สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ เปิดใจถึงการขับเคลื่อนโครงการยางฯ

จากประชาชาติธุรกิจ

องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้โครงการดำเนินมาเกินครึ่งทางแล้ว แต่ดูเหมือนว่าราคายางยังขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีเสถียรภาพตามเป้าหมาย ในฐานะคนทำงาน ผู้อำนวยการองค์การสวนยางจะชี้แจงถึงปัญหาต่าง ๆ
รวมทั้งเสนอแนวความคิดของตัวเองในการแก้ปัญหาอย่างไร ...


- เรื่องโกดัง 6 แห่งที่จะนำมาเก็บยางเพิ่มเติมที่มีปัญหาว่าบริษัทประกันยังไม่รับประกัน


เรื่องโกดัง 6 แห่งที่ก่อนหน้าที่มีปัญหาว่าบริษัทประกันยังไม่รับประกัน ในขณะนี้บริษัทรับประกันเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทยอยนำยางจากโรงรมเข้าโกดัง เนื่องจากมียางที่ค้างอยู่ในระบบของเดิมประมาณ 40,000 ตันที่ต้องเร่งทยอยเข้า แต่การเร่งต้องใช้ทั้งแรงงาน ทั้งการขนส่ง อะไรต่าง ๆ อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ก็จะคลี่คลายไปตามลำดับ
ขณะนี้มีการขออนุมัติโกดังเพิ่มเติมอีก 10 โกดัง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะบริษัทประกันเขาจะมีมาตรฐานว่าโกดังที่จะใช้การเก็บยางต้องมีคุณภาพตรงมาตรฐานของเขาประมาณ 11-12
ข้อได้ ไล่ตั้งแต่กล้องวงจรปิด ระบบดับเพลิง ระบบยามรักษาความปลอดภัยอะไรต่าง ๆ มันมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ
ซึ่งขณะนี้ปัญหาเรื่องพวกนี้ไม่มีแล้ว


สรุปตอนนี้มีทั้งหมด 15 โกดังที่กำลังรันอยู่ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา 6 แล้วก็อยู่ระหว่างการสำรวจอีกประมาณ 5 แห่ง
- ก่อนหน้านี้ที่เขาไม่รับประกันเพราะปัญหาอะไรบ้าง ค้างเบี้ยชำระจริงหรือเปล่า


เพราะกรณีไฟไหม้โกดังที่นาบอน ทำให้บริษัทประกันไม่อยากรับประกัน เนื่องจากการประกันภัยใหญ่ ๆ จะไม่ได้มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งรับความเสี่ยงไว้แต่เพียงผู้เดียว บริษัทที่รับประกันต้องทำรีอินชัวรันซ์กับบริษัทต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ บริษัทประกันที่อยู่ในต่างประเทศที่เคยรับเขาก็ขอชะลอไว้ก่อน ทำให้บริษัททิพยประกันภัยไม่รับประกัน ที่ผ่านมาเราก็พยายามหาเจ้าอื่น แต่เขาไม่รับ และอีกอย่างการใช้บริการบริษัทใหม่ต้องเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ทำให้เสียเวลา เราจึงพยายามผลักดันให้ผ่านการรับประกันของบริษัทนี้ คือธุรกิจยางมันมีประวัติเป็นลบ เกิดเพลิงไหม้เยอะ ทำให้บริษัทประกันค่อนข้างขยาด


- เรื่องที่ให้ใช้สำนักงานสาขาของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เป็นจุดรับซื้อยางเพิ่ม ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว คิดว่าถ้าทำจริงจะมีปัญหาในการสั่งการหรือดำเนินงานหรือไม่


อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่แต่ยังไม่ได้เซตระบบออกมา โครงการนี้เป็นโครงการระดับประเทศ ซึ่ง อ.ส.ย.ไม่ใช่หน่วยงานที่ทำงานครอบคลุมระดับประเทศ เพราะฉะนั้นในการที่จะให้ อ.ส.ย.รับผิดชอบโครงการนี้ทั้งโครงการมันค่อนข้างยาก อ.ส.ย.เคยเสนอในคณะกรรมการบริหารหลายครั้งว่า ต้องมีหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมกันทำงาน
จุดรับซื้อควรจะเป็น สกย.รับผิดชอบ เพราะ สกย.มีหน่วยงานครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งระดับอำเภอและจังหวัด ทำให้สามารถขยายจุดรับซื้อครอบคลุมทั่วประเทศจริง ๆ เมื่อ สกย.ซื้อ อ.ส.ย.จะทำหน้าที่ขนย้ายยางส่งให้โรงรม เมื่อยางผลิตเสร็จแล้วก็ให้สถาบันวิจัยยางดูแลในการจัดเก็บ
ภารกิจมันได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งคนที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารโครงการถือตามภารกิจของเงิน ซึ่ง อ.ส.ย.เป็นผู้ถือเงิน แต่ภารกิจใหญ่แบบนี้ต้องเอาภารกิจของงานเป็นที่ตั้งจึงจะแก้ปัญหาได้ ที่ผ่านมาอ.ส.ย.ใช้คนกว่า 60% มาทำงานนี้ ซึ่งเขาก็มีขีดความสามารถในระดับที่เขามี ที่มีการเรียกร้องให้เปิดจุดรับซื้อมันทำไม่ได้ เพราะกำลังการผลิตมีน้อยกว่ายางที่ออกมาแต่ละวัน


