล้าน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รายงานตัวเลขวงเงินที่ใช้ในโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 และปี 2555/2556 มีวงเงินสูงกว่า 6.6 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินดำเนินโครงการ ตามมติครม.เมื่อเดือนต.ค. 2555 โดยแบ่งเป็นเงินกู้ วงเงิน 4.1 แสนล้านบาท และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท โดยประมาณการว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2556 หรือสิ้นเดือนก.ย. วงเงินที่ใช้ดำเนินการจริง อาจจะสูงถึง 7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขการดำเนินโครงการที่สูงกว่ามติ ครม. ที่กำหนดไว้ดังกล่าว อาจส่งผลต่อการตั้งงบประมาณชดเชยคืนให้แก่ ธ.ก.ส. ในส่วนของวงเงินที่เกินจากที่วงเงินขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ต้องจ่ายคืนให้จำนวน 1.5-1.3 แสนล้านบาท เนื่องจากมติครม.กำหนดกรอบวงเงินดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรไว้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท หากกระทรวงการคลังจะชดเชยให้ ก็ต้องมีมติครม.รองรับให้ขยายกรอบวงเงินโครงการ เพราะจะผิดกฎหมายทันที

ธ.ก.ส.ผวาไม่ได้รับคืนเงินส่วนเกิน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เดิม ธ.ก.ส. มีแผนที่จะขอให้นำส่วนต่างการก่อหนี้ที่ยังไม่เต็มเพดาน โดยให้กระทรวงการคลังจัดหา หรือ ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม หรือออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้จะต้องชี้แจงและอธิบายให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว เพราะปัจจุบันทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยังคงออกใบประทวนจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 เกือบจะถึง 15 ล้านตันแล้ว และมีแนวโน้มรับจำนำข้าวนาปรังอีก 7 ล้านตัน ทำให้ ธ.ก.ส.เกรงว่าจะมีวงเงินใช้ดำเนินโครงการไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม หาก ครม. ยืนยันว่าจะไม่ขยายกรอบวงเงิน กระทรวงการคลังก็คงไม่สามารถกู้เงิน ทำให้ ธ.ก.ส. มีข้อจำกัดในการกู้เงิน นอกจากนั้น ขณะนี้การก่อหนี้ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ เกือบเต็มเพดานแล้ว โดยมีส่วนต่างๆ ที่ยังสามารถก่อหนี้หรือกู้เงินได้อีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงการคลังต้องสำรองวงเงินกู้นี้ไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อใช้ในโครงการลงทุนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นด้วย จะให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกอย่างเดียวคงไม่ได้

"กระทรวงพาณิชย์ จะต้องเสนอ ครม.เพื่อขอขยายกรอบวงเงินดำเนินโครงการเพิ่มเติมอีก ซึ่งล่าสุดมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการรับจำนำข้าวด้วย เคยยืนยันมาแล้วว่า จะไม่ขยายกรอบวงเงิน แต่จะให้ใช้เงินหมุนเวียนจากการระบายข้าว มาใช้รับจำนำข้าวรอบใหม่ ฉะนั้นหากไม่มีมติครม.รองรับ วงเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายไปในการรับจำนำข้าวส่วนที่เกินก็อาจไม่ได้รับชดเชยคืน และอาจต้องรับภาระวงเงินนั้นไว้เอง ซึ่งต้องดูว่าจะกระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. หรือไม่"

ธ.ก.ส.อ่วมโยกเงินโปะจำนำวุ่น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมกขช.นัดล่าสุด ได้มีรายงานเกี่ยวกับวงเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการจำนำข้าว โดยนาปี 2554/2555 ธ.ก.ส.จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 118,576 ล้านบาท เป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส.เอง 9 หมื่นล้านบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 28,576 ล้านบาท ส่วนโครงการจำนำนาปรังปี 2555 ธ.ก.ส. จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 218,670 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน 193,910 ล้านบาท เงินจากการระบายข้าว 20,850 ล้านบาท ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 3,910 ล้านบาท ขณะที่ ครม.อนุมัติให้นำเงินกู้จำนำข้าวไปใช้ในโครงการมันสำปะหลัง 27,836 ล้านบาท และใช้ในโครงการแทรกแซงยางพารา 15,000 ล้านบาท รวมวงเงินกู้จากสถาบันการเงินปี 2554/2555 เท่ากับ 265,322 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินกู้ 3,838 ล้านบาท จากที่ ครม.อนุมัติกู้ 269,160 ล้านบาท

