สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประมูลอ่างเก็บน้ำ 5 หมื่นล้าน อิตาเลียน-ไทย ขอแค่18 แห่ง อ้างเกินงบ

จากประชาชาติธุรกิจ

เปิดแผนสร้างอ่างเก็บน้ำ 23 แห่ง มูลค่า 5 หมื่นล้าน บริเวณลุ่มปิง ยม น่าน สะแกกรังและป่าสัก "อิตาเลียนไทย" บีบเสนอสร้างแค่ 18 แห่ง ตัดทิ้งพื้นที่ "เพชรบูรณ์-กำแพงเพชร" ส่วน "เค.วอเตอร์" ทำทุกโครงการ เล็งนำเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้มาใช้ รับรองเสร็จทันเดดไลน์ ด้าน กบอ.เร่งตรวจสอบเอกสารประมูล 4 รายประกาศผลสิ้น พ.ค.นี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นอกจากโมดูล 5 การจัดทำทางผันน้ำ (ฟลัดเวย์) พื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 153,000 ล้านบาท หนึ่งในโครงการลงทุนก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมระยะยั่งยืน วงเงินลงทุนรวม 3 แสนล้านบาท ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าประมูลน้ำแล้ว โมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำ มูลค่า 50,000 ล้านบาท ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน โดยโมดูลดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมชิงประมูล 2 ราย คือ บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) และกลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย-พาวเวอร์ไชน่า

ทั้งนี้ ทีโออาร์กำหนดให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุเก็บกักประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก เพื่อบริการจัดการน้ำการชลประทาน โดยเน้นการป้องกันน้ำท่วม ค่าก่อสร้างไม่เกิน 50,000 ล้านบาท จำนวน 21 แห่ง ให้แล้วเสร็จใน 5 ปี โดยตัดโครงการแก่งเสือเต้นออก เน้นสร้างอ่างพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน-ตอนล่างแทน

เปิดจุดสร้าง 23 อ่างเก็บน้ำ

ประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยม 8 แห่ง ที่ ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่, แม่น้ำยมตอนบน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่, แม่ตีบ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง, แม่อ้อน 2 ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง, ห้วยโป่งผาก ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง, แม่แลง ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่, น้ำงิม ต.งิม อ.ปง จ.พะเยา และอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมที่เหมาะสม

2.อ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ 3.อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 4.อ่างเก็บน้ำคลองวังชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก 5.อ่างเก็บน้ำแม่ขาน ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 6.อ่างเก็บน้ำที่น้ำปาด ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ 7.อ่างเก็บน้ำคลองสวนหมาก ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 8.อ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 9.อ่างเก็บน้ำคลองขลุงล่าง ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 10.อ่างเก็บน้ำห้วยฉลอม ต.ท้องฟ้า อ.บ้านตาก จ.ตาก 11.อ่างเก็บน้ำห้วยพังงา ต.บ้านฝาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

12.อ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล ต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 13.อ่างเก็บน้ำสมุน อ.เมืองน่าน จ.น่าน 14.อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเฮี้ย อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ 15.อ่างเก็บน้ำคลองวังเจ้า ต.โกสัมพี อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร และ 16.อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ

"ในการยื่นข้อเสนอทางเอกชนจะต้องมีการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 3 เท่าของพื้นที่ เป็นการชดเชยพื้นที่ที่นำมาสร้างอ่างเก็บน้ำให้กับกรมอุทยาน เพราะที่ตั้งสร้างอ่างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อุทยาน รวมถึงจ่ายค่ารื้อย้ายค่าปลูกป่า ค่าบำรุงรักษาต่อเนื่อง 3 ปีในอัตราเฉลี่ยประมาณ 6,800 บาทต่อไร่" แหล่งข่าวจาก กบอ.กล่าวและว่า

สำหรับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหากเป็นอ่างขนาดเล็กความจุไม่เกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรืออยู่ในพื้นที่ชลประทานเกิน 80,000 ไร่ ก็ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนด

"ในทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในแผนของกรมชลประทานอยู่แล้ว มีบางส่วนที่เป็นอ่างขนาดเล็ก ๆ สามารถก่อสร้างได้ทันที มีประมาณ 5-6 แห่ง เช่น น้ำปาด แม่วงก์ก็น่าจะใกล้แล้ว เพราะอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำอีเอไอ"

