สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฮิตก่อนมานาน! ทำความรู้จักอาชีพจักรยานดั้งเดิม แม่ค้าปั่นขายหวย สู่จักรยานปั่นส่งพัสดุด่วน

จากประชาชาติธุรกิจ

"ไม่อยากจะบอกว่ามาก่อนเทรนด์ มาก่อนหนัง ขี่จริงขี่จังมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว" มนตรี ฉันทะยิ่งยง วัย 36 ปี เจ้าของบริษัท Bikexenger รับจ้างส่งของด้วยจักรยาน เปิดฉากการสนทนา

แน่นอนว่าถ้าใครติดตามข่าวสารแวดวงกลุ่มคนขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ต้องได้ยินกิตติศัพท์ของ Bikexenger กันมาบ้าง พวกเขาเป็นนักปั่นกลุ่มแรกๆ ที่คิดเรื่องการปั่นจักรยานส่งของอย่างจริงจัง ถึงขั้นเปิดบริษัทเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อกลางปี 2555 ที่ผ่านมา



ก่อนจะเป็นบริษัทอย่างทุกวันนี้ มนตรี เล่าว่า เป็นกลุ่มคนปั่นจักรยานที่รวมตัวกันหลังเลิกงาน ขี่จักรยานเพื่อเที่ยวเล่น ออกกำลังกาย สนองความต้องการของตัวเอง จากนั้นก็เริ่มมีแนวคิดเพื่อสังคม เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยจะปั่นจักรยานไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปั่นไปซ่อมแซม ขนของไปบริจาค ระยะหลังใช้แนวคิดเดิมแต่ปรับเปลี่ยนคือ ปั่นยังไงให้มีประโยชน์ต่อสังคม แต่ก่อให้เกิดรายได้ด้วย และ งานที่ทำต้องมีประสิทธิภาพ

"จริงๆ ไม่อยากจะอ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เบื่อ" มนตรี บอกขำๆ แล้วเล่าต่อว่าความคิดแมสเซนเจอร์จักรยานก็เข้ามาในหัว

"เราจะเห็นว่าเมืองนอกมีเยอะใช่ไหม ในไทยก็มีบ้างเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ไม่ได้เป็นรูปบริษัทอะไร ก็เลยคิดว่าน่าจะลองทำ ซึ่งเรื่องนี้คนในกลุ่มก็เอาด้วย ระยะแรกเรื่องรายได้ไม่ใช่ประเด็นหลัก ทุกคนมีงานประจำทำ มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว ตอนนั้นใช้เวลาหลังเลิกงาน กับ ตอนกลางคืน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ"



กระทั่ง เดือนกรกฎาคม ปี 2555 บริษัท ก็เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ

"ตอนแรกทำสนุกๆ ทีนี้ผมต้องการให้สิ่งที่ทำมันเข้มแข็ง และ เติบโต เลยตัดสินใจเปิดเป็นบริษัท เพื่อที่จะอยู่กับมันได้"

ถึงวันนี้ Bikexenger มีพนักงาน Full time แล้ว 3 คน ส่วน Past time เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า คุณสมบัตินักปั่นที่จะรับเข้ามาต้องมีคุณธรรมประจำใจ เพราะงานต้องรับผิดชอบของเวลา ความไว้ใจ ต้องไม่ทำให้ลูกค้าผิดหวัง



-ลูกค้าคือใคร?


ระยะหลัง เรารับพวกกลุ่มครีเอทีฟ งานออแกนไนซ์ โฆษณา พวกที่รีบเร่ง งานร้อนๆ ที่เสร็จแล้วต้องส่งเลย อะไรแบบนี้ ถามว่าเราสู้กับมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้เหรอ คือ เราไม่ได้สู้กับเครื่องยนต์ครับ เราเน้นความคล่องตัว เช่น เวลาขี่ตามถนน เราจะไม่ไปตามเส้นทางปกตินะ คือถ้าตัดได้เราตัดเลย หรือลงจูงข้ามปุ๊บเลย เราจะทำสิ่งที่มอเตอร์ไซค์ทำไม่ได้ หรือทำไม่สะดวก เราจะไม่อ้อม แต่จะไขว้ทันที คือจะใช้ระยะทางที่สั้นที่สุด ตรงที่สุด และ ไวที่สุด

-อันตราย?

ก็มีบ้างแต่น้อย เพราะจักรยานไม่มีความเร็วสูง เฉี่ยวนิดหน่อย เขาเบียดมาก็มีการเฉี่ยวบ้าง

-เสียงตอบรับเป็นยังไง?