- คิดว่าหลังปีใหม่ราคายางจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะจำกัดการส่งออกมาสักระยะแล้ว


ปัญหาราคายางเป็นปัญหาเรื่องกลไกของตลาด ซึ่งตลาดขึ้นอยู่กับการบริโภค ปัญหาของเราก็คือเราพึ่งคนอื่นตลอด เราไม่ได้พึ่งตัวเองเป็นหลัก เราผลิตมาเพื่อส่งออก เมื่อเขาไม่รับ เราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร ต้องมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ก่อน เราผลิตป้อนเขา ถ้าเขาไม่กินของเราก็เหลือ ถ้าเก็บมันก็เน่าเสียเราหันมาส่งเสริมการใช้ในประเทศได้ไหม มันมีรูปแบบไหนบ้าง สนับสนุนการแปรรูปยางหรือทำอุตสาหกรรมปลาย


น้ำไหม ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้จากผู้ที่เป็นเกษตรกรมาเป็นผู้แปรรูป ปัจจุบันสัดส่วนที่เราบริโภคในประเทศมีแค่ 13% การส่งออก 87% ไม่มีทางที่เราจะควบคุมราคาในตลาดได้
เรื่องราคาเปรียบเทียบกับน้ำมัน ทุกวันนี้เราซื้อน้ำมันในราคาจริงหรือเปล่า ไม่ใช่เลย เวลาน้ำมันลงเขาก็ยังขายในราคาที่สูง ส่วนเกินเขาก็เก็บเป็นกองทุนเอาไว้ พูดถึงยาง ถ้าสมมุติเราต้องการให้ราคามันอยู่ที่ 100 บาท ถ้าเกิน 100 บาทเก็บเข้ากองทุน แสดงว่าเขาก็จะมีรายได้ระดับที่แน่นอน เรื่องนี้ทำได้หรือไม่ ต้องไปแก้เรื่อง พ.ร.บ.การยาง แล้วมาแก้เรื่องพวกนี้ได้ไหม ถ้าอย่างนี้จะเป็นการประกันราคาหรือตรึงราคา


การจะตั้งราคาแบบกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกมันยาก เพราะยางมีสินค้าทดแทนในตลาด ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่มันทำได้ยากกว่ากรณีอื่น ต้องเป็นมาตรการในเชิงนโยบายที่ต่างประเทศทำร่วมกันได้หรือดำเนินการร่วมกันได้ สุดท้ายต้องมาดูที่รากเหง้าของปัญหา ประเทศไทยกับอินโดนีเซียแตกต่างด้านต้นทุน เกษตรกรบ้านเราเป็นเจ้าของสวน เกษตรกรบ้านเขาเป็นลูกจ้างรัฐบาลไม่ต้องเดินขบวนเรียกร้อง ปัญหาตรงนี้มันจะดูแลอย่างไร ถ้าดูแลได้ก็รักษาเสถียรภาพราคายางได้ แต่ถ้าดูแลไม่ได้ก็รักษาไม่ได้


ปัญหาของราคายางในทุกวันนี้มีคำถามว่า เกษตรกรผลิตยางแล้วขาดทุนหรือเปล่า เปิดดูได้ว่าไม่มีใครขาดทุนเลย แต่อยู่ตรงที่ว่าที่ผ่านมาเกษตรกรมีรายได้มีเงินสดเข้ามาเยอะ แล้ววันที่มีเงินเข้ามาเยอะ เขาซื้อของไปเยอะ ใช้เงินของอนาคตไปแล้ว อยู่มาวันหนึ่งเงินในกระเป๋าเขา ลดลง ปัญหานี้จะทำกันอย่างไร


