สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธ.ก.ส.รับเกินเกณฑ์กขช.จี้พาณิชย์เร่งขาย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ธ.ก.ส.หวั่นรัฐใช้เงินโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร 7 แสนล้าน เผยใช้เงินไปแล้วกว่า 6.6 แสนล้านยอดจำนำข้าวพุ่ง 6.1 แสนล้าน เกินกรอบกขช.

โครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้งบประมาณบานปลายเกินการควบคุม โดยเฉพาะการจำนำข้าวล่าสุดยอดใช้เงินจำนำพุ่งไปถึง 6.1 แสนล้านบาท เกินไปจากกรอบที่คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ให้ไว้ และยอดรวมงบประมาณในโครงการจำนำข้าว จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนล้านบาท ภายในปีนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายใช้วงเงินในโครงการการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 และปี 2555/2556 วงเงิน 8 แสนล้านบาท ซึ่งถึงขณะนี้รัฐบาลได้ใช้วงเงินในโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 2 ปีการผลิตไปแล้วทั้งสิ้น 6.6 แสนล้านบาท โดยในช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 รัฐบาลตั้งเป้าหมายใช้เงินโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี จำนวน 20 ล้านตัน แต่ดำเนินการรับจำนำจริง 6.95 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 1.18 แสนล้านบาท และนาปรัง วงเงิน 14.7 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 2.18 แสนล้านบาท

โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และแทรกแซงราคายางพารา จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับข้าวนาปีช่วงเวลาการผลิตปี 2555/2556 สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. รับจำนำข้าวนาปี เป้าหมาย 15 ล้านตัน รับจำนำแล้ว 13.12 ล้านตัน วงเงิน 2.11 แสนล้านบาท นาปรังเป้าหมายไว้ที่ 7.105 ล้านตัน จนถึงปัจจุบันมีข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการแล้ว 2 ล้านตัน คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายออกไปประมาณ 30,000 ล้านบาท

ชี้เกินกรอบกขช.อนุมัติที่5แสนล้าน

ทั้งนี้ วงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาล ช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 มาจนถึงปี 2555/2556 ใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 6.1 แสนล้านบาท และอีก 50,000 ล้านบาท ใช้ในการรับจำนำยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งถือว่าเกินกว่ากรอบวงเงินที่รัฐบาลกำหนดแล้ว ขณะที่วงเงินของโครงการนี้ที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ว่าจะใช้ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท

สำหรับผลขาดทุนจากโครงการนี้ เฉพาะในช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 มีผลขาดทุนประมาณ 120,000 ล้านบาท และช่วงเวลาการผลิตข้าวนาปี 2555/2556 มีผลขาดทุนประมาณ 90,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลสรุป ณ เดือนม.ค. 2556 ที่ผ่านมา

ธ.ก.ส.จี้พาณิชย์ระบายข้าวคืนเงิน

ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้ควบคุมวงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลว่า จะต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แม้ช่วงหนึ่งช่วงใดของปีนี้ ยอดการใช้วงเงินอาจจะสูงเกินกว่า 500,000 ล้านบาท แต่ภายในสิ้นปีนี้ ยอดการใช้จ่ายของโครงการนี้จะต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการระบายข้าว เพื่อนำมาชำระคืนให้กับโครงการนี้

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้สำรองเงินในส่วนที่เกินกว่าวงเงินใช้จ่ายในโครงการแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายว่าจะนำเงินมาคืนให้กับ ธ.ก.ส.ภายในปีนี้จำนวน 220,000 ล้านบาท จนถึงปัจจุบันได้ ธ.ก.ส. ได้รับเงินคืนแล้ว 120,000 ล้านบาท

ยอดจำนำข้าวพุ่ง7แสนล้านสิ้นปีนี้

สำหรับเงินที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปีการผลิต 2555/2556 นั้น รัฐบาลได้กำหนดว่า จะใช้เงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ที่นำกลับมาหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวนาปรังช่วงเวลาการผลิตนี้ต่อไป