ITD เสนอแค่ 18 แห่ง

แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย-พาวเวอร์ไชน่า กล่าวว่า กลุ่มบริษัทเสนอสร้างอ่างเก็บน้ำตามโมดูล 5 จำนวน 18 แห่ง เพื่อให้อยู่ในงบประมาณ 50,000 ล้านบาท มีความจุกักเก็บน้ำรวมเกินจากที่ทีโออาร์กำหนด คืออยู่ที่ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่ตัดออกมีอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเฮี้ย อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ อ่างเก็บน้ำคลองวังเจ้า ต.โกสัมพี อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำอื่น ๆ โดยมองว่าไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้ใน 18 แห่งนี้อยู่ในตำแหน่งตามทีโออาร์กำหนด จะมีขยับบ้างแต่ไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพื่อให้อยู่ในวงเงินที่จำกัด ด้านการเก็บกักน้ำโดยรวมอ่างเก็บน้ำจะจุน้ำได้น้อยเพราะเป็นอ่างขนาดเล็ก เพื่อลดผลกระทบ เช่น อ่างเก็บน้ำลุ่ม

น้ำยมตอนบนต้องเก็บความจุได้ประมาณ 700-800 ล้าน ลบ.ม. แต่เก็บได้ 100 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแม่น้ำยมตอนล่างต้องเก็บได้ 1,300 ล้าน ลบ.ม. จะเก็บได้จริงแค่ 600 ล้าน ลบ.ม. หรืออ่างเก็บน้ำแม่วงก์ก็เก็บได้ 258 ล้าน ลบ.ม. แต่จะเพิ่มระบบการจัดการน้ำ เช่น ติดตั้งเครื่องมือ

"ดูแล้วที่น่าจะทำได้เลยคือ อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 และแม่แลง เพราะกรมชลฯทำขั้นตอนผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือไออีอี อ่างเก็บน้ำแม่วงก์ เพราะกำลังทำอีไอเอเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เราไม่ต้องทำอีไอเอใหม่ เป็นต้น"

เค.วอเตอร์นำเทคโนโลยีมาเสริม

แหล่งข่าวจากบริษัท เค.วอเตอร์ กล่าวว่า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำนั้น บริษัทเสนอรูปแบบตามที่กรมชลประทานศึกษาไว้ และผลการประเมินราคาก่อสร้างอยู่ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท ทั้ง 23 โครงการ แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.โครงการที่ผ่านอีไอเอแล้ว จะเสนอรูปแบบวิธีการก่อสร้างให้ทันสมัยจากประเทศเกาหลีใต้มาก่อสร้าง เพื่อให้รวดเร็วและกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด แต่ยึดตามแบบเดิมของกรมชลประทาน

2.กลุ่มโครงการที่บริษัทแนะนำว่าควรจะสร้าง เมื่อดูว่าสามารถบริหารจัดการน้ำได้ผล ซึ่งจะมีแบบและศึกษาไว้เบื้องต้นจะต้องทำอีไอเอเพิ่ม และ 3.กลุ่มเสนอแนะให้สร้างเพิ่ม

แหล่งข่าวจาก กบอ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารคุณสมบัติของทั้ง 4 กลุ่ม ว่าจัดเตรียมเอกสารครบถ้วนหรือไม่ในแต่ละโมดูล เช่น หลักประกันซอง หลักฐานการจดทะเบียนบริษัท การมอบอำนาจ เป็นต้น ที่มายื่นประมูลบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูล วงเงินลงทุน 291,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) 2.กลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย-พาวเวอร์ไชน่า 3.กลุ่มบริษัทค้าร่วมล็อกซเล่ย์ และ 4.กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที

"กลุ่มไหนเตรียมเอกสารมายื่นไม่ครบจะถูกตัดสิทธิ์ แต่เพราะเอกสารมีมากจะใช้เวลาตรวจสอบสักระยะหนึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จและทราบผลในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ และประกาศผลผู้ชนะประมูลทันในวันที่ 4 มิถุนายนนี้" แหล่งข่าวกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view