สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดช่องโหว่โปรเจ็กต์น้ำ 3 แสน ล. ป.ป.ช.จับตา 4 ข้อ เข้าข่ายขัด รธน.-ฮั้ว ?

จากประชาชาติธุรกิจ

โครงการ เพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และกรอบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ทั้ง 9 โมดูล ซึ่ง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กำลังพิจารณารายละเอียดเอกสารที่เอกชนเสนอแนบประมูล ก่อนจะมีการประมูลในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย ถึงรูปแบบการประมูล-รูปแบบการก่อสร้างที่กำหนดไว้ใน "ทีโออาร์" ที่ กบอ.เขียนขึ้นให้บริษัทเอกชนสนใจนั้นมีช่องโหว่ในการทุจริต

และยิ่ง "กลุ่มกิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย" และ "บริษัททีมไทยแลนด์-บริษัท ช.การช่าง" ขอถอนตัวไม่เข้ายื่นการประมูล เหลือเพียง 2 กลุ่ม คือ "กลุ่มกิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทย-เพาเวอร์ไชน่า" และ "บริษัทโคเรีย วอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น" (เค.วอเตอร์) ที่กำลังขับเคี่ยวแย่งชิงการก่อสร้างในโมดูลหลัก เมกะโปรเจ็กต์ดัง กล่าวก็ยิ่งถูกเพ่งเล็งมากขึ้น หนึ่งในหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบ คือ "สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.)

"สิริลักษณา คอมันตร์" ที่ปรึกษา ป.ป.ช. ให้เหตุผลที่ ป.ป.ช.ต้องเข้ามาจับตาโครงการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เป็นเพราะประเทศไทยมีประสบการณ์ความเจ็บปวดกับการบริหารจัดการมามาก แม้โครงการบริหารจัดการน้ำยังไม่มีเค้าลางทุจริต แต่ทาง ป.ป.ช.ติดตามในเชิงรุกว่ามีช่องโหว่หรือปัญหาเกิดขึ้นส่วนใดได้บ้าง

"สำหรับ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ข้อสังเกตคือ รัฐบาลใช้วิธีการจ้างโดยยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการพัสดุ 2535 และไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 2549 แล้วมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่แทน โดยออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการ ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้าง อนาคตประเทศ พ.ศ. 2555"

"ระบุขั้นตอนการประมูลกำหนดให้แต่ละบริษัท ที่สนใจเสนอกรอบความคิด Conceptual Plan หากได้รับการคัดเลือกจาก กบอ.ผู้ที่ผ่านถึงจะมีสิทธิ์เสนอแบบ Design-Build คำถามของเราคือ การ กระทำดังกล่าวขัดกับหลักการจัดหาพัสดุที่จะต้องมีการแข่งขันกันอย่างเป็น ธรรมและโปร่งใสหรือไม่ เพราะเกณฑ์การคัดเลือกไม่มีความชัดเจน"

"ยิ่ง ไปกว่านั้น กบอ.ได้แก้ไขบทนิยาม ′ส่วนราชการ′ ของระเบียบที่ออกขึ้นใหม่ ซึ่งตามปกติแล้วส่วนราชการ หรือเจ้าของโครงการจะต้องเป็นผู้ดูแลโครงการ เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เป็นผู้ดูแล แต่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน กลับกลายเป็น กบอ. หรือสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เป็นผู้รับผิดชอบ"

"ซึ่งเราเข้าใจแต่เดิมว่า กบอ.เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ ทีนี้ประธาน กบอ.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ พอทำเสร็จแล้วก็โยนกลับไปให้เจ้าของกระทรวงโดยที่เขาไม่มีส่วนในการคัดเลือก เลย แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ในมือของ กบอ. และยังดูเหมือนว่าอำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบริษัทก็จะอยู่ในอำนาจ ของประธาน กบอ.แต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน"

นอกจากนี้ ในทีโออาร์ก็ไม่ได้กำหนดราคากลาง เพราะทีโออาร์กำหนดว่าผู้ที่เข้าการแข่งขันนั้น ต้องแนบแบบการประมูล มีทั้ง Design-Build เมื่อ Design-Build ยังไม่มีรูปแบบก่อสร้างก็ยังไม่มีราคากลาง แต่ให้ใช้วิธีการดำเนินการจ้างในวิธี Guaranteed Maximum Price (หน่วยงานรัฐเป็นคนกำหนดค่าก่อสร้างว่าห้ามเกินกี่บาท) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างในรายละเอียดได้ นอกจากนี้ การศึกษาผลกระทบทั้งความคุ้มค่าการลงทุน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะต้องดำเนินการเองทั้งหมด อาจทำให้เกิดทุจริตได้

เมื่อ ป.ป.ช.พบช่องโหว่ในทีโออาร์ของ กบอ.มากมาย จึงตั้งข้อสังเกตว่า

1.การพัฒนาโครงการแบบนี้มีการแข่งขันที่แท้จริงหรือไม่ ผิดกฎหมายฮั้วที่ ป.ป.ช.ดูแลอยู่หรือไม่

2.การทำสัญญาไปก่อน แล้วค่อยศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กับประชาพิจารณ์ภายหลัง ขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีทำโครงการขนาดใหญ่หรือไม่

3.การ ที่ "กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย" และ "บริษัททีมไทยแลนด์-บริษัท ช.การช่าง" ได้ขอถอนตัวไม่เข้ายื่นประมูล จึงทำให้เหลือกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอทั้งหมด

4 กลุ่ม และทำให้ใน 8 โมดูลมีบริษัทแข่งขันโมดูลละ 2 รายเท่านั้น

4.แม้ การใช้วิธี Design-Build และ Guaranteed Maximum Price มีปัญหาอยู่มาก เช่น - ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ บริษัทที่ได้รับการประมูลก็จะออกผลสำรวจให้มีความเป็นไปได้สูง เพราะเขาต้องการสร้าง

- กบอ.เป็นเจ้าของโครงการจะต้องไปคุมงานเองหรือไม่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ก็มีอยู่ไม่มาก ผลงานจะด้อยคุณภาพหรือไม่

- บริษัทที่ได้รับการคัดเลือก แน่นอนว่าต้องไปว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อย

(Subcontract) รับช่วงการก่อสร้างต่อในบางงาน หากบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก (Main Contractor) ไม่สามารถของบประมาณเพิ่มได้เพราะขัดกับ Guaranteed Maximum Price ที่ตั้งราคาเอาไว้ ทำให้ไปกดราคาของผู้รับเหมารายย่อย สุดท้ายเขาอาจทิ้งงาน ในที่สุดทำให้เราไม่ได้ของ เป็นสิ่งที่ ป.ป.ช.จับตามองไม่คลาดสายตา


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags :

view