ราคายางอ้างอิงเปเปอร์มาร์เก็ตทั้งนั้น ตลาดพวกนี้เป็นตลาดที่ใช้ข่าวสารเป็นหลัก ตรรกะของดีมานด์-ซัพพลายเป็นตรรกะรอง ปัญหาในขณะนี้อยู่ที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของโลก ถ้าเศรษฐกิจรวมของโลกดีมันก็ไม่ร่วง ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ผูกพันกันอยู่ ต้องมาดูว่าปัจจัยเทียบราคาตอน 180 บาท/กก. กับตอน 80 บาท/กก. ตอน 180 ทุกอย่างบวกหมด ในขณะที่ปัจจุบันราคายาง 80 ทุกอย่างเป็นลบหมด ยูโรโซนมีปัญหาหนี้จะต้องล้มละลาย แก้ไขปัญหาเรื่องเงินไม่ได้ จะให้ราคาเท่ากันเป็นไปไม่ได้


สำหรับทิศทางราคายางตอนนี้ ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าเป็นราคายางขาขึ้น แต่ขึ้นเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยบวกที่มีอยู่ในระบบ เนื่องจากจีนเริ่มจะซื้อยางเข้าสต๊อก ตอนนี้อินโดนีเซียก็เริ่มไม่มียาง จีนก็ต้องซื้อจากไทย


- การส่งเสริมการใช้ในประเทศ มีทางไหนบ้างที่รัฐบาลจะเข้ามาส่งเสริมได้

ในขณะนี้ภาคของอุตสาหกรรมที่ไทยทำอยู่ก็มีเยอะ แต่ว่าด้วยปริมาณ จีนมีขนาดโตกว่าเราเยอะ เพราะฉะนั้นต้องหาอะไรที่เป็นลอตใหญ่ ๆ อย่างเช่น เรื่องถนน เรื่องตัวแผ่นยางรองรางรถไฟ ถ้าเกิดโครงการรถไฟความเร็วสูง/รถไฟรางคู่ออกมาก็ต้องใช้ยางเยอะ ถ้ามีการใช้จะเกิดผลแน่ ถ้าเกิดรัฐบาลออกนโยบายว่ารถทุกคันของราชการห้ามซื้อยางต่างประเทศ ต้องซื้อยางที่ผลิตในไทยเท่านั้นจะช่วยได้เยอะ เมื่อวานนี้ผมไปอบรมมีข้อที่น่าคิด เขาบอกว่า สมมุติว่าตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของประเทศซื้อแบรนด์ยางที่มีชื่อแล้วมาผลิตในประเทศไทยได้ไหม ถ้าเราอยากสร้างยางไทย เราจะสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ตลาดไม่รับ วิธีทางลัดที่ดีที่สุดคือไปซื้อแบรนด์มาเลย


- มาตรการจำกัดการส่งออกได้ผลมากน้อยแค่ไหน


รูปแบบความร่วมมือระหว่างราชการกับผู้ส่งออกขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะมาตรการจำกัดการส่งออกมันไม่ชัดเจน เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาส่งออกได้ไหม เรื่องนี้ต้องรีบทำความเข้าใจ
ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาส ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ อินโดนีเซียต้นทุนต่ำกว่าเรามากกว่า 20% ส่วนมาเลเซียเขาเป็นผู้แปรรูปแล้ว มาเลเซียอดีตเคยเป็น 3 ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการยาง ปัจจุบันเมื่อเขาเปลี่ยนสถานะไปแล้ว แนวความคิดของเขา
ถ้าราคาต่ำเขาก็เป็นประโยชน์สำหรับการผลิตเพื่อใช้ แต่ไทยเราเป็นผู้ขาย ราคายางต่ำเราเดือดร้อน สุดท้ายเราต้องถามตัวเราเองว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีเกิดเราจะทำอย่างไร เราจะเลือกสถานะของเราอย่างไร


- มาตรการจำกัดการส่งออก เราควบคุมและตรวจสอบอินโดฯ มาเลย์ได้มากน้อยแค่ไหน


เรามีการส่งตัวแทนไปตรวจสอบแล้ว แต่อินโดนีเซียมีเป็นหมื่นเกาะ จะไปควบคุมเขาได้อย่างไร ตรงนี้เป็นมาตรการเชิงจิตวิทยา คงแล้วแต่ว่าใครจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้อย่างไร นโยบายเขาก็เป็นนโยบายหลวม ๆ
ดูวิธีปฏิบัติแล้วก็มีปัญหาค่อนข้างเยอะ ส่วนเขาเองก็ควบคุมเราไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเราจะงัดกลยุทธ์ขึ้นมาเล่น ประเทศไทยไม่ต้องจำกัดการส่งออกก็ได้ เพราะรัฐบาลช่วยในการสต๊อกยางอยู่แล้ว ส่วนมาเลเซียเขาไม่มีปัญหา เขาบริโภคภายในเป็นหลัก มันจะไปรูปแบบไหนเขาก็ไม่มีปัญหาทั้งนั้น แต่เขาไม่อยากให้บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) เข้ามาแทรกแซง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view