สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือน ยิ่งลักษณ์ ลงนาม TPP ลาก ไทย สู่ประเทศอาณานิคมทันที

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เตือน สติรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ดอดทำ TPP กับสหรัฐฯ ให้นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ชี้ยาแพงลามไปถึงงบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ก่อให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลง ต้นทุนการผลิตจะพุ่งเป็น 2 ใน 3 จะเปลี่ยนสถานะเกษตรกรไทยเป็นแค่ลูกจ้างผลิตให้สหรัฐฯ ด้านเสรีการเงินก่อให้เกิดกลุ่มใหม่เข้ามาคุมตลาด ที่ร้ายกว่านั้นอำนาจทางอธิปไตยของประเทศหาย ไม่ต่างยึดประเทศ หากเร่งลงนามพร้อมชุมนุมใหญ่

       การต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่เพิ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ มาหมาดๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หนึ่งในข้อกังวลที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือท่าทีการแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP
       
       แม้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะออกมาแถลงว่ายังไม่ได้มีการลงนามกับสหรัฐฯ แต่การแสดงท่าทีของรัฐบาลไทยไม่ว่าจะด้วยต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาล หรือเหตุผลใด ผลกระทบที่จะตามมาหากมีการเดินหน้าทำข้อตกลงดังกล่าว ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างมาก
       
       ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีมาตรฐานสูง เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน การปฏิรูป การสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
       
       สมาชิก TPP ประกอบด้วย ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม และมาเลเซีย และยังมีประเทศอื่นที่สนใจเข้าร่วมได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย
       
       แม้สหรัฐฯ จะไม่ใช่กลุ่มประเทศที่เริ่มต้นจัดตั้ง TPP แต่เมื่อสหรัฐฯ เข้ามา กลายเป็นประเทศที่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ได้มากกว่าประเทศดั้งเดิม ข้อเสนอของสหรัฐฯ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใส โทรคมนาคม ศุลกากร สิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดเฉพาะสินค้า รวมถึงได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกัน ประเด็นความสอดคล้องทางกฎระเบียบ และการหาแนวทางในการลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก TPP
       
       ดังนั้น ข้อตกลง TPP จึงมีระดับความเข้มข้นมากกว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และองค์การการค้าโลก (WTO)
       
       ทำเพื่อแก้ปัญหาสหรัฐฯ


       
       บทความทางวิชาการ เขียนโดย ชาญชัย โฉลกคงถาวร สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ในวารสารเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เสนอไว้ว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการเจรจา TPP เป็นอย่างมาก โดยฝ่ายบริหารพยายามที่จะผลักดันการเจรจา TPP ให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ การถ่วงดุลอำนาจกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มบทบาทของการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ
       
       สหรัฐฯ เห็นว่า TPP เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการว่างงานของประเทศ นอกจากนี้ยังมองว่า FTA ทวิภาคีที่สหรัฐฯ ทำกับประเทศต่างๆ จำนวน 17 ประเทศนั้น มีคุณภาพสู้ TPP ไม่ได้ โดยมีข้อจำกัดที่สินค้าบางสาขาได้รับการยกเว้นไม่เปิดเสรี
       
       แนะยึดประเทศเป็นหลัก
       
       วรศักดิ์ มหัทธโนบล สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่อง TPP ที่ประเทศไทยให้ความสนใจเข้าร่วมกับสหรัฐฯ ว่า นโยบายของไทยมักจะอิงกับสหรัฐฯ เป็นหลัก เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นระบอบเสรีเหมือนกัน เช่น เรื่องความมั่นคงทางทหารเราใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาตลอด อย่างการฝึกคอบร้าโกลด์ที่ทำร่วมกันมาตลอด
       
       แม้ที่ผ่านมาจีนก็ดีกับไทยมาก แต่เรื่องความมั่นคงเราร่วมมือกับสหรัฐฯ มากกว่า และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ในกรณี TPP ถ้าไม่มีจีนเข้าร่วม นี่คือมิติทางการเมืองของ TPP เท่ากับสหรัฐฯ มีเจตนาชัดเจนกีดกันจีนออกนอกหน้า
       
       สำหรับ TPP เป็นเรื่องการค้าเสรี ชื่อไม่บอกแต่เป็นการค้าเสรี แต่รายละเอียดยังต้องรอให้รัฐบาลไทยเปิดเผยมาก่อนว่าข้อตกลงที่จะมีกับ สหรัฐฯ นั้นมีอะไรบ้าง
       
       แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้ลงนาม ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีสิทธิต่อรองได้ รัฐบาลชุดไหนฉลาดหรือโง่กว่ากันในการยอมรับ เพราะต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก อย่างเรื่องสิทธิบัตรยาเมื่อแลกกับสินค้าอื่นแล้วไม่คุ้มค่า
       
       ส่วนผลประโยชน์ของนักการเมืองที่พ่วงไปกับการเจรจามีความเป็นไปได้ พรรคการเมืองอื่นก็เป็น แต่ในเรื่องนี้คงไม่มีใครเก่งเท่าทักษิณ ชินวัตร
       
       ระวังร่วมกันฮั้ว
       
       จักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) ประเมินว่ากว่าจะเซ็นข้อตกลงเรื่องนี้คงอีก 3 ปี เพราะถึงอย่างไรเราก็มีมาตรา 190 คุมอยู่ที่ต้องทำประชาพิจารณ์และขอความเห็นชอบจากสภา
       
       สำหรับเรื่องการเปิดเสรีทางการเงิน เมื่อทำข้อตกลงนี้แล้วสถาบันการเงินต่างประเทศจะเข้ามาเปิดบริการหรือขยาย สาขาเทียบสถาบันการเงินของไทย ถ้าเปิดจะมีการแข่งขันรุนแรง เรื่องนี้สามารถมองได้ 2 มุม
       
       ในมุมบวก จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินในต้นทุนที่ต่ำลง เงินฝากดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินกู้ดอกเบี้ยถูกลง เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคของไทยได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันการเงินของไทย ทำให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการได้อย่างมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข
       
       ในมุมลบ ถ้าแบงก์ไทยสู้ต่างชาติไม่ได้ก็อาจต้องเลิกกิจการ โดยธรรมชาติของกิจการต่างชาติการเข้ามาทำตลาดในต่างประเทศจำเป็นต้องพึ่งพา ฐานลูกค้าในประเทศนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการเข้ามาเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินท้องถิ่น ดังนั้นการจับมือกันร่วมธุรกิจกับสถาบันการเงินไทยจึงมีความเป็นไปได้มาก ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การครอบงำตลาดด้วยการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ การฮั้วก็เกิดขึ้นได้อยู่ดี โดยเป็นการจับมือกันระหว่างแบงก์ไทยกับต่างประเทศ
       
       สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อเกิดการครอบงำตลาดใหม่ หากรัฐบาลไทยจะเข้าไปแก้ไขในเรื่องนี้ก็จะไปติดเงื่อนไข TPP ที่ได้ตกลงกันไว้ ตรงนี้ต่างชาติสามารถฟ้องรัฐบาลไทยได้ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องเข้ามาดูแลให้ดี
       
       ส่วนด้านการขอให้เปิดเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ค่าเงินจะผันผวน ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ในเรื่องของเนื้อหาในการเจรจา

       FTA ตามใจฉัน
       
       รัฐบาลเป็นผู้นำประกาศจะเข้า TPP แสดงว่าต้องมีการพิจารณากันบ้างแล้ว ในคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจคุยอะไรกัน แนวโน้มได้มากกว่าเสียมีอะไรบ้าง ผลศึกษาเบื้องต้นที่กระทรวงพาณิชย์ทำไว้ ต้องเปิดเผยออกมา ข้ออ้างเรื่องตกขบวนหรือถ้าไม่เข้าไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกันนั้นไม่ น่าจะใช่เหตุผลที่ดี
       
       รายละเอียดของเรื่องนี้ต้องหารือกันอีกมาก ต้องรัดกุมและยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มก็ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ แม้เรื่องนี้จะไม่ต่างกับ FTA แต่ TPP เรียกว่าเป็น FTA ตามใจฉันมากกว่า
       
       เรื่องถึงอย่างไรก็ต้องเข้ามาตรา 190 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งประเทศสมาชิกอย่างนิวซีแลนด์ก็เริ่มมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
       
       เรามองว่าการที่ประเทศไทยตอบรับ TPP