สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ส่อถูกถอดจากมรดกโลก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       “มรดก โลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่” อ่วมอีก ศูนย์มรดกโลกบี้ให้ไทยแจงสถานการณ์ลอบตัดไม้พะยูง-สัตว์ป่า ชี้วัดจระเข้-วัวแดง-เสือลดจำนวน เร่งส่งรายงานก่อนประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 37 ที่กัมพูชา ก่อนพิจารณาขึ้นแบล็กลิสต์บัญชีมรดกโลกภาวะอันตราย

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

       วันนี้ (29 เม.ย.) จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 36 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือน ก.ค.55 มีมติ 5 ข้อให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้แก่ 1.ห้ามขยายถนนหลวงสาย 304 และทำแนวเชื่อมต่อป่า 2.ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมง จนกว่าจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ 3.การบุกรุกพื้นที่ 4.การเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ และ 5.ต้องมีแผนจัดการพื้นที่มรดกโลกที่เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยได้ส่งรายงานผลการดำเนินการในประเด็นเหล่านี้ให้ศูนย์มรดกโลก ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 16-27 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้หากประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามมติ 5 ข้อนี้ได้ มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อาจถูกจัดอันดับเข้าสู่บัญชีมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย และอาจถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลกนั้น
       
       ล่าสุด นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ทางศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีหนังสือลงวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ประสานแจ้งว่าได้รับรายงานจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (ไอยูซีเอ็น) เกี่ยวกับสถานการณ์การลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้กฤษณา ภายในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ทั้งนี้ศูนย์มรดกโลกได้ขอให้ประเทศไทยจัดทำข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมจากมติ 5 ข้อ เมื่อครั้งประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 36 เกี่ยวกับสถานการณ์การลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้กฤษณา ใน 3 ประเด็น คือ 1.ข้อมูล เกี่ยวกับกองกำลังติดอาวุธที่ได้เข้ามาลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ และวิธีการดำเนินการ 2.มาตรการป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูงของกลุ่มดังกล่าว 3.ข้อมูลการตรวจสอบและจำนวนของกลางที่จับได้ ทั้งนี้คาดว่าสำหรับประเด็นการลักลอบตัดไม้พะยูงที่ทำให้ศูนย์มรดกโลกสนใจ น่าจะมาจากกรณีกองกำลังชาวต่างชาติลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูงในพื้นที่อุทยานฯ ปางสีดา จนเกิดการปะทะ และทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย เมื่อเดือนช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
       
       เลขาธิการ สผ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทางศูนย์มรดกโลกยังได้มีหนังสือประสานแจ้งมาว่าได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากไอ ยูซีเอ็นที่เกี่ยวข้องกับการรายงานสถานภาพพื้นทีกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรกคือสถานการณ์การลดลงของประชากรสัตว์ที่เป็นตัวบ่งชี้ เช่น จระเข้น้ำจืด วัวแดง และเสือ ประเด็นที่สอง เรื่องการควบคุมและกำกับดูแลผู้ลักลอบจับสัตว์ป่าในพื้นที่เขื่อนห้วยโสมง และขอให้ประเทศไทยเตรียมข้อมูลในประเด็นดังกล่าวสำหรับรายงานสถานภาพการ อนุรักษ์ พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 37 ต่อไป ทั้งนี้ทาง สผ.ได้ประสานไปยังกรมอุทยานฯ ที่เป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงแล้ว ให้จัดทำเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อประกอบวาระการประชุม พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่เพื่อประสานการชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการ มรดกโลก ครั้งที่ 37 ด้วย ทั้งนี้ขอให้กรมอุทยานฯ รวบรวมข้อมูลข้อมูลและจัดส่งมายัง สผ.ภายในวันที่ 15 พ.ค.เพื่อจะได้มีหนังสือแจ้งศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ต่อไป
       
       ด้าน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางศูนย์มรดกโลกทำหนังสือมาถึง สผ. เพื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่มรดกโลกตามการ รายงานของไอยูซีเอ็น ซึ่งทางไอยูซีเอ็นคงติดตามข่าวคราวของกรมอุทยานฯอยู่ตลอด จึงมีความห่วงใยในเรื่องเหล่านี้ เพราะขณะนี้สถานการณ์ลักลอบตัดไม้พะยูงมีความรุนแรงโดยขยับพื้นที่มาทางภาค ตะวันออกที่เป็นพื้นที่มรดกโลก อย่างไรก็ตามกรมอุทยานฯ ยืนยันว่าได้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยนายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานฯ ก็ได้มีมาตรการในการเสริมกำลังเข้าไปดูแลพื้นที่อย่างเข้มข้นแล้ว โดยเตรียมเปิดยุทธการในพื้นที่ที่สำคัญในเร็วๆ นี้ด้วย ส่วนกรณีสัตว์ป่าที่เป็นตัวชี้วัดทั้งจระเข้น้ำจืด วัวแดง และเสือก็เช่นกัน ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูล ก่อนจะจัดทำรายงานส่งไปยัง สผ.เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์มรดกโลกต่อไป
       
       ส่วนในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 37 ที่กรุงพนมเพญ จะมีการพิจารณาจัดสถานะมรดกของประเทศไทยเข้ามรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย หรือไม่นั้น นายธีรภัทร กล่าวว่า ขณะนี้มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ของไทยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว เมื่อทางศูนย์มรดกโลกถามมาเราก็จะชี้แจงข้อเท็จจริงที่ได้ดำเนินการไป จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ก็คงมีข้อเสนอแนะนำกลับมาว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view