ก็ ไม่รู้ว่าข้างนอกตอบรับยังไงแต่ถ้าดูจากปริมาณงานมันเพิ่มขึ้นอย่างตอนนี้ เฉลี่ยมีงานทุกวันบางวันงานน้อยแต่บางวันงานโอเวอร์โหลดที่เคยมากที่สุดมี ส่ง80ชิ้นต่อวันส่วนน้อยสุด 3 ชิ้นครับ โดยเฉลี่ยประมาณ 120 ชิ้น ต่อ อาทิตย์





-ความปลอดภัยของงานที่ใช้บริการ

ถ้า เป็นวัสดุที่จะแตกได้ปกติเราต้องรัดให้แน่นหรือไม่ก็เอาไว้ในกระเป๋าเราเลย คือถ้ามันจะแตกก็ต้องล้มเท่านั้นแต่ส่วนมากจะสอบถามว่างานคืออะไรถ้าแตกก็จะ ระวังเท่าที่ส่งมาเคยมีส่งไวน์ขวดละ5พัน11ขวด ด้วยนะ ก็ยังงงว่าทำไมเขาจ้างเรา คงมั่นใจว่าเราส่งถึงมือแน่นอน เคยมีส่งของไกลสุดจากบางแคถึงบางบ่อ เป็นของมีค่าไม่ขอบอกนะครับว่าอะไร คือเขาต้องไว้ใจเรามาก

-คิดค่าจ้างยังไง


ค่าจ้างผมคิดตามโซน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สาธร โดยจะคิดราคาเริ่มต้นในพื้นที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร เริ่มต้น 50 บาท แต่ถ้าสั่งวันนี้รับของวันนี้คิด 90 บาท ถ้าไกลออกไปก็ขยายวงรอบไปเรื่อยๆ ขยับไปทีละ 2.5 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 15 โซนทั่วกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้เราจะเก็บที่ธุรกิจในกรุงเทพฯชั้นในเป็นหลัก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนะ ผมคงยังเข้าไม่ถึงเค้ามั๊ง(หัวเราะเบาๆ)

-รายได้ทุกวันนี้ ถือว่าพอใจ?

รายได้ไม่ได้เยอะ ถือว่าเป็นค่าแรงขั้นต่ำ งานที่ได้มาร์จินต่ำ เราก็จ้างราคาแพงไม่ได้  ก็ถามทีมว่าจะอยู่ได้กับรายได้เท่านี้ไหม เขาก็โอเค พร้อมจะทำให้มันโต คือเป็นการเริ่มต้น ทำงานแบบเป็นเพื่อนกัน ทีมเดียวกัน ผมก็ช่วยปั่นด้วย ให้งานโหลดน้อยลง ตอนนี้ก็ทำเต็มเวลาเป็นออฟฟิศไทม์ จันทร์-ศุกร์ 8 โมง ถึง 5 โมงเย็น ก็ถือว่ามีงานเรื่อยๆ ค่อยๆ เติบโต

-เทรนด์คนขี่จักรยานมากขึ้น ทำให้ธุรกิจดีขึ้น?

มีเพิ่มขึ้นจริง แต่ยังไม่เยอะ ถ้าเยอะจริงผมคงบูมไปแล้ว

ผละจากนักปั่นน่องเหล็กผู้แข่งขันกับเวลา มาเจอนักปั่นอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่ไม่เคยเรียกร้องไบค์เลน ไม่เคยรณรงค์ให้ใครๆ มาร่วมขี่ และ แทบจะไม่เคยนึกถึงเรื่องรักโลกสิ่งแวดล้อมอะไรใดๆ ที่เป็นเทรนด์ในเมืองกรุงยามนี้ พวกเขาและเธอจำเป็นต้องขี่ เพราะต้องใช้ประกอบอาชีพ นั่นคือ พ่อค้าแม่ค้าขายล็อตเตอร์รี่



"สมใจ ดีเอิบ"
วัย 33 ปี ชาวโคราช จอดสองล้อคู่ใจขายล็อตเตอร์รี่อยู่ที่ด้านหน้า ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ย่านประชาชื่น เล่าว่า ขี่จักรยานมา 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ขายลอตเตอร์รี่ มีข้อดีตรงไปไหนมาไหนเร็ว

 
"ขี่จักรยานมันประหยัดเวลา ทุ่นแรง ไม่เหนื่อย ไม่ปวดขาเยอะ ไม่ปวดหัวเข่า ตอนแรกก็เดินขายอยู่ 6-7 เดือน แล้วก็ซื้อจักรยาน เดินไม่ไหว ขี่จักรยานก็อาศัยระวังเอา จะอยู่รอบๆ นี่แหละ(ประชาชื่น) "เล่าเสียงใส

สมใจ เล่าว่า จักรยานหายเป็นอีกปัญหากวนใจของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าล็อตเตอร์รี่

"เคย หายแล้วนะคันนี้แจ้งความแล้วด้วยแต่เขาก็เอามาคืน(หัวเราะ)แจ้งที่สน. ประชาชื่นนี่แหละแต่บางทีก็โดนขโมยไปต้องไปไถ่เอาที่ร้านขายของเก่าเพราะว่า มันเอาไปขายแล้วก็ตามไปเจอเสียค่าไถ่ไป500-600บาท"



เมื่อต้องขี่จักรยานเป็นอาชีพ การเลือกจักรยานก็ต้องพิถีพิถันกันหน่อย งานนี้สิ่งที่ต้องดูให้ดีคือ เบรค และ มือสอง

