สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สหรัฐวิ่งวุ่นล็อบบี้ขอนำเข้าเนื้อสุกร สารพัดขู่ไทยตัด GSP

จากประชาชาติธุรกิจ

สหรัฐรุกหนักบีบรัฐบาลไทยนำเข้าเนื้อสุกร-ใช้สารเร่งเนื้อแดง "แร็กโตพามีน" เล่นเกมทั้งทางตรง และทางอ้อมทุกรูปแบบ ขู่ตัด GSP โยงงัด CVD บี้ผู้ส่งออกกุ้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรส่งหนังสือถึง "นายกฯยิ่งลักษณ์" คัดค้านนำเข้า หวั่นทำอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ 80,000 ล้านบาทพัง

นายกิดดิวงศ์ สมบุญธรรม เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางสหรัฐอเมริกากำลังพยายามกดดันรัฐบาลไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่าน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยให้เปิดการนำเข้าเนื้อสุกรจาก สหรัฐอเมริกาและให้ไทยอนุญาตให้ใช้สารแร็กโตพามีน(Ractopamine) เพื่อเร่งเนื้อแดงในสุกร โดยหากไทยไปยอมได้มีการขู่จะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของไทย รวมถึงการบีบบังคับทางอ้อม ด้วยการนำมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาใช้กับสินค้ากุ้งเพิ่มเติมอีกหลายข้อ เพื่อนำมาใช้ต่อรอง

ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังรัฐบาลให้เห็นถึงผลได้-ผลเสียโดยอธิบายว่า ถึงแม้คณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) มีมติเห็นชอบอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ แต่มีข้อกำหนดต้องพบสารตกค้างในเนื้อสุกรได้ไม่เกิน 10 ppb ในตับได้ไม่เกิน 40 ppb ในไตได้ไม่เกิน 90 ppb และในไขมันได้ไม่เกิน 10 ppb จึงต้องการทราบว่า สหรัฐมีการควบคุม ตรวจสอบอย่างไร เพราะถ้าไทยอนุญาตให้นำเข้ามาแล้วจะบังคับไม่ได้ เพราะไม่มีสัตวแพทย์ประจำทุกฟาร์ม เหตุผลที่ดีที่สุด คือ ผู้บริโภคไม่ต้องการบริโภคสินค้าที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ดังนั้น ควรทำการสำรวจความเห็นผู้บริโภค และนำผลสรุปไปแสดงให้สหรัฐเห็น และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ส่งจดหมายไปยังสมาชิกสมาคมทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันคัดค้าน และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้

ในอดีตสหรัฐเคยพยายามกดดันให้ใช้สารแร็กโตพามีน แต่ไทยปฏิเสธ โดยใช้เหตุผลว่า มีพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ซึ่งขณะนั้น Codex ยังไม่ยอมรับการใช้สารแร็กโตพามีน แต่เมื่อปีที่แล้ว Codex มีมติ 69 ต่อ 67 เสียงอนุญาตให้ใช้สารแร็กโตพามีน สหรัฐจึงพยายามกดดันและทวงถามให้ไทยทำตามที่ให้ไว้ ซึ่งสภาหอการค้าไทยเคยถามไปว่า ถ้าไทยอนุญาตนำเข้าสหรัฐจะคง GSP ของไทยไว้ตลอดหรือไม่ หรือจะละเว้นเฉพาะปีที่ไทยอนุญาตนำเข้า ซึ่งสหรัฐไม่ได้ให้คำตอบใด ๆ

เรื่องนี้ประเทศใหญ่ ๆ ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) จีน รัสเซีย ไม่เห็นด้วยและปฏิเสธการใช้ไปแล้ว ไทยเองสามารถใช้เหตุผลของประเทศใหญ่ ๆ เหล่านี้อ้างได้ ที่สำคัญคือต้องให้เหตุผลความกังวลด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค (Safety Concern) ในการประชุมหารือมีตัวแทนจากกรมปศุสัตว์เสนอว่าให้ติดฉลากแยกระหว่างเนื้อสุกรที่ใช้สารและไม่ใช้สาร ซึ่งในความเป็นจริงทำได้ยาก เนื้อสุกรที่ขายในตลาดที่สามารถติดฉลากได้จริงมีเพียง 10% ที่เป็นแพ็กแบบขายราคาแพงเท่านั้น ที่เหลือเป็นการขายในตลาดชั่งกิโลขายตามเขียง ถ้าใช้แนวทางการติดฉลากจะทำให้ผู้ค้ารายย่อยล้มตาย และเป็นโอกาสการขยายธุรกิจของรายใหญ่ จึงสรุปว่าจะไม่ใช้แนวทางนี้

นอกจากเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคแล้ว หากสหรัฐมาขายราคาต่ำ เกษตรกรในประเทศจะสู้ราคาไม่ได้ ต้องล้มตายไปในที่สุด ซึ่งขณะนี้ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว และกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในฟาร์ม คิดเป็นมูลค่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรประมาณกว่า 80,000 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันสหรัฐยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคหวัดสุกร (Swine Influenza) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า ปี 2555 ประเทศไทยมีแม่พันธุ์สุกร 9 แสนตัว ผลิตสุกรขุนได้ 13.9 ล้านตัว ส่วนในปี 2556 ประมาณการจำนวนแม่สุกร 9.2 แสนตัว ผลิตสุกรขุนได้ 14.7 ล้านตัว ส่งออกประมาณ 5% และบริโภคในประเทศ 95%

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังมีการควบคุมสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ หากพบการปนเปือนถือว่าฝ่าฝืน พรบ.อาหาร พ.ศ. 2522


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view