วงเงินที่ใช้ในการดำเนินการปี 2555/2556 ครม.อนุมัติกู้เงิน 140,840 ล้านบาท กระทรวงการคลังกู้ถึงเดือนเม.ย. 107,428 ล้านบาท คงเหลือ 33,412 ล้านบาท รวมกับวงเงินกู้คงเหลือปี 2554/2555 จึงเท่ากับมีวงเงินกู้คงเหลือเพียง 37,250 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส.จ่ายเงินจำนำข้าวไปแล้ว 219,738 ล้านบาท เป็นเงินกู้ 107,428 ล้านบาท เงินระบายข้าว 59,154 ล้านบาท ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 53,156 ล้านบาท และโครงการจำนำรอบ 2 ปี 2556 จ่ายไปแล้ว 31,724 ล้านบาท รวมวงเงิน ธ.ก.ส. สำรองจ่าย 84,880 ล้านบาท

ธ.ก.ส.สำรองจ่ายพุ่ง1.47แสนล้าน

ในการประชุมเพื่อพิจารณาวงเงินจำนำข้าวที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯเป็นประธานทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)แจ้งกับที่ประชุมว่าตามพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ กำหนดว่ากระทรวงการคลังค้ำประกันได้ไม่เกิน 20% ของงบรายจ่ายปี 2556 จะกู้ได้แค่ 4.8 แสนล้านบาท ในโครงการจำนำข้าว ณ วันที่ 30 เม.ย.2556 ใช้วงเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 462,750 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ 37,250 ล้านบาท เพื่อไม่ให้วงเงินกู้เกิน

สบน. ระบุว่าเมื่อ ธ.ก.ส. ได้รับเงินคืนขายข้าวต้องนำไปชดใช้หนี้เงินกู้ก่อน โดยให้นำไปใช้หนี้เงินกู้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้าน เพราะฉะนั้นเงินจากการขายข้าวคงเหลือ 59,154 ล้านบาท จะต้องส่งคืนเงินกู้ธ.ก.ส.ก่อน ดันนั้นเท่ากับว่า ธ.ก.ส.ต้องสำรองจ่ายเงินในการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 14 พ.ค. เป็นเงิน 147,944 ล้านบาท

บีบคลังค้ำประกันเงินกู้-ดอกเบี้ยเพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการแก้ปัญหาเงินทุนจำนำข้าวนั้น กขช. ได้เห็นชอบให้ใช้หนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านก่อน และนำเงินนั้นมาหมุนเวียนจำนำต่อ และหากยังไม่ได้รับเงินจากการขายข้าว กรณีเต็มวงเงินแล้ว ให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ เพื่อสำรองจ่ายโดยได้รับชดเชยต้นทุนเงินอัตรา FDR+1

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้น ดอกเบี้ย โดยรัฐบาลรับภาระทั้งหมดรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายระหว่างรอจัดหาเงินกู้

ปัดข้อเสนอ "สุภา" ตั้งงบใช้คืน

อย่างไรก็ตาม ทาง สบน. มีข้อเสนอเพิ่มเติม โดยเฉพาะความเห็นของนางสาวสุภา ที่เสนอให้จำกัดกรอบเงินจำนำข้าว ไม่ว่ากรณีใดๆ กระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินกู้ไม่เกิน 4.1 แสนล้านบาท และเงิน ธ.ก.ส.ไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 30 ก.ย. 2556 และข้อเสนอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบชำระคืนโครงการจำนำปี 2555/2556 ให้เสร็จภายใน 1 ปี ไม่เกิน 2 ปี โดยไม่ต้องรอระบายผลผลิตให้เสร็จก่อน

ซึ่งส่วนนี้ที่ประชุม กขช. ไม่เห็นชอบด้วย โดยการใช้วงเงินให้หารือกับนายนิวัฒน์ธำรงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขยายกรอบวงเงินและระยะเวลา ขณะที่การใช้คืนใน 1 ปีนั้นมีการระบุในที่ประชุมว่าไม่สามารถทำได้ เพราะต้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับรองการปิดบัญชีก่อน

ชงครม.4 มิ.ย.ไฟเขียวกรอบงบใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุมครม. วันที่ 4 มิ.ย. กระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบการจัดทำตัวเลขปริมาณและงบประมาณโครงการรับจำนำเป็นรายปี ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบในการประชุมเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา แทนมติเดิมที่แยกตัวเลขปริมาณและงบประมาณตามรอบเวลาการรับจำนำนาปีและนาปรัง โดยยังคงตัวเลขปริมาณและงบประมาณที่จะใช้ในโครงการรับจำนำปี 2555/2556 ที่ให้สิทธิเกษตรกรจำนำได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง

โดยคาดการณ์ข้าวเปลือกเข้าโครงการรับจำนำรอบแรก (นาปี 2555/56) 15 ล้านตัน และรอบ 2 (นาปรัง 2556) อีก 7 ล้านตัน และวงเงินหมุนเวียนสำหรับใช้ในโครงการรับจำนำ 4.1 แสนล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวมีความคล่องตัวขึ้น เดิมกำหนดปริมาณและกรอบใช้เงินเป็นรอบ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ของบประมาณเพิ่มหรือปรับตัวเลขคาดการณ์จำนำ ยังคงเป็น 22 ล้านตัน และการปิดบัญชีจะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. พร้อมกัน ไม่ว่าจะจำนำรอบ 1 หรือ รอบ 2

ชี้ข้าวหมุนเวียนขายในประเทศ

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า ขณะนี้มีการระบายข้าวของรัฐบาลในหลายรูปแบบ ได้แก่ การระบายผ่านการทำโครงการข้าวถุงธงฟ้า ซึ่งมีการระบายหลายครั้งให้กับผู้ประกอบการหลายราย เพื่อนำข้าวจากโกดังรัฐบาลไปปรับปรุงสภาพและจัดส่งไปยังพื้นที่ ซึ่งพบว่ากระจายอยู่แถบจังหวัดลพบุรี และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีการส่งมอบข้าว ตามโครงการข้าวถุงธงฟ้าแต่อย่างใด

นอกจากนี้ มีการระบายผ่านบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่มีการส่งมอบติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ส่งออกข้าวสูงสุดเมื่อปี 2555 โดยบริษัทดังกล่าวได้ประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลแบบไม่ระบุโกดัง

"ที่บอกว่าขายข้าวเกือบหมดแล้ว ยังเป็นที่น่าสงสัยเพราะถ้ามีข้าวออกมาในตลาดไม่ว่าจะส่งออก แบบรัฐต่อรัฐ หรือข้าวที่ขายในประเทศ คนในวงการต้องรู้ต้องเห็นบ้าง แต่นี้ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าที่บอกมีออเดอร์จีทูจีนั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่ราคาเฉลี่ยประมาณตันละ 360-370 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น จึงไม่น่าจะมีคำสั่งซื้อมาถึงไทย ยกเว้นอิรักที่ยอมสู้ราคา แต่ก็มีบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลเป็นผู้ขายและส่งมอบให้แล้วไม่ใช่รูปแบบการทำจีทูจีอย่างที่อ้าง"

ป.ป.ช.นำข้อมูลนพ.วรงค์เพิ่มคดีจำนำ

นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ขณะนี้เอกสารที่ ป.ป.ช.ได้มา แม้จะมาจากผู้ร้อง เช่น สำเนาเช็ค แต่หากจะสอบจะต้องได้หลักฐานจากธนาคารที่มีการรับรองมาเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของพยาน จะประกอบด้วย พยานผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ป.ป.ช.สามารถเชิญมาให้ข้อมูลได้ทันที

ส่วนพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จะต้องดูจากเอกสารว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือไม่ มีการเซ็นชื่อในเอกสารหรือไม่ และหากมีการเซ็นจะต้องนำมาดูว่าการเซ็นชื่อดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ด้านเอกสารต่างๆ ที่ป.ป.ช.ได้มาขณะนี้ก็ต้องมาดูในแต่ละแฟ้มมีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้อนุกรรมการไต่สวนได้เชิญนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์มาชี้แจง โดยได้เพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งในส่วนรายละเอียดนางวัชรี จะให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดำเนินการส่งเอกสารมาให้ต่อไป

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า คณะทำงานของ ป.ป.ช. ได้รับทราบข้อมูลของการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะได้ให้เจ้าที่ติดตามการอภิปรายอยู่แล้วและเตรียมนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่าคดีนี้ จะพิจารณาได้เสร็จเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และหากมีกรณีใดที่มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องถูกไต่สวนเพิ่มเติม ก็จะต้องดำเนินการไต่สวนอีก

ด้าน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ได้ถอนตัวจากการเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว จึงเกรงว่าหากมาทำคดีนี้จะเกิดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งให้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. มาทำหน้าที่แทน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view