สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เฝ้าระวังหมอกควัน 5 จว.เหนือตอนบน ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน แล้ง! ข้าวแสนไร่ตาย

จากประชาชาติธุรกิจ

′คพ.′เฝ้าระวังปัญหาหมอกควัน 5 จว.เหนือตอนบน′ลำปาง-แพร่-ลำพูน-เชียงใหม่-เชียงราย′ หลังเริ่มพบปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในบางวันแล้ว ขณะที่′พิจิตร-สุโขทัย-นครสวรรค์-โคราช′แล้งหนัก

เมื่อวัน ที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายสุรพล ปัตตานี รองปลัด ทส. พร้อมด้วยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ น.ส.อาระยา นันทโพธิเดช รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกันแถลงถึงสถานการณ์มลพิษหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2556

นายบุญชอบกล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้งของทุกปีพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจะประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน อย่างรุนแรง กรมป่าไม้จึงได้จัดโครงการรณรงค์ไม่เผาป่ารักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดเป็นอย่างดี

น.ส.อาระ ยากล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานปี 2555-2556 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-18 กุมภาพันธ์ 2556 พบว่าในปี 2555 มีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 9 วัน ในพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา และแม่ฮ่องสอน ขณะที่ปี 2556 นี้พบปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเพียง 2 วัน ในพื้นที่ จ.ลำปาง และแพร่ อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในปีนี้ได้แก่ จ.ลำปาง แพร่ ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย

นายมโนพัศกล่าวว่า กรมอุทยานฯจะจัดวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ที่ จ.เลย โดยจะรณรงค์งดการจุดไฟเผาป่าและในพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้ตระหนักถึงอันตราย และผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.แพร่ ว่าปัญหาหมอกควันในพื้นที่ จ.แพร่ เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เนื่องจากไม่มีมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งแจ้ง ทำให้ไฟลุกลามเข้าป่าและเกิดเป็นไฟป่าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณป่าอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง ป่าสงวนแห่งชาติ ในบริเวณ ต.ต้าผามอก อ.ลอง ซึ่งไฟได้ลุกลามจนยากที่จะเข้าควบคุม นอกจากนี้ ยังพบมีการเผาป่าเพิ่มขึ้นใน อ.วังชิ้น และ อ.ร้องกวาง จนทำให้ตรวจพบปริมาณฝุ่นละอองในหมอกควันบริเวณ จ.แพร่ เกินค่ามาตรฐานแล้วในบางวัน

ทั้งนี้ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สั่งการให้ทุกหมู่บ้านทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมการเผาวัชพืชลดลง

ด้านนายนรินทร์ วรรณมหินทร์ นายอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า จากค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กในหมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่ อ.แม่เมาะ พุ่งสูงขึ้นจนเกินค่ามาตรฐาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกรมควบคุมมลพิษ รายงานว่า มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในพื้นที่ จ.ลำปาง และยังเป็นค่าสูงสุดในภาคเหนือตอนบน วัดได้ 139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าในพื้นที่ อ.แม่เมาะ มีการคุมเข้มการเผาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเผาเกิดขึ้นคาดว่าน่าจะเป็นหมอกควันไฟที่ถูกลมพัดมาจากพื้นที่อื่น

นาย ทิวา พันธ์ไม้สี หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่ จ.ลำปาง ล่าสุดในวันเดียวกันนี้ถือว่าลดลง เนื่องจากเกิดฝนตกลงมาทำให้หมอกควันไฟเจือจางลง โดยค่าสูงสุดที่วัดได้ที่ อ.แม่เมาะ 103 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนค่าสูงสุดในภาคเหนือวันเดียวกันนี้อยู่ที่ อ.เมือง จ.แพร่ วัดได้ 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ที่ จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าทางจังหวัดจะออกประกาศห้ามเผาทุกชนิดในช่วง 100 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 21 มกราคม-30 เมษายนนี้ แต่ยังพบมีการลักลอบเผาขยะอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วันเดียวกันนี้พบมีการเผาขยะกองใหญ่บริเวณริมถนนเวียงบูรพา ในเขตเทศบาลนครเชียงราย จนเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างแรงและเกิดกลุ่มควันจำนวนมาก ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต้องแจ้งรถดับเพลิงมาฉีดน้ำดับเพลิง ซึ่งคาดว่าในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ จะทำให้ค่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปกคลุม จ.เชียงราย เพิ่มสูงขึ้นอีก

ส่วนปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือยังทวีความรุนแรงในหลายจังหวัด อาทิ จ.พิจิตร นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งใน จ.พิจิตร ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะนี้ได้ประกาศให้ 8 อำเภอ 191 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้วเนื่องจากประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำทำ การเกษตร ล่าสุดพบว่านาข้าวตายยืนต้นเสียหายรวมกว่า 1 แสนไร่ และยังมีแนวโน้มแผ่ขยายวงกว้างมากขึ้นอีกหลายอำเภอ ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจ

ที่ จ.นครสวรรค์ นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง บรรพตพิสัย ไพศาลี ท่าตะโก ตากฟ้า ชุมแสง แม่วงก์ หนองบัว และ อ.พยุหะคีรี มีพื้นที่นาปรังเสียหาย 40,775 ไร่

นายคำใส อายุ 50 ปี มีอาชีพจับงูขายใน อ.ท่าตะโก เผยว่า ภัยแล้งไม่ใช่กระทบเฉพาะพื้นที่การเกษตรเท่านั้น ยังทำให้อาชีพจับงูขายได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากปกติจะออกจับงูเห่าและงูสิงห์ที่อยู่ตามต้นไม้และท้องไร่ท้องนาขาย สร้างรายได้เดือนละ 7,000-10,000 บาท แต่ช่วงนี้สถานการณ์ภัยแล้งทำให้งูเห่า งูสิงห์ หนีออกนอกพื้นที่ไม่พบตามท้องนาหรือต้นไม้ เพราะจะหนีไปอาศัยอยู่ในรูแทนทำให้การหางูเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้วิธีขุดหาตามรูแหล่งอาศัยแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สถานการณ์ภัยแล้งยังลุกลามหนักในหลายพื้นที่ของ จ.สุโขทัย โดยเฉพาะที่ ต.สารจิตร และ ต.บ้านแก่ง อ.ศรีสัชนาลัย พบมีพื้นที่การเกษตรรวมกว่า 20,000 ไร่ ได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะไม่มีน้ำทำนาปรังและยังขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ผลิต น้ำประปาหมู่บ้านมานานกว่า 2 เดือนแล้ว

นางทองดี มนเฑียร อายุ 60 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ศรีสัชนาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบเห็นว่าน้ำในคลองแม่ท่าแพ จะแห้งขอดจนไม่เหลือใช้ทำน้ำประปาหมู่บ้าน และนาข้าวกว่า 20,000 ไร่ ขาดน้ำทำนาแบบนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่เจอภัยแล้งหนักที่สุด ถึงขนาดต้องหยุดทำนาปรังกันในปีนี้ ส่วนคลองยายโท บริเวณหมู่ 1 หมู่ 9 ต.สารจิตร ทุกปีเคยมีน้ำให้ทำนาได้ แต่ปีนี้กลับแห้งขอดไม่มีน้ำสักหยด ผู้สูงอายุต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าวิกฤตภัยแล้งปีนี้นับว่ามีความรุนแรง ที่สุดในรอบ 60-80 ปีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัยได้ประกาศให้ทั้ง 9 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว ล่าสุดพบมีราษฎรเดือดร้อน 78 ตำบล 605 หมู่บ้าน จำนวน 175,638 คน รวมทั้งพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 800,000 ไร่

ทางด้าน จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ จ.นครราชสีมา ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง จนล่าสุดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 29 อำเภอ โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งได้งดปล่อยน้ำเพื่อให้เกษตรกรทำนาปรัง ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากต้องดิ้นรนหารายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว เช่น นางสมจิตร โหม่งสูงเนิน อายุ 44 ปี ชาวบ้านขาม หมู่ 1 ต.ขามสะแกแสง อ.ขามสะแกแสง ใช้เวลาว่างจากการไม่ได้ทำนาปรัง พาน้องชายขี่รถจักรยานยนต์ออกหาไข่มดแดงตามข้างทางเพื่อนำไปขายในตลาดสดใน ชุมชน สามารถสร้างรายได้เสริมเป็นอย่างดี

นางสมจิตรกล่าวว่า ปกติช่วงนี้ครอบครัวของจะทำนาปรังทุกปี แต่ปีนี้ไม่มีน้ำจึงว่างงานและไม่ได้ไปหางานทำในตัวเมือง เพราะต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุกว่า 70 ปีแล้ว จึงต้องหาทำอาชีพเสริมในหมู่บ้านแทน โดยพาน้องชายตระเวนขี่รถจักรยานยนต์หารังมดแดงที่อยู่บนต้นสะเดา แต่ละวันจะใช้เวลาหาไข่มดแดง 2-3 ชั่วโมง ได้ไข่มดแดง 2-3 กิโลกรัม นำไปขายตามตลาดสดได้กิโลกรัมละ 300 บาท ทุกวันนี้สามารถหารายได้เสริมจากการหาไข่มดแดงได้วันละประมาณ 700 บาท

 

 

 

 

 

ที่มา : นสพ.มติชน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view