สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทหาร ปกครอง อุทยานฯขนน้ำเติมบ่อ​ให้ช้างป่าอุทยานฯกุยบุรี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ประจวบคีรีขันธ์ - ทหารกองกำลังสุรสีห์ ร่วมมือกับอำเภอกุยบุรี อุทยานฯกุยบุรี wwf.ประเทศไทย องค์กรเครือข่าวอนุรักษ์ช้างป่าและกระทิงป่ากุยบุรี ขนน้ำไปเติมในบ่อน้ำในผืนป่าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี ภายหลังพบบ่อน้ำสำหรับสัตว์ป่าน้ำแห้งขอด คาดหากฝนไม่ตกสิ้นเดือนเม.ย.อาจเกิดภาวะแห้งแล้งจัด และอาจส่งผลกระทบกับกับสัตว์ป่า ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมประชุม ”ไซเตสชอป 16”ลงพื้นที่ดูงานอุทยานฯกุยบุรี ยอมรับผืนป่ากำลังอุดมสมบูรณ์ภายลังเจอ "พังพอนกินปู" สัตว์หายาก
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันนี้ (11 มี.ค.56) ว่า ภายหลังจาก พ.อ.ชวลิต พงษ์พิทักษ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9 กาญจนบุรี และนายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี, นายปรีชา วิทยพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี, นายวายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผจก.โครงการอนุรักษ์ช้างป่ากุยบุรี wwf.ประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี อาทิ มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ, ชมรมรักษ์กระทิงไทยฯลฯ ได้นำรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร ของกองกำลังสุรสีห์ และอุทยานฯกุยบุรี บรรทุกน้ำไปเติมในบ่อน้ำในจุดที่แห้งขอดในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพ ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เนื่องจากบ่อน้ำที่ขุดไว้เพื่อให้ช้างป่า กระทิง วัวแดง และสัตว์ป่าชนิดอื่นมาใช้ ได้เริ่มมีปริมาณลดลงตามลำดับ เนื่องจากเกิดภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในบ่อบางจุดแห้ง
       
       ส่วนที่ยังไม่แห้งก็คาดว่า หากไม่มีฝนตลลงมาเติมในช่วงปลายเดือนเมษายนน่าจะแห้งเช่นกัน ส่วนบางบ่อนั้นก็มีสภาพน้ำเป็นสีเขียว และเริ่มมีกลิ่น นอกจากนั้นสภาพแปลงหญ้ากว่า 1,000 ไร่ที่ปลูกไว้กระจายให้เป็นพืชอาหารสำหรับสัตว์ป่าก็แห้งลงไปประมาณถึง 500 ไร่ ซึ่งการนำรถบรรทุกของทหารและอุทยานฯกุยบุรีไปนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใน พื้นที่ใกล้เคียงมาเติมจะทำได้วันละ 1 เที่ยวเท่านั้นคิดเป็นปริมาณ 12,000 ลิตร โดยจะเลือกเติมน้ำในบ่อที่แห้งจริงๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเติมน้ำจะมีไปถึงวันที่ 20 มีนาคม 2556 นอกจากนั้นแล้วยังต้องช่วยกันลอกไข่น้ำที่เป็นสีเขียว ออกจากบ่อที่พบและเติมน้ำใหม่ลงไปผสมในเบื้องต้น
       
       นายสมพงษ์ เอมโอด หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ (ป่ายาง) อุทยานฯกุยบุรี กล่าวว่า จาก การติดตามพบว่าในช่วงเย็นตั้งแต่ประมาณ 15.00 น.-18.00 น.ยังพบเห็นโขลงช้างป่า พร้อมกับลูกช้างส่วนหนึ่งได้พากันออกมากินอาหารบริเวณชายป่าและลงเล่นน้ำและ กินน้ำในบ่อ 4 บริเวณหน้าหน่วยป่ายาง ซึ่งยังมีปริมาณน้ำลงเหลืออยู่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
       
       อีกทั้งช่วงนี้ถึงจะมีปัญหาช้างป่าที่อุทยานฯแก่งกระจาน ถูกยิงเสียชีวิตในพื้นที่บ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก็ตาม แต่ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยต่างยังคงพากันเดินทางมาดู โขลงช้างป่า และสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯกุยบุรีในช่วงเย็นๆของทุกวัน
       
       นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่ช้างป่าถูกยิงเสียชีวิตที่เกิดขึ้น แต่ก็รู้สึกดีใจที่เมื่อเข้ามาท่องเที่ยวในผืนป่ากุยบุรี ยังสามารถพบเห็นช้างป่าในธรรมชาติ รวมทั้งกระทิง ฯลฯ ถึงแม้ว่าช่วงนี้สภาพจะแห้งแล้งลงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรค และอยากฝากไปถึงทุกคนให้ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่า
       
       เช่นกัน ฃนายวายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผจก.โครงการอนุรักษ์ช้างป่ากุยบุรี wwf.ประเทศไทย กล่าวว่า ทาง wwf. ประเทศไทย และเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ ยังคงให้ความสำคัญการออกลาดตระเวนร่วมในพื้นที่อุทยานฯแห่งชาติป่ากุยบุรี อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันในการลักลอบการล่าสัตว์ป่า และการบุกรุกทำลายผืนป่า เราไม่ใช้เพิ่งทำแต่ทำมาหลายปีแล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ wwf ในภาพพื้นยุโรปซึ่งเดินทางเข้าร่วมประชุม”ไซเตสชอป 16” หรือการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่กรุงเทพ ฯยังได้เดินทางมาศึกษาดูงานด้านการจัดการผืนป่ากุยบุรี และมีการสรุปด้วยว่าการพบเห็นช้างป่ากว่า 30 ตัว และกระทิง ตลอดจน “พงพอนกินปู” สัตว์หายากในผืนป่าแห่งนี้บ่งบอกได้ว่าสภาพผืนป่าอุทยานฯกุยบุรี กำลังพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ พร้อมยังได้เสนอแนะในเรื่องการที่ต้องนำเอาไข่น้ำสีเขียวออกจากบ่อน้ำ และเติมน้ำใหม่เข้าไป เพื่อให้เกิดออกซิเจนและจะไม่ทำให้น้ำในบ่อเกิดการเน่าเสีย รวมไปถึงการร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนในผืนป่ากุยบุรีอีกด้วย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view