สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กลุ่มชาติพันธุ์ร้องกสม.รัฐห้ามเผาป่า

กลุ่มชาติพันธุ์ร้องกสม.รัฐห้ามเผาป่า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

มติครม.แก้หมอกควันบานปลาย กลุ่มชาติพันธุ์ร้องกสม. ละเมิดสิทธิมนุษยชน ห้ามเผาไร่เลื่อนลอย ชงเสนอ "ปลอดประสพ" ทบทวนแนวปฏิบัติ

สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควันจากไฟป่าในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด คือจ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน ซึ่งส่อแวววิกฤติมากขึ้น ทั้งที่ยังอยู่ในช่วง 100 วันอันตราย ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว ยังนำมาสู่การฟ้องร้องว่ากระทบต่อสิทธิมนุษยชน ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจาก 3 หมู่บ้านในเขตจ.เชียงใหม่ และลำปาง ที่ร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย

กสม. จี้"ปลอดประสพ"แก้แนวปฏิบัติ

วันนี้(21มี.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ทางกสม. ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านที่ร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า เข้าชี้แจงกรณีที่ได้รับผลกระทบถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินวิถีชีิวิต

จากมติครม. วันที่ 21 ม.ค.56 ที่เห็น ชอบในหลักการมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำ 2556 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่เปลี่ยนจาก “ควบ คุมการเผา” เป็น “ไม่มีการเผา” ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะกระทบต่อวิถีของชาวบ้านในพื้นที่สูง เนื่องจากยังไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติอีกด้วย รวมทั้งยังขัดแย้งต่อตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงด้วย

" จากการรับฟังปัญหาชาวบ้านไม่ได้ดื้อ แต่ถูกละเมิดสิทธิในการใช้อำนาจของรัฐ ที่เกิดจากความไม่ชัดเจนจากมติครม.ไม่ให้เผา โดยหน่วยงานปฏิบัติไม่ได้แยกแยะระหว่างห้ามเผาป่า กับห้ามเผาไร่เลื่อนลอยที่ชาวบ้านทำกินอยู่ในพื้นที่ป่า และยังเป็นละเมิดภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงโดยพยายามเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปให้เขาใช้การไถกลบ ไม่ให้ทำไร่หมุนเวียน ซึ่ง หลังรับฟังในครั้งนี้ ทางกสม.จะทำข้อสรุปข้อเสนอจากเวทีเสนอไปที่ นายปลอดประสพ และผวจ.9 จังหวัดโดยเร็วที่สุด เพราะถือว่าเป็นมติครม.ที่ละเมิดสิทธิ และขอให้ทบทวนแนวทางการจัดการแก้ปัญหาไฟป่า" นพ.นิรันดร์ กล่าว

ประสานกต. เตือนเพื่อนบ้านยุติการเผา

น.ส.จงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าสูงสุดในรอบปี 2556 แล้ว โดยมีค่าเฉลี่ย 69-428 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มก./ลบม.) สูงสุดที่สถานีสนง. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.เมือง จ.เเม่ฮ่องสอน 428 มก./ลบ.ม. รองลงมาที่จ.เชียงใหม่ 200 มก./ลบม. ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอัน ตรายต่อสุขภาพแล้ว สาเหตุมาจากการเผาในเขตพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตร กรรมทั้งในประเทศไทย และตามแนวตะเข็บชายแดนไทย ลาว และพม่า

"ขณะนี้ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเตรียมทำหนังสือขอความร่วมมือในการลดการเผาพื้นที่การเกษตรที่ทำให้เกิดหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในเขตภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะที่แม่ฮ่องสอนที่มีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกะทะ ทำให้หมอกควันแช่ตัวอยู่นาน นอกจากนี้วันที่ 30-31 มี.ค.นี้ ทางคพ.ยังได้เตรียมประชุมกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน 6 ชาติได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา เพื่อหารือถึงมาตรการควบคุมป้องกันและการลดการเผาจากประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมถ้าเทียบกับช่วงเวลานี้ พบว่าจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกิน 120 มก./ลบม.มี 17 วัน ขณะที่ปี 55 จำนวนวันสูงถึง 35 วัน ซึ่งยังไม่มีมีมติครม.เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน" น.ส.จงจิตร์ กล่าว