"ถ้าเบรคไม่ดีมันก็ไม่ไหว ส่วนที่ต้องซื้อมือสองก็เพราะถ้าเป็นมือหนึ่งหายแน่นอน ขนาดมือสองยังหายเลย เวลาเลือกต้องเอาแบบที่สภาพเก่าๆ ที่ไม่มีคนอยากจะเอาอย่างนั้นล่ะ ดีที่สุด" แม่ค้าเผยเทคนิค  แต่เห็นทรุดโทรมแบบนี้เธอติดไฟท้ายเรียบร้อยเผื่อเวลากลับบ้านค่ำ





วันทั้งวัน สมใจ เล่าว่า ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่อยู่แถวตลาดประชานิเวศน์ 1 ช่วงสายปั่นออกไปแถวดับเพลิง ส่วนช่วงเย็นไปคลองเปรมฯ แล้วกลับมาที่ท็อปส์ แต่ละวันยังไม่เคยมีปัญหาอุบัตเหตุ

"ถ้าจะมีปัญหาก็คือเราผิดเอง เพราะชอบปั่นย้อนศร ถ้าขี่ตามทางกลัวมองไม่เห็นรถหลัง ยิ่งลุงเพิ่งถูกรถชนตายขณะขี่จักรยาน เราก็เลยไม่กล้า ต้องขี่ย้อนศร เรามองเห็นเขาดีกว่า ก็บีบแตรด่าบ้าง แต่จะให้ทำยังไง ก็เรากลัวตายอ่ะ(หัวเราะ)"

หรือ

"บางทีเราก็ยกขึ้นไหล่ทาง บางทีก็ลำบาก เขาไม่ค่อยให้ทาง บางทีเราไปได้ครึ่งทางเขาก็ไม่ยอม ก็ต้องยืนแหง็กอยู่กลางถนน กลัวก็กลัว(หัวเราะ) แต่ถ้าจะข้ามถนนใหญ่จริงๆ ก็หาสะพานลอย แล้วแบกข้าม"

ชีวิตปั่นขายล็อตเตอร์รี่นี้จะเป็นวัฏจักรเดือนละ 2 อาทิตย์ โดย 1 อาทิตย์หลังหวยออกพวกเขาและเธอจะกลับบ้านนอกไปทำไร่ทำนา

"อยู่ กรุงเทพฯมันใช้เงินเยอะกว่าค่ารถกลับบ้านอีก ถ้ากลับบ้านไปเรายังได้งานยัง ได้ตังค์ขึ้นมาหน่อยช่วงไม่อยู่ก็จะจอดจักรยานไว้ที่ห้อง"

เมื่อจักรยานกลายเป็นเทรนด์แน่นอนว่าจำนวนนักปั่นบนท้องถนนก็มากขึ้นตามเรื่องนี้สมใจให้ความเห็นว่า

"ดีนะมีเพื่อน ลดภาวะโลกร้อนด้วย(ยิ้ม) เรามีเพื่อนยิ่งดี ขี่ตามเขาเลย เรื่องสุขภาพก็แข็งแรงดีนะ แต่ก็เหนื่อย(หัวเราะ) ก็ทำงานน่ะ เราใช้มันทำงานปั่นทั้งวัน จุดประสงค์หลักไม่ได้ใช้เพื่อออกกำลังกาย"




ถัดมาอีกกลุ่มที่จอดจักรยานเรียงรายอยู่แถวตลาดประชานิเวศน์1"มนัส ศรีบุญเรือง" หนุ่มจากเลยวัย 21 ปี ที่เพิ่งกลับจากบวชเพียง 1 เดือน เล่าว่า ที่ซื้อจักรยานเพราะเดินไม่ไหว เคยขี่ไปไกลถึงพระราม 5



"ก็จากตลาดประชานิเวศน์ ไปเรื่อยๆ ตามทางลัดหมู่บ้าน ไปถึงกระทรวงสาธารณสุข แล้วก็ไปพักที่วัดพุทธ แล้วก็ออกไปซอยศิริชัย ออกพระราม 5 ไปไกลเลย ไม่รู้หรอกกี่กิโล เส้นทางไม่รู้ แต่ก็ไปตามพรรคพวก เขาไปเราก็ไป ไม่มีจุดหมาย ไปเรื่อยๆ ใครเรียกก็จอด คันนี้ไม่ได้ติดไฟ แต่จะกลับก่อนค่ำ"





มนัส บอกว่า แม้จะหวาดเสียวบ้างเวลาขี่ตามถนนในกรุงเทพฯ แต่เขากลับบอกว่าขี่ไม่ยากมาก แม้แต่เรื่องหมาก็ไม่เคยโดนไล่

"ก็ไปถนนใหญ่บ้าง ส่วนมากจะขี่ชิดริม กับขึ้นฟุตบาธ ก็กลัวบ้าง ก็ระวังเอา ดูดีๆ จะข้ามถนนระมัดระวัง"

ส่วนปัญหาคลาสสิคจักรยานหายนั้น มนัส บอกว่า จักรยานของพ่อหายไป 5 คันแล้ว

เป็นปัญหาทุกระดับ หายไม่เลือกชั้นวรรณะจริงๆ
!!


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view