สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวบ้านสูบน้ำจับปลาในแอ่งน้ำ

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวบ้านสูบน้ำจับปลาในแอ่งน้ำ

โคราชเจอภัยแล้งคูคลองแห้งทำปลามารวมอยู่ในแอ่งน้ำริมทาง ชาวบ้านพากันสูบน้ำจับหารายได้

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ชาวบ้านในพื้นที่ ต.โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา พากันนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่เหลืออยู่เป็นแอ่งขนาดเล็กๆ ตามไหล่ทาง เพื่อสูบน้ำจับปลากันอย่างคึกคัก ภายหลังจากที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก จนต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้วถึง 29 อำเภอ จาก 32 อำเภอ ส่งผลให้ไม่มีน้ำจากลำตะคอง และลำเชียงไกร ไหลมาถึงบริเวณดังกล่าว คู คลอง ธรรมชาติ จึงมีสภาพน้ำแห้งขอด และบางแห่งก็มีน้ำขังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ปลาไหลมารวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก

นายบุญเลิศ โชติโคกสูง ชาวบ้านลำเชียงไกร หมู่ 9 ต.โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เนื่องจากบริเวณ ต.โคกสูง อยู่ใต้ตัวเมืองนครราชสีมา เชื่อมต่อกับ อ.โนนไทย ซึ่งมีเพียงลำเชียงไกรไหลผ่านเท่านั้น แต่ระยะ 4 – 5 เดือนนี้ ลำน้ำมูล และลำตะคอง ปล่อยน้ำมาไม่ถึงลำเชียงไกร จึงส่งผลให้คลองธรรมชาติแห้งขอด ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรใดๆ ได้ จึงต้องหันมาหาอาชีพเสริมอื่นๆ แทน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำ ตระเวนออกสูบน้ำหาปลาตามคู คลอง ที่มีน้ำขังอยู่ตามไหล่ทาง

ด้าน มล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดนครราชสีมา เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อาทิ อ.โนนสูง อ.โนนไทย อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.ขามสะแกแสง และ อ.คง ดังนั้นนายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงได้ประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ทดลองทำฝนหลวงบริเวณเขาใหญ่ อ.ปากช่อง เหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว แต่เจ้าหน้าที่ฝนหลวงก็แจ้งมาว่าสภาพความชื้นไม่ค่อยอำนวย จึงได้ผลน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางชลประทานที่ 8 ก็ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 เขื่อนจากเดิมวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเพิ่มเป็นวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งน้ำไปให้ถึงลำเชียงไกร และลำน้ำมูล แต่ทั้งนี้ก็ต้องประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ริมน้ำ ให้ช่วยติดตามน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการปิดกั้นหรือสร้างสิ่งกีดขวางเพื่อใช้ในการเกษตร เพราะน้ำเหล่านี้เป็นน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเท่านั้น

ส่วนการช่วยเหลือในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในช่วงนี้สำนักชลประทานที่ 8 ก็ได้ส่งเครื่องสูบน้ำไปให้ท้องถิ่นแล้ว 37 เครื่อง จากทั้งหมด 57 เครื่อง ส่วนที่เหลือ 20 เครื่อง มีเครื่องชำรุด 9 เครื่อง ดังนั้นจึงใช้ได้อีกแค่ 11 เครื่อง ซึ่งก็พร้อมที่ส่งให้ท้องถิ่นที่ร้องขอมาได้ทันที


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view