นายมาโนช การพนักงาน ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน สำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ยืนยันว่า มติครม.ทั้ง 8 ข้อที่กำนดในช่วง 100 วันห้ามมีการเผาระหว่างวันที่ 21ม.ค. -30 เม.ย.นี้ เพื่อต้องให้หน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการทั้ง 9 จังหวัดสามารถทำงานแบบบูรณาการในแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ที่มักจะเกิดขึ้นรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง
ชงเสนอ " ปลอดประสพ" แก้มติครม.

"หลังจากพบว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ ปัญหาหมอกควันไฟป่าได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนภาคเหนือจำนวนมาก และยังกระทบท่องเที่ยวในภาคเหนือซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อของฤดูหนาว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี และครม.ได้หารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการทั้ง 8 ข้อออกมา และเน้นมาตรการป้องกัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น การกำหนดจัดระเบียบการเผา โดยให้นายอำเภอและท้องถิ่นทำความเข้าใจกับชุมชน รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการเผามาเป็นการไถกลบ และการทำหมู่บ้านมาตรฐานปลอดการเผา เป็นต้น โดยให้ผวจ.9 จังหวัดภาคเหนือบริหารงานแบบซิงเกิลคอมมานด์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการทำให้กระทบกับวิถีชีวิตของชนเผ่า โดยจะเอาสิ่งที่ชาวบ้านกังวลไปเสนอนายปลอดประสพ เพื่อปรับแนวทางดำเนินงานต่อไป เนื่องจากยังมีประเด็นต่างๆที่กำหนดไว้ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ เช่น การไถกลบ หรือการขออนุมัติการทะยอยเผา เป็นต้น" นายมาโนช ระบุ

ปิ๊งไอเดีย ชี้ซื้อใบไม้ลดเชื้อเพลิง

นางนฤมล ปาลวัฒน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันที่แม่ฮ่องสอนวิกฤติหนัก มีปริมาณฝุ่นสูงถึง 428 มก./ลบม. แล้ว และฝุ่นจะแช่ตัวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกะทะ ทำให้อากาศกดตัวฝุ่นไม่สามารถลอยตัว ดังนั้นจึงเตรียมประสานขอฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว และทำให้มีคนป่วยโรคทางเดิยหายใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์กับชนเผ่าเพื่อขอความร่วมมือในการเลื่อนการเผาพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นช่วงหลังเม.ย.นี้ ซึ่งจะมีเงินสนับสนุนจากรัฐมาช่วยชาวบ้านจริง และขณะนี้เงินยังไม่ได้รับการอนุมัติ นอกจากนี้ยังพยายามสนับสนุนการปลูกกาแฟ ต้นแมคาเดเมียทดแทนการปลูกพิชเชิงเดี่ยว เช่น ไร่ข้าวโพดที่ต้องเผาตอซัง และพืชหมุนเวียนอื่นๆ รวมทั้งยังมีแนวคิดที่รับซื้อใบไม้ที่ร่วงหล่น จากชาวบ้านเพื่อลดการสะสมตัวเป็นเชื้อเพลิงด้วย และนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และกระดาษสา แต่ตรงนี้อาจไม่ทันกับปีนี้" ผวจ. แม่ฮ่องสอน กล่าว

ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ กล่าวว่า มติครม.นี้ส่งผลกระทบต่อการทำไร่หมุนเวียนของชาวเขา และไม่เป็นธรรมอย่างมาก เพราะไม่ได้แยกแยะพื้นที่ และต้นเหตุของการเผา แต่โทษว่าชาวเขาที่ต้องเผาไร่หมุนเวียนเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ยาวนานมานับศตวรรษ จนกระทั่งปัจจุบันทางกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ระหว่างการผลักดันให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ขณะที่การห้ามเผาครั้งนี้ยังไม่ไม่ชัดเจนจากแนวปฏิบัติ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view