สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตั้งเขตพิเศษซื้อข้าวกัมพูชา

จาก โพสต์ทูเดย์

พาณิชย์ดันตั้งเขตพิเศษค้าข้าว เล็ง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ฉะเชิงเทรา นำเข้าข้าวกัมพูชาไปส่งออก

นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้คัดเลือกสถานที่จัดตั้งเป็นเขตการค้าข้าวพิเศษ (ไรซ์เทรดโซน) แล้วใน 4 จังหวัด คือ จันทบุรี ตราด สระแก้ว และฉะเชิงเทรา แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกจังหวัดใด หรือเลือกทั้ง 4 จังหวัด
นอก จากนี้ กำลังศึกษาว่าจะนำเข้าข้าวชนิดใดจากกัมพูชามาแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วส่งออก ต่อไปยังประเทศที่สามระหว่างข้าวเปลือกและข้าวกล้อง

“หากไทยส่งไปขายที่สหภาพยุโรปหรืออียู ก็อาจได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่อียูให้กับกัมพูชา เพราะข้าวมีแหล่งกำเนิดจากกัมพูชา ทำให้ไทยแข่งขันดีขึ้นและได้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากการสีข้าว เช่น รำข้าว ปลายข้าวที่สามารถนำไปขายได้” นายทิฆัมพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงคือ การทำความเข้าใจกับชาวนาให้รู้ถึงประโยชน์ในการนำเข้าข้าวของเพื่อนบ้านมาทำ ตลาด นอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว ยังทำให้ชาวนาไทยไม่ต้องเสียสิทธิจากการถูกข้าวลักลอบนำเข้ามาสวมสิทธินำ เข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ จะเร่งกำหนดวิธีการป้องกันไม่ให้ข้าวที่นำเข้ามาหลุดรอดออกไปขายในตลาด และสร้างความเสียหายให้กับตลาดข้าวของไทยได้ เช่น การขนย้าย อาจมีการติดจีพีเอสเพื่อติดตามเส้นทางของรถที่ขนย้ายข้าว เป็นต้น

“ในช่วงเริ่มแรกอาจนำเข้าข้าวจากกัมพูชาน้อยๆ ก่อน เช่น 100 ตัน หรือ 1,000 ตันก่อน” นายทิฆัมพร กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 มี.ค. กระทรวงพาณิชย์จะเสนออนุมัติการลงนามในความตกลงแก้ไขบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบังกลาเทศ

สาระสำคัญเอ็มโอยูฉบับใหม่ ระบุว่า รัฐบาลบังกลาเทศตกลงที่จะซื้อข้าวนึ่งจากไทยไม่เกิน 1 ล้านตัน ระหว่างปี 2555-2559 จากเอ็มโอยูฉบับเดิมที่กำหนดระหว่างปี 2555-2556

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไทยไม่เคยขายข้าวนึ่งให้บังกลาเทศเกิน 1 แสนตัน ยกเว้นสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์

“ใครๆ ก็เซ็นเอ็มโอยูได้ การเซ็นรอบนี้เป็นการพีอาร์ว่าไทยขายข้าวได้ ทั้งๆ ที่ขายไม่ได้จริงหรอก เป็นเรื่องยาก เพราะส่วนใหญ่บังกลาเทศนำเข้าจากอินเดียที่ราคาถูกกว่าไทยมาก ราคาข้าวนึ่งอินเดียอยู่ที่ 440 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ของไทยอยู่ที่ 560 เหรียญสหรัฐ” นายชูเกียรติ กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view