สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวนากรุงเก่าเปิดศึกกรมชลฯ รุมต้านผันน้ำเข้า นิคมโรจนะ ฉุนเบรกนาปรัง-แต่ช่วยเอกชน

จากประชาชาติธุรกิจ

นายวิมล ประไพพิศ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.บ้านหีบ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีแผนเตรียมผันน้ำจากคลองระพีพัฒน์ เส้นเลือดใหญ่ทุ่งฝั่งตะวันออกของภาคกลาง ที่ดึงน้ำจากแม่น้ำป่าสักผ่านประตูน้ำคลองห้วยบ่า ที่เชื่อมคลองระพีพัฒน์ เขตหมู่ที่ 7 ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยวางท่อขนาดใหญ่สองฝั่งถนน เพื่อส่งน้ำวันละ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตร (ล.บม.) เพื่อส่งป้อนให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะนั้น กลุ่มชาวนาไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีผลกระทบต่อชาวนา อ.ภาชี อ.อุทัย และเขตติดต่อ เช่น อ.วังน้อย อ.บางปะอินฝั่งตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่นาหลายแสนไร่ นอกจากนี้ลำคลองหลักๆ โดยเฉพาะคลองระพีพัฒน์ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามพระราชดำริเพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ทุ่งอยุธยา ทุ่งรังสิต ทุ่งลาดกระบัง

"กรมชลประทานไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ฝนตกน้ำท่วม ฝนไม่ตกน้ำแล้ง ปัจจุบันเกิดปัญหาภัยแล้งไปทั่ว จนประกาศให้ลดการทำนาปรังจากปีละ 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ล่าสุด เหลือปีละ 1 ครั้ง เพราะไม่สามารถส่งน้ำให้ชาวนาบางพื้นที่ได้ โดยเฉพาะทุ่งฝั่งตะวันออกของภาคกลาง เนื่องจากปริมาณน้ำในคลองไม่มาก ชาวนาต้องหาเครื่องสูบน้ำมาสูบดึงน้ำเข้านาจนเกิดการแย่งชิงน้ำ แต่กรมชลฯกลับจะดึงน้ำที่มีจำกัดส่งให้โรงงานอุตสาหกรรมอีก แบบนี้ไม่ถูกต้อง พวกเราขอคัดค้านเต็มอย่างถึงที่สุด ที่สำคัญต้องทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์ชาวนาก่อนดำเนินการ หากเดินหน้าโครงการเกิดศึกแย่งชิงน้ำแน่นอน กลุ่มทุนจะมาอ้างว่าหากไม่ส่งน้ำเข้าพื้นที่นิคมจะเกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท มากกว่าที่นาหลายแสนไร่นั้น อยากให้มองว่ารวยจนก็คนเหมือนกัน จะเสียหายคิดเป็นมูลค่าเท่าไรก็คือความเสียหาย" นายวิมลกล่าว

นายไมตรี ปิตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมได้ติดต่อเพื่อทำโครงการขอใช้น้ำจากคลองชลประทานจริง และมีแผนร่วมกันจริง แต่ยังอยู่ในขึ้นตอนศึกษาวางแนวทางร่วมกับชาวนา หลังพบกระแสต่อต้านสูง จึงต้องกลับไปประชุมกำหนดแนวทางใหม่ โดยนิคมฯเสนอให้ดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำป่าสัก เขต อ.พระนครศรีอยุธยา มาแทน


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view