สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือนผู้ส่งออกรับมือกฎสินค้าเกษตรสหรัฐ

จาก โพสต์ทูเดย์

มกอช.แนะเอกชนเร่งปรับตัว รับข้อบังคับด้านสินค้าเกษตรใหม่สหรัฐ ก่อนกระทบปริมาณส่งออก

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แนะนำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศสหรัฐ เร่งปรับตัวรับมาตรการบังคับใหม่ เนื่องจากสหรัฐได้ออกมาตรการบังคับใช้ Food Safety Modernization Act (FSMA) เพื่อยกระดับการควบคุมความปลอดภัยทางอาหารสำหรับสินค้าอาหารทุกประเภทที่นำ เข้าและจำหน่ายในสหรัฐใหม่ โดยกำหนดให้ส่งออกสินค้าเกษตรไปสหรัฐต้องปรับฐานข้อมูลการส่งออกใหม่ทุก 2 ปี เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันมากที่สุด จากเดิมที่ให้ขึ้นทะเบียนใหม่ทุก 10 ปี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐประมาณปีละ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญคือกลุ่มสินค้ากุ้ง มีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ ข้าวหอมมะลิ 100% มูลค่าประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า 1.2 หมื่นล้านบาท และสับปะรดกระป๋องและผลิตภัณฑ์ประมาณ 4,000 ล้านบาท

นางนันทิยา อุ่นประเสริฐ รองผู้อำนวยการ มกอช. กล่าวว่า ข้อบังคับดังกล่าวเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2555 และผู้ส่งออกต้องปรับปรุงครั้งต่อไปปี 2557 จึงขอเตือนให้ภาคเอกชนเตรียมความพร้อมด้านเอกสารให้ชัดเพื่อรักษาตลาดส่งออก ไว้ เพราะที่ผ่านมาเอกชนหลายรายไม่พร้อมเรื่องข้อมูล ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการของไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ

“สหรัฐเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญของมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อความปลอดภัย กับประชาชนในประเทศ ดังนั้นนอกจากข้อมูลดังกล่าวแล้ว แนะนำว่าผู้ประกอบการต้องเก็บข้อมูลการตรวจสอบของห้องปฏิบัติการหรือห้อง แล็บเพื่อยืนยันมาตรฐานสินค้าไว้ด้วย” นางนันทิยา กล่าว

ทั้งนี้ สหรัฐกำหนดให้บริษัทผู้ค้าที่จดทะเบียนกับเอเย่นต์ในสหรัฐ ต่ออายุการจดทะเบียนโรงงานผลิตทุก 2 ปี หากโรงงาน หรือผู้ส่งออกไม่ได้จดทะเบียนจะถูกสหรัฐปฏิเสธการนำเข้า โดยจะเปิดให้ปรับข้อมูลใหม่ทุกปีคริสตศักราชที่เป็นเลขคู่ สำหรับข้อมูลที่ต้องปรับ เช่น ที่ตั้งบริษัท ประเภทสินค้าที่ส่งออกที่อาจมีการลดหรือเพิ่มประเภทสินค้า ขั้นตอนการแปรรูป ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และหนังสือรับรองมาตรฐานสินค้า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อสินค้าใน ระหว่างกระบวนการผลิต โดยต้องเก็บรักษาบันทึกเอกสารแผนความปลอดภัยทางอาหาร หรือผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ขั้นตอนการขนส่ง และหลักฐานแสดงการดำเนินงานตามแผนประเมินความเสี่ยงไว้อย่างต่ำ 2 ปี และในระยะยาวจะต้องร่วมมือกันสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเพื่อลดต้นทุน สินค้ากรณีถูกเรียกคืนสินค้า เพื่อให้การส่งออกสินค้าเกิดความคล่องตัวและไม่มีปัญหา


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view