สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวสะเอียบตะเพิด ซัมซุง พ้นหัวงานยมล่าง-แก่งเสือเต้น

ชาวสะเอียบตะเพิด “ซัมซุง” พ้นหัวงานยมล่าง-แก่งเสือเต้น

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

แพร่ - ชาวสะเอียบตะเพิดตัวแทน “ซัมซุง” กลุ่มนายทุนเกาหลี พ้นหัวงานเขื่อนยมล่าง หลังยกคณะเข้าดูพื้นที่หาข้อมูลก่อนประมูลงานจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่มีทั้งเขื่อนยมบน ยมล่าง แก่งเสือเต้นอยู่ด้วย
       
       วันนี้ (17 ม.ค.) เครือข่ายคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อ.สอง จ.แพร่ ได้ส่งข้อมูลพร้อมภาพถ่ายเหตุการณ์ที่ชาวบ้านสะเอียบ อ.สอง พยายามเชิญคณะบุคคลจากนอกพื้นที่ หลังจากพยายามเข้าไปดูพื้นที่หัวงานก่อสร้างเขื่อนยมล่างให้แก่สื่อมวลชน หลายแขนง โดยระบุว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อบ่ายวานนี้ (16 ม.ค.) ซึ่งชาวสะเอียบได้เชิญคณะที่อ้างว่ามาจากบริษัทซัมซุงประมาณ 9 คนออกนอกพื้นที่ หลังจากนำรถตู้โตโยต้า สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฮค 8553 กรุงเทพมหานคร และรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีขาว ทะเบียน ฆม 4730 กรุงเทพมหานคร เข้ามาดูพื้นที่หัวงานก่อสร้างเขื่อนยมล่าง ห่างจากหัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ชาวบ้านสะเอียบตั้งเวรยามเฝ้าหัวงานอยู่ ประมาณ 10 กิโลเมตร
       
       ทั้งนี้ ชาวบ้านสะเอียบได้รับคำชี้แจงว่า ทั้งหมดเป็นคณะที่มาจากบริษัทซัมซุง ประเทศเกาหลี เพื่อดูช่องทางการจัดการน้ำของลุ่มน้ำยมที่รัฐบาลไทยประกาศให้ประเทศต่างๆ มาประมูลงานการจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งในแผนงานมีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ทางบริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลงานด้วย
       
       ตัวแทนชาวบ้านสะเอียบจึงชี้แจงว่าชาวบ้านไม่ต้องการทั้ง 3 เขื่อน เพราะน้ำจะท่วมป่าสักทองผืนสุดท้ายของไทยและของคนทั้งโลก จึงอยากให้บริษัทยุติความคิดที่จะมาประมูลงานสร้างเขื่อนเหล่านี้ แต่ควรสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งลุ่มน้ำยม และ 77 ลำน้ำสาขา จะแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างยั่งยืนกว่า
       
       อย่างไรก็ตาม คณะของบริษัทยังยืนยันว่าจะส่งทีมงานชุดใหญ่มาอีกครั้ง จากนั้นจึงออกจากพื้นที่ไป โดยอ้างว่าจะไปดูพื้นที่การจัดการน้ำของ จ.พะเยา
       
       นายวิชัย รักษาพล แกนนำชาวบ้านคัดค้านเขื่อน หมู่ 9 บ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ กล่าวว่า ชาวบ้านได้ประกาศเตือนบุคคล หน่วยงาน ผู้สนับสนุนเขื่อนแล้วว่าห้ามเข้าพื้นที่ แต่ก็ยังมีหน่วยงานที่หวังผลประโยชน์จากโครงการแอบเข้ามาในพื้นที่อยู่เป็น ระยะ หากพูดกันไม่ฟังก็ต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลยุติการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ แล้วหันมาพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กตามลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำยม ทั้ง 77 สาขา ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งได้ดีกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
       
       ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ กล่าวว่า เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ส่งผลกระทบต่อชุมชนสะเอียบนับพันครอบครัว ต้องอพยพคนกว่า 5,000 คน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้นชาวบ้านจะไม่ให้ข้อมูลบริษัทเอกชนที่เข้ามาในพื้นที่เด็ดขาด โดยชาวบ้านจะสร้างเพิงพักเฝ้าหัวงานเป็นการถาวร
       
       “ขอเรียกร้องให้หน่วยงาน บริษัทต่างๆ อย่าได้คิดทำลายชุมชน ทำลายป่าสักทองผืนนี้เลย เก็บไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานแทนจะดีกว่า”
       
