สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผักไทยเฮ! อียูลดระดับตรวจเข้ม หลังแทบไม่พบสารตกค้าง คาดยอดส่งออกกลับมาโตกระฉูดแน่

ผักไทยเฮ! อียูลดระดับตรวจเข้ม หลังแทบไม่พบสารตกค้าง คาดยอดส่งออกกลับมาโตกระฉูดแน่

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      “พาณิชย์” เผยอียูลดระดับความเข้มงวดตรวจสอบผักสดจากไทย หลังตรวจพบสารพิษตกค้างน้อย คาดช่วยให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นแน่ ส่วนญี่ปุ่น เพิ่มคุมเข้มตรวจสอบสารพิษจากเชื้อรา-โลหะหนัก เน้นสินค้าข้าว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์
       
       นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปมีมติเห็นชอบให้ลดระดับการสุ่มตรวจหาสารฆ่าแมลงตกค้างใน ผักกลุ่มถั่วฝักยาว มะเขือม่วง และพืชตระกูลกะหล่ำ ที่นำเข้าจากไทย ให้เหลือเพียง 20% ของปริมาณสินค้าทั้งล็อต จากเดิมที่สุ่มตรวจสารพิษตกค้างที่ 50% เพราะผลการสุ่มตรวจในช่วงที่ผ่านมา แทบไม่พบสารพิษตกค้างในสินค้าดังกล่าวจากไทย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 เป็นต้นไป ส่วนสินค้าอื่นๆ ทั้งโหระพา และผักชี ยังคงสุ่มตรวจสอบสารพิษตกค้างที่ 20% และสุ่มตรวจเชื้อซาลโมเนลล่าในโหระพา ผักชี และสะระแหน่ ที่ 10% ขณะที่พริกไทย สุ่มตรวจสารพิษตกค้างที่ 10%
       
       ทั้งนี้ ไทยส่งออกผักสดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไปยังสหภาพยุโรป (อียู) มีมูลค่าเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2552-2554) มูลค่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย.2555 มีมูลค่า 27.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ประมาณ 8.7% ซึ่งแม้มูลค่าการส่งออกจะลดลง แต่จากการที่อียูได้ปรับลดการสุ่มตรวจผักของไทย แสดงให้เห็นว่า อียูมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต
       
       อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับต่อมาตรการดังกล่าวของอียู ที่ผ่านมาไทยได้จัดทำระบบแก้ไขปัญหาด้านศัตรูพืช โดยออกมาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุพืชผักก่อนการส่งออกไป อียู โดยล่าสุดในเดือนพ.ย.2555 มีโรงคัดบรรจุของไทยที่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของอียูแล้ว 20 ราย
       
       นางปราณีกล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศปรับปรุงการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของ สินค้าธัญพืช ประกอบด้วย ข้าว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ซึ่งกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ค้าขายสินค้าเกษตรของรัฐเป็นผู้นำเข้า โดยได้ปรับปรุงการตรวจสอบสินค้าข้าว ประกอบด้วย การเฝ้าระวังสารพิษจากเชื้อรา และการปนเปื้อนของโลหะหนัก โดยประเทศผู้ส่งออกที่ถูกเฝ้าระวัง ได้แก่ สหรัฐฯ ไทย ออสเตรเลีย จีน และเวียดนาม
       
       ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ตรวจพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงที่เกินระดับที่อนุญาตให้ใช้ได้ใน ข้าวจากเวียดนาม จีน พม่า และอินเดีย จึงเพิ่มการเฝ้าระวังการนำเข้าข้าวจากประเทศเหล่านี้ โดยการปรับจำนวนตัวอย่างที่จะนำไปตรวจสอบจากเดิมกำหนดไว้ที่การนำเข้าทุก 1,000 ตัน เป็นทุก 400 ตัน และให้มีการตรวจสอบก่อนการนำเข้า แต่การปรับจำนวนตัวอย่างดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ไทย และออสเตรเลีย เพราะมีความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยสูง
       
       ในปี 2554 ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวรวม 580,946 ตัน โดยนำเข้าจากไทย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 2 จำนวน 174,540 ตัน รองจากสหรัฐฯ ที่มีการนำเข้ารวม 335,640 ตัน และในปี 2555 (เดือนม.ค.-ก.ย.) ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากไทยแล้ว 124,620 ตัน หรือ 29.02% ของปริมาณการนำเข้าข้าวโดยรวม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังในเรื่องการปนเปื้อนของข้าว ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น เพื่อรักษาตลาดและเพิ่มโอกาสการขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวนำเข้าในประเทศญี่ปุ่น อย่างยั่งยืน


อียูผ่อนเกณฑ์ตรวจสารพิษในพืชผัก

จาก โพสต์ทูเดย์

สหภาพยุโรปลดระดับตรวจสารพิษตกค้าง 3 กลุ่มจาก 50% เหลือ 20% ส่งผลดีต่อส่งออกสินค้าเกษตรไทย

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังสหภาพยุโรปได้ออก Commission Regulation (EC) No 669/2009 ว่าด้วยการปฏิบัติตามระเบียบ Regulation (EC) No 882/2001 เพื่อที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าประเภทอาหารและอาหาร สัตว์ที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นไป

ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรปมีมติเห็นชอบให้มีการลดระดับการสุ่มตรวจหาสารฆ่าแมลงตก ค้างในผักกลุ่มถั่วฝักยาว (yard long beans) มะเขือม่วง (aubergines) และพืชตระกูลกะหล่ำ (brassica vegetable) ที่นำเข้าจากไทยจากเดิมสุ่มตรวจสารพิษตกค้าง (pesticide residues) ที่ระดับ 50% ให้ลดลงเหลือ 20% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

ส่วนกลุ่มผักประเภทอื่นยังคงมาตรการตรวจสอบสินค้า ใน โหระพา (basil) และผักชี (coriander) โดยสุ่มตรวจสารพิษตกค้าง (pesticide residues) 20% , โหระพา (basil) ผักชี (coriander) และสะระแหน่ (mint) สุ่มตรวจเชื้อ salmonella ที่ 10% และ พริกไทย (pepper) สุ่มตรวจสารพิษตกค้าง pesticide residues)  10%

นางปราณี กล่าวว่า ไทยส่งออกผักสดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไปยังอียู มีมูลค่าเฉลี่ย 3 ปี (2552-2554) 36 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2555 มีมูลค่า 27.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 ประมาณ 8.7% ดังนั้น แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลง แต่จากการที่อียู ได้พิจารณาปรับลดการสุ่มตรวจผักของไทย แสดงให้เห็นว่าอียูมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view