สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนชะงักทั้งขบวน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัญญา ทองทับ



กว่า 3 ปีของการศึกษาระบบ FIT หรือ Feed -in Tariffs ซึ่งเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

โดยให้ค่าไฟฟ้าบวกเพิ่มคิดบนฐานของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภท และให้คงที่ตลอดอายุโรงไฟฟ้า 25 ปี เพื่อมาแทนที่ระบบ แอดเดอร์ หรือ การให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าบวกบนราคาค่าไฟฟ้าฐาน ยังไม่ถูกใช้ประกาศใช้ โดยกระทรวงพลังงานจนถึงบัดนี้

สาเหตุมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเร็วไปเร็วผิดปกติ เมื่อเข้าออกเร็ว ทุกนโยบายก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เสมอ เพราะแต่ละท่านมีความเห็น หรือรักชอบพอส่วนตัวพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทแตกต่างกันไป

แต่ละท่านที่เข้ามา ล้วนติดขัดด้วยเรื่องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ว่าจะเดินหน้าอย่างไร สุดท้ายก็ต้องรอเคลียร์โครงการที่ได้ไลเซนส์ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้วให้หมดอายุสัญญาไปก่อนเป็นส่วนใหญ่ เพื่อรอประกาศระบบแรงจูงใจใหม่ หรือ FIT ไปพร้อมกับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ที่ต้องการทบทวน และปรับปรุงแรงจูงใจ ให้ผลิตเข้าระบบเพิ่ม เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือขยะ แต่เมื่อโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์เคลียร์ไม่แล้วเสร็จซักที โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นก็พลอยติดขัดไปหมดทั้งขบวน

คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 1 ปีเศษ ว่าจะเคลียร์จบ เพราะสัญญาสุดท้ายที่จะเข้าระบบ และต้องถูกตัดทิ้งหากไม่สามารถเดินโครงการต่อได้ จริงก็ปาเข้าไปปี 2557

และอย่างที่ทราบกันดี การเคลียร์โครงการที่ได้ไลเซนส์โครงการไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อใช้วิธีปิดรับซื้อชั่วคราวไปก่อน เพื่อปิดห้องเคลียร์ของเก่า ก็เกิดปรากฏการณ์"เก็งกำไรและแทงกั๊ก" หลายโครงการขอเลื่อนเข้าระบบให้นานที่สุด เพื่อเก็งกำไรซื้อขายไลเซนส์แบบสุดๆ และบางโครงการวิ่งเต้นขอเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจาก Thermal Solar Plant ซึ่งมีต้นทุนสูงมาเป็นแบบ PV ซึ่งราคาแผงตลาดโลกลดลงตามลำดับจาก 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์เมื่อปีก่อน เหลือ 55 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ในปีนี้

อาการดิ้นรนภายในหลากหลายรูปแบบ ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะล้วนเส้นใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น ไปกันใหญ่เมื่อ นาย พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานคนปัจจุบัน ประกาศไม่สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชัดเจน ทั้งแบบโซลาร์ฟาร์ม และแบบติดบนหลังคา ( Roof Top ) เพราะติดอกติดใจหญ้าเนเปียร์ ที่สามารถนำมาหมักทำก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า และเป็นเอ็นจีวี รวมถึงระบบชีวมวลด้วยแล้ว แรงกระเพื้อมจึงมีสูง

ตอนนี้ระดับปฏิบัติการ ไม่มีทางเลือก ต้องเร่งเคลียร์โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เพื่อให้บริษัทที่ได้ไลเซนส์ หรือที่ซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว เร่งผลิตไฟฟ้าเข้าระบบโดยเร็ว หรือตัดทิ้งโครงการที่”แทงกั๊ก” เพราะตอนนี้เอาเข้าจริงโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ล็อตแรกที่ได้รับการส่งเสริมตามระบบแอดเดอร์ 8 บาทต่อหน่วย เข้าระบบเพียง 390 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่ได้แอดเดอร์ใหม่ที่ 6.50 บาทต่อหน่วย ยังไม่เข้าระบบเลยซักราย ว่ากันว่า ปีนี้น่าจะตัดโครงการที่หมดกำหนดเวลาเข้าระบบได้ ราว 500 เมกะวัตต์ และบางส่วนที่สามารถคัดทิ้งได้อีกจากสัญญาสุดท้ายที่จะเข้าระบบในปี 2557 คาดว่าจะเปิดรับซื้อกันได้อีกรอบตามระบบ FIT ราว 600 เมกะวัตต์สุดท้ายจากเป้าหมายที่กำหนดรับซื้อ 2,000 เมกะวัตต์

ก็ต้องรอพิสูจน์กันต่อไปเมื่อประกาศระบบ FIT ว่า แรงจูงใจที่ให้กับโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่จะลดเหลือ 5.12 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 25 ปี ตามที่กระทรวงพลังงานได้ศึกษาไว้นั้น จะมีใครมาขอไลเซนส์มากน้อยแค่ไหน ...จะได้รู้ว่ากันไปใครมั่วข้อมูล ????


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view