นายลักษณ์ กล่าวว่า สิ้นปีนี้ยอดใช้เงินสะสมสำหรับการแทรกแซงสินค้าเกษตรน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท เพราะข้าวนาปรังที่ใช้เงินก้อนใหญ่ทยอยเข้าสู่โครงการเกือบหมดแล้ว ยังต้องใช้เงินเพื่ออีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นการใช้เงินของรัฐจึงไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8 แสนล้านแต่อย่างใด

อัดพาณิชย์โกหกขายข้าว

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ในการจำนำข้าวมีเงินงบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติเพียงแค่ 4.1 แสนล้านบาท และให้ใช้วงเงินของ ธ.ก.ส. อีก 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยอดใช้เงินเกินไปกว่าที่กำหนดไว้แล้ว และเป็นเหตุผลสำคัญในการที่ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ถูกโยกย้ายออกจากคณะกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว เพราะนางสาวสุภา พยายามเข้าไปปิดบัญชีงบดุลคุมยอดค่าใช้จ่ายงบประมาณ

เขาระบุว่า ปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวออกได้และที่ออกมาแถลงว่ามีการตกลงรัฐต่อรับ ซึ่งแม้จะตกลงกันจริง แต่เวลาผู้ซื้อรับสินค้าจะซื้อข้าวในราคาตลาด ยอดรายรับจึงเข้าน้อย ขณะที่ ธ.ก.ส. ต้องจ่ายไปเรื่อยๆ

"กระทรวงพาณิชย์พูดโกหกทั้งนั้น ที่บอกว่าขายข้าวออกไปเท่านั้นเท่านี้ ที่ขายได้เป็นการขายในประเทศมากกว่า เพราะข้าวไทยห่างจากอินเดีย เวียดนาม กว่า100 ดอลลาร์ต่อตัน" นายสมพร กล่าว

ชี้ขาดทุนมหาศาลตลาดข้าวพัง

นายสมพร กล่าวว่า รัฐบาลจะประสบปัญหาขาดทุนในการขายข้าวมาก โดยข้าวทุกตันที่ขายหากคิดไปออกไปในราคาตลาดจะขาดทุนประมาณ 240 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ 7,200 บาท เพราะจำนำเข้ามาในต้นทุนประมาณ 700 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ราคาตลาดขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 500 ดอลลาร์ แต่เป็นราคาที่ขายไม่ได้เพราะสูงกว่าคู่แข่ง เพราะฉะนั้นการขาดทุนแค่ 2 แสนล้านบาท ถือว่าน้อยเกินไป ยอดจริงน่าจะสูงมากกว่านี้

เขากล่าวว่า เพื่อจำกัดการสูญเสียงบประมาณอย่างไร้เหตุผล รัฐควรจะปรับปรุงระบบการจำนำ โดยจำกัดปริมาณจำนำ และจำกัดพื้นที่ผลิตต่อครัวเรือนในการจำนำ โดยมุ่งเป้าช่วยชาวนารายย่อยและยากจริงๆ เท่านั้น ขณะเดียวกันในการระบายข้าวต้องเปิดประมูลโปร่งใส แม้ว่าราคาจะปรับลดลงมาบ้าง แต่ต้องยอมขาดทุน เพื่อระบายสต็อกออกไปก่อน เพราะเก็บสต็อกไว้ จะมีแต่การสูญเสีย

"ต้องจำกัดปริมาณจำนำ ลดการสูญเสียงบประมาณที่ไม่ได้ช่วยตรงจุดอย่างแท้จริงลง ขณะที่การขายต้องโปร่งใส ไม่ใช่ให้คนของตัวเอง 2-3 คน จัดการกับตลาด ขณะนี้ถือว่าเสียหายมหาศาลแล้ว ไม่รวมกับอุตสาหกรรมข้าวไทยที่พังทั้งระบบ ซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view