สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จี้ประกาศเขตควบคุมมลพิษกทม.

จี้ประกาศเขตควบคุมมลพิษกทม.

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขยะล้น-น้ำเน่า-อากาศเสีย แนะประกาศเขตควบคุมมลพิษกรุงเทพมหานคร คพ. ลั่นแผนแก้ปัญหา 5 ปี นักวิชาการ จี้วัดใจผู้ว่าฯคนใหม่

ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม.คนใหม่คึกคักผู้สมัครงัดนโยบายแข่งขันดุเดือด"กรุงเทพธุรกิจ"สำรวจปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมของกทม.ที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการแก้ปัญหาซึ่งแม้ผู้สมัครจะนำเสนอนโยบายด้านนี้แต่ยังไม่ชัดเจนมากนัก

ข้อมูลการเก็บขนมูลฝอย ของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่ากทม.สามารถเก็บขนมูลฝอยในพื้นที่รับผิดชอบได้ทั้หมด 9,237ตันต่อวันและจะมีการเก็บขยะไปยังสถานีขนถ่ายมูลฝอย 3 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช 3,642 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 40 สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม 3,445 ตันต่อวันหรือร้อยละ 37 และสถานีขนถ่ายมูลฝอยสายไหม 2,150 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 23 จากนั้นจะมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการกำจัดมูลฝอยที่เก็บขนได้ขนส่งไป ไปกำจัดที่จุดฝังกลบ ในอ. กำแพงแสน จ.นครปฐม ประมาณ 5,595 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือร้อยละ 40 จะถูกนำไปทำปุ๋ยร้อยละ 5 ส่วนอีกร้อยละ35 นำไปที่สถานที่ฝังกลบอำเภอพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูล ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุชัดเจนว่าในปี 2555 ว่ามีปริมาณขยะเกิดขึ้นประมาณ 16 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 43,000 ตันต่อวัน ซึ่งแม้ว่าจะลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8 หมื่นตัน เพราะว่าในปี 2554 มีขยะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจากกรณีอุทกภัย แต่ร้อยละ 22 เป็นขยะที่เกิดขึ้นในกทม. 9,800 ตันต่อวัน ขณะที่ขยะทั้งหมดถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพียง 5.8 ล้านตัน หรือร้อยละ 36 ขยะส่วนที่เหลือกว่า 10 ล้านตัน ถูกกำจัดทิ้งโดยการเผา กองทิ้งในบ่อดินเก่าหรือพื้นที่รกร้าง ซึ่งส่วนที่จัดการไม่ถูกต้องจะเพิ่มขึ้นทุกปีจากขยะคงค้างและปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น

จี้รัฐประกาศเขตควบคุมมลพิษกทม.

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่กรุงเทพ มหานคร (กทม.) พบแนวโน้มมีความวิกฤติมากขึ้นในทุกๆด้านอย่างต่อเนื่อง โดยอันดับแรกเป็นมลพิษทางอากาศ เนื่องจากกทม. มีปริมาณรถยนต์มากและมีการจราจรที่ติดขัดหนาแน่น ตลอดจนการก่อสร้างคอนโดที่พักอาศัย รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างหลายจุด เช่น แถวจรัญสนิทวงศ์ไปศิริราช พบว่ายังไม่การนำผ้าใบปกปิดป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

และสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอนในพื้นที่ กทม. เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้มาตลอดหลายปีแล้ว รวมทั้งสารอิน ทรีย์ระเหยง่ายในกลุ่มสารเบนซีน ที่พบเกินค่ามาตรฐานเฝ้าระวัง จนอาจส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนว่าผู้ว่ากทม. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่เข้มงวด และไม่กำกับโครงการที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม

" ขณะที่สถานการณ์ของขยะที่พบว่ากทม.มีปริมาณสูงถึง 9,000 ตันต่อวัน มีการจ้างเอกชนขนเอกชนไปกำจัด โดยส่วนตัวมองว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งสามารถสังเกตตามตรอก ซอกซอยลึกๆที่รกร้างที่มักจะมีขยะนำไปทิ้งกอเป็นภูเขา"