       หลังจากคณะที่อ้างว่ามาจาก บริษัทซัมซุง ออกจากพื้นที่ไป คณะกรรมการชาวบ้านคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ได้ประชุมวางแผนในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกลุ่ม โดยมีมาตรการในการสร้างเพิงที่พัก เฝ้าเวรยามอย่างถาวร ที่จุดหัวงานที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และติดตั้งเสาโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการประสานงานกันกับชาวบ้านในหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อ ไป


ชาวบ้านไล่เอกชนหลังเข้าดูพื้นที่สร้างเขื่อน

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวบ้านสะเอียบไล่คณะบริษัทซัมซุงออกจากพื้นที่ หลังเข้าดูพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนยมล่าง ที่ใช้งบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น.วันที่ 17 ม.ค. ชาวบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เชิญตัวคณะที่อ้างว่ามาจากบริษัทซัมซุง ประมาณ 9 คน ออกนอกพื้นที่ หลังจากคณะได้นำรถตู้ และรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ เข้ามาดูพื้นที่ที่จะเป็นหัวงานก่อสร้างเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งห่างจากหัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ชาวบ้านสะเอียบตั้งเวรยามเฝ้าหัวงานอยู่ประมาณ 10 กิโลเมตร

ชาวบ้านสะเอียบ ได้เข้าไปเจรจาจึงได้รับคำชี้แจงว่าเป็นคณะที่มาจากบริษัทซัมซุง ประเทศเกาหลี มาเพื่อดูช่องทางการจัดการน้ำของลุ่มน้ำยมที่ทางรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ ประเทศต่างๆ มาประมูลงานการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งในแผนงานมีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งทางบริษัทให้ความสนใจอยากเข้าร่วมประมูลงานนี้ด้วย

จากนั้นชาวบ้านสะเอียบ จึงชี้แจงว่า เขื่อนทั้ง 3 เขื่อนนี้ ชาวบ้านไม่ต้องการ และน้ำจากเขื่อนจะท่วมป่าสักทองผืนสุดท้ายของไทยและของคนทั้งโลก จึงอยากให้ทางบริษัทซัมซุง ยุติความคิดที่จะมาประมูลงานสร้างเขื่อนเหล่านี้เสีย ชาวบ้านชี้แนะว่าควรจะสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้ดีและยั้งยืนกว่า แต่ทางบริษัทซัมซุงก็ยังยืนยันว่า ทางบริษัทจะส่งคณะชุดใหญ่มาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นก็นำคณะออกจากพื้นที่ไป โดยอ้างว่าจะไปดูพื้นที่การจัดการน้ำของจังหวัดพะเยาต่อไป

นายวิชัย รักษาพล แกนนำชาวบ้านคัดค้านเขื่อน หมู่ 9 บ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า เราได้ประกาศเตือน บุคคล หน่วยงาน ผู้สนับสนุนเขื่อน ห้ามเข้าพื้นที่หลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังมี หน่วยงาน บริษัทต่างๆ ที่หวังผลประโยชน์จากโครงการเขื่อน แอบเข้ามาพื้นที่อยู่เป็นระยะ หากพูดกันไม่ฟัง ก็ต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น อยากให้รัฐบาลยุติการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่แล้วหันมาพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาด กลาง ขนาดเล็ก ตามลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำยม ทั้ง 77 ลุ่มน้ำสาขา ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า เราเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) เพราะเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนสะเอียบนับพันครอบครัว ต้องอพยพคนมากกว่า 5,000 คน อีกทั้งส่งผลกระทบต่อป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย

ส่วนการที่บริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาหัวงาน มาหาข้อมูล เราจะไม่ยอมให้ข้อมูลอย่างเด็ดขาด หากเตือนกันแล้วไม่ฟังคงต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น โดยชาวบ้านจะได้สร้างเพิงที่พักเฝ้าหัวงานอย่างต่อเนื่อง และตนขอเรียกร้องให้หน่วยงาน บริษัทต่างๆ อย่าได้คิดมาทำลายชุมชน มาทำลายป่าสักทองผืนนี้เลย เก็บไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานเถิด ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยมนั้น 

“ผมเห็นว่าข้อเสนอ 12 ข้อเป็นแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั้งยืน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใช้แนวทาง 12 ข้อนี้เป็นหลัก เพราะกระทบกับชุมชนน้อย และกระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่อีกด้วย” นายสมมิ่ง กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view