สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พบเหตุกุ้งตายด่วนจากแบคทีเรียและไวรัส

จาก โพสต์ทูเดย์

ก.เกษตรฯ พบสาเหตุของโรคกุ้งตายด่วน (EMS) เกิดจากแบคทีเรียและไวรัสธรรมชาติ แนะเกษตรกรปรับปรุงฟาร์มให้ถูกสุขลักษณะ

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์  รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  ขณะนี้ได้มีการค้นพบสาเหตุของกลุ่มอาการตายด่วนในกุ้งทะเลแล้ว  โดย ดร.ไลท์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำจากประเทศสหรัฐอเมริกา  พบว่า สาเหตุของการเกิดลักษณะอาการตับวายเฉียบพลัน (Acute Hepatopancreatic Necrosis Syndrome; AHPNS) ในกุ้งทะเล เกิดจากแบคทีเรียชนิด Vibrio parahaemolyticus ที่ถูก infect จากเชื้อไวรัส (Bacteriophage) ซึ่งพบในธรรมชาติทั่วไป โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ผลผลิตกุ้งในปี 2555 ลดลงประมาณ  20% ของผลผลิตที่จะมีปีละประมาณ 4-5 แสนตัน

ส่วนการที่โรคจะแพร่ระบาดไปยังประเทศผู้นำเข้านั้น ยืนยันว่า มีความเสี่ยงต่ำมาก เพราะกุ้งที่ตายด้วย EMS เป็นกุ้งขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบการค้าระหว่างประเทศ  จึงไม่สามารถแพร่ระบาดไปยังกุ้งเป็น และไม่สามารถแพร่ขยายไปสู่คนได้

“หากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีเชื่อว่าจะสามารถควบคุมการระบาด ของกลุ่มอาการดังกล่าวได้ และผลผลิตกุ้งจะทยอยเพิ่มขึ้นและเข้าสู่สภาวะปกติ โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะมีผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมไม่น้อยกว่า 4 แสนตันจากปกติปีละ 4.5-5 แสนตัน ซึ่งเบื้องต้นมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งรวบรวมข้อมูลการ ปล่อยลูกกุ้ง เพื่อประมาณการณ์ผลผลิตล่วงหน้าเป็นข้อมูลให้ภาคส่งออก สร้างความมั่นใจต่อผลผลิตกุ้งในอนาคต และสามารถวางแผนการส่งออกได้” นายศิริวัฒน์กล่าว

สำหรับมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้วางไว้เพื่อบริหารจัดการและควบคุมการระบาดของกลุ่มอาการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้ปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักกุ้งทะเลต้นน้ำ (โรงผลิตนอเพลียส) การตรวจสอบพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการปรับปรุงและให้ใบรับรองแล้วกว่า 16 โรง การปรับปรุงโรงอนุบาล ลูกกุ้งทะเล  โดยมีโรงอนุบาลเข้าร่วมโครงการ 58 โรงทั่วประเทศ  การให้คำแนะนำฟาร์มเลี้ยงกุ้งเพื่อลดความเสี่ยงจากกลุ่มอาการตายด่วน โดยเน้นหลักการปฏิบัติที่ดีในการเตรียมบ่อ คัดเลือกลูกพันธุ์ การแก้ไขปัญหาระหว่างเลี้ยง รวมถึงการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้นนั้น  ถือว่าได้ดำเนินการมาถูกทางแล้ว  และจากนี้ไป เมื่อทราบถึงสาเหตุของกลุ่มอาการดังกล่าว จะได้เพิ่มมาตรการดูแลแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มความเข้มงวดเพื่อยับยั้งถึงต้นตอของสาเหตุในการกระจายของกลุ่ม อาการดังกล่าวต่อไป

ส่วนแนวทางหลังจากนี้ ให้กรมประมงจัดหาพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวที่มีคุณภาพจากแหล่งที่เชื่อถือได้  ปรับปรุงระเบียบการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์  ตรวจสอบคุณภาพลูกพันธุ์กุ้งตามมาตรฐานกรมประมงทุกรอบการผลิต และผลการตรวจเชื้อวิบริโอ  เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบร่วมกับการออก ใบรับรอง นอกจากนี้  ยังได้สั่งการให้กรมประมงมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและแก้ปัญหาการ เกิดกลุ่มอาการตายด่วนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อประเมินสถานการณ์ และวางแผนควบคุมได้ทันท่วงทีอีกด้วย

รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยังแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งด้วยว่า ควรมีการเตรียมบ่อที่ดี ปรับปรุงระบบป้องกันโรค (ฺBio secure) ให้มีประสิทธิภาพ คัดเลือกลูกกุ้งที่มีคุณภาพดี มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรค  ไม่ปล่อยกุ้งหนาแน่นจนเกินไป  เฝ้าระวังและสังเกตอาการกุ้งที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด  รวมทั้งหยุดเลี้ยงและฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนเข้มข้น  ทั้งนี้  ไม่แนะนำให้เกษตรกรใช้ยาในการรักษา แต่ควรหยุดพักการเลี้ยงทั้งฟาร์มประมาณ 2 – 3 เดือน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view