นอกจากนี้น้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากครัวเรือนกว่า 5 ล้านยูนิตในกทม.กทม. ยังไม่สามารถสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรองรับได้ครบทักพื้นที่ และถ้าจะชี้วัดว่ากทม.สนใจแก้น้ำเสียหรือไม่ สามารถพิสูจน์จากน้ำสีดำและมีกลิ่นเหม็นในคลองแสนแสบ ทั้งนี้ในภาพรวมผมมองว่าลำพังกทม. คงจัดการปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมไม่สำเร็จแน่ ดังนั้นสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงเตรียมทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาประกาศเขตควบคุมมลพิษกรุงเทพมหานครโดยเร็ว เพราะจะช่วยให้มีมาตรการในควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ขยะ น้ำเสียได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

จวกกทม. หวั่นกระทบภาพลักษณ์

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องการเสนอให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษกรุงเทพมหานครนัั้น ก่อนหน้านี้ในช่วง 10 ปีก่อนทางมูลนิธิป้องกันควันพิษ ก็เคยเรียกร้องให้ประกาศมาแล้วรอบหนึ่งจากปัญหารถควันดำ ที่ส่งให้คุณภาพอากาศในกทม. เลวร้ายมาก แต่ติดปัญหาว่าทางท้องถิ่นกังวลว่าจะกระทบในแง่ลบทางด้านการท่องเที่ยว

ทั้งที่่พบว่าหลายพื้นที่ที่เคยประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษมาแล้วโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ สงขลา ส่วนปริมณฑลรอบพื้นที่กทม. เช่น ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทร สาคร นครปฐม สระบุรี ก็ล้วนประกาศมาแล้วเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้เห็นว่าการประกาศจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวได้อย่างไร อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการจัดการปัญหาด้วย

"ขณะนี้ตัวเด่นๆที่ลงสมัครผู้ว่ากทม. ทั้ง 4-5 คน ผมยังไม่เห็นจะมีนโยบายที่จะกล้าปฎิวัติกทม. ให้เป็นเมืองที่มีมลพิษลดลง และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเลย ขณะที่กทม.ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร มีเจ้าหน้าที่อยู่ราว 1 แสนคนในพื้นที่ 50 เขตก็คงไม่เพียงพอถ้าจะพลิกให้เป็นเมืองหลวงฟ้าอมร มีสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศดี มีพื้นที่สีเขียวได้ แต่หากมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะได้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้ชาวกทม. ทั้ง5-6 ล้านคนมาเป็นตัวช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อม" นายศรีสุวรรณ ระบุ

วอนผู้ว่ากทม.เดินตามแผนลดมลพิษ5 ปี

ส่วนนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษกทม. คิดว่ายังต้องดูข้อมูลรายละเอียด และศึกษาสถานการณ์ต่างๆอย่างรอบด้านเสียก่อน ซึ่งขณะนี้แม้ว่าผลการตรวจสอบด้านมลพิษปี 2555 ในพื้นที่กทม.จะมีปัญหาฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอนเกินมาตรฐานอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้วิกฤติมากนัก ถ้าเทียบกับพื้นที่อื่นๆ

อีกทั้งในปัจจุบันทางคพ. ก็ร่วมกับกทม. ทำแผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียง 5 ปีในกทม. (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งมีมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหาฝุ่น เช่น การตรวจจับรถควันดำ และการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะประเภทต่างๆ การกำหนดอายุของรถยนต์ที่จะวิ่งในพื้นที่กทม. การควบคุมเรื่องก่อสร้างตึกสูง ที่จะต้องมีป้องกันใช้ผ้าใบคลุมฝุ่นฟุ้งกระจาย การแก้ปัญหาการจราจรด้วยการเพิ่มระบบขนส่งมวลชน รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการควบคุมโรงงานในกทม.เพื่อป้องกันมลพิษ เป็นต้น

คพ.ชี้ยังไม่ถึงเวลาเขตคุมมลพิษ

ส่วนการประกาสเขตคุมมลพิษนั้น นายวิเชียร ยอมรับว่าในกทม.มีการเติบโตทั้งจำนวนประชากร และการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย รวมทั้งการจราจรที่หนาแน่นขึ้น และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของคุณภาพอากาศ ปริมาณขยะ น้ำเสีย แต่ยังยืนยันว่าการจะเสนอเรื่องให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาตัดสินใจประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้นอาจยังไม่ถึงเวลา และจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอีกมาก

เมื่อถามว่าผู้ว่ากทม. คนใหม่จะต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมมลพิษในกทม.มากขึ้นหรือไม่ นายวิเชียร กล่าวว่า คงไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่นำแผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียง 5 ปี ที่วางไว้แล้วนำมาปฎิบัติให้เป็นจริงได้ก็พอแล้ว เพราะปัญหาคือเราไม่ค่อยได้ทำตามแผน โดยแผนดังกล่าวไม่ได้มีแค่กทม. ที่จะต้องลงมือปฎิบัติเพื่อลดมลพิษ แต่ยังมีกรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร คพ. สำนักนโยบายและแผนการขนส่ง (สนข.) และองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.)

แนะงัดหลักผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายมาใช้

ด้านดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าอยากฝากผู้ว่ากทม.คนใหม่ ให้เร่งวางแผนรับมือกับปัญหาขยะล้นเมือง เพราะปัจจุบันคน กทม. ผลิตขยะมากที่สุดในประเทศ แต่ขยะทั้งหมดถูกเก็บ ขนนำไปกำจัดในจังหวัดอื่นๆเช่น กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานจะเกิดปรากฎการณ์นัมบี้ (Not-In-My-Back -Yard) หรือไม่ใช้สวนหลังบ้านของฉัน กล่าวคือการลุกขึ้นมาต่อต้านการนำขยะมาทิ้งในบ้านคนอื่น ดังนั้นผู้ว่ากทม. หรือนักการเมืองจะต้องมองไกล และวางมาตราการล่วงหน้า ด้วยการหาซื้อพื้นที่ผืนใหญ่ๆ รอบกทม.เช่นแถวบางขุนเทียน แถวลำลูกกา เป็นสถานที่รองรับขยะในอีก10-20 ปีไม่ว่าจะใช้วิธีฝังกลบหรือการเผา

และทำปุ๋ยก็ตาม โดยต้องทำบัฟเฟอร์โซน5-10 กม. เพื่อป้องกันมลพิษรบกวนชุมชน ส่วนขยะอันตรายที่ถูกทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยจากครัวเรือน เสนอว่า กทม. ต้องจับมือกับร้านสะดวกซื้อทั่วกรุงเทพอย่างจิงจัง เพื่อใช้เป็นจุดรวมขยะอันตราย ประเภทถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่และอื่นๆ ให้สามารถรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

" ส่วนเรื่องน้ำเสียนั้น มองว่าที่ผ่านมากทม. วางแผนก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมไว้หลายจุดแต่อาจยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ และระยะเวลาก่อสร้าง ดังนั้นจึงอยากแนะนำว่า กทม.ควรต้องกล้าหาญลุกขึ้นมาเก็บค่าบำบัดน้้ำเสียจากครัวเรือน ตามหลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายได้แล้ว "

ดร.ธงชัย บอกอีกกว่า การแก้ปัญหามลพิษทางสายตา เช่น สายไฟฟ้าที่ห้อยตามริมถนนที่ควรต้องนำลงใต้ดิน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้า แต่หากกทม.ยอมแชร์งบประมาณส่วนหนึ่งด้วยการใช้งบของกทม. เอง และอีกส่วนอาจมาจากภาษีที่เก็บจากคนกรุงเทพ ไปสนับสนุนเรื่องสาธารณะประโยชน์ก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้ริมถนนของกทม. มีความปลอดภัย และเหมาะกับการใช้จักรยานในการสัญจรมากขึ้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view