สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธนาคารอาหารชุมชนบ้านนาป่าแปก - เกษตรทั่วไทย

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

โครงการธนาคารอาหารชุมชนบ้านนาป่าแปก ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการที่ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นแห่งแรกในการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงตัวเอง ได้ และเหลือจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง

โดยเริ่มตั้งแต่สร้างแหล่งอาหารเพิ่มเติมเพื่อให้คนและสัตว์ได้บริโภค ในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยหรือแหล่งชุมชนส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ประมง เพื่อบริโภคและจำหน่ายให้มีรายได้ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้มุ่งหวังให้คนรักป่าและอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข โดยการปลูกพืช หาของป่า และพืชสมุนไพร เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ในการดำเนินชีวิตตามวิถีสังคมของชุมชน ซึ่งผลการดำเนินโครงการเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงให้ยึดถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาและขยายผลโครงการธนาคารอาหารชุมชนต่อไป ในพื้นที่อื่น ๆ

ธนาคารอาหารชุมชน เกิดจากพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงมีความเป็นห่วงในสภาพแวดล้อมของโลก ในอนาคตจะประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร อันสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และที่สำคัญเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการทำการเกษตรแบบหลากหลาย ทั้งพืชและสัตว์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ

ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการขยายพันธุ์สัตว์ เช่น กบ เขียด ไก่ป่า คืนสู่ธรรมชาติให้มากที่สุด เนื่องจากสัตว์เหล่านี้สามารถอาศัยอยู่ในป่าไผ่ และเป็นอาหารได้ ให้ส่งเสริมเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดที่สามารถอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงได้ เช่น ปลาไน เป็นต้น และทรงมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการเป็นอันดับแรก ให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง โดยเฉพาะสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สัตว์ปีก เป็นต้น ให้ปลูกและขยายพันธุ์ไม้ผล หรือต้นไม้ป่าที่สามารถรับประทานได้ในป่า เช่น มะม่วงป่า ขนุนป่า ขี้เหล็ก หรือพืชชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นพืชที่มีอยู่ดั้งเดิมตามธรรมชาติ มีความทนทาน ไม่ต้องมีการดูแลรักษามาก

ล่าสุดนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการ กปร. และนางนฤมล ปาลวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมความก้าวหน้าของโครงการ พบว่า การดำเนินงานมีความคืบหน้าตามเป้าหมายทุกประการ มีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและผักพื้นบ้าน เช่น ชะอม มะกรูด มะนาว ผักไผ่ ตะไคร้ สะระแหน่ ส่งเสริมการทำน้ำสกัดชีวภาพเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ต้องใช้สาร เคมี ฝึกอบรมให้เกษตรกรทำได้เองพร้อมให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นเชิงอนุรักษ์ เช่น ต้นชา กาแฟ ท้อ พลับ พลัม ลิ้นจี่ ฯลฯ ทำให้เกษตรกรมีรายได้และเป็นพืชที่ช่วยป้องกันการพังทลายของดินตามไหล่เขา ส่งเสริมการปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดงหลวง นอกจากเป็นอาหารแล้วยังใช้เป็นพืชปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพาะเห็ดหอมเองได้ ผลผลิตของเกษตรกรที่เหลือจากการบริโภคแล้วส่งไปศูนย์จำหน่ายของศูนย์เกษตร ที่สูงห้วยมะเขือส้ม ตลอดจนถึงจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวและพ่อค้าที่จะขึ้นไปรับซื้อถึงหมู่บ้าน

จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติได้รับการ ฟื้นฟูและได้รับพื้นที่ป่ากลับคืนมาอย่างต่อเนื่องจากเดิม 21,267 ไร่ เพิ่มเป็น 42,487 ไร่ เนื่องจากราษฎรเกิดทัศนคติที่ดีด้านการอนุรักษ์ ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 4,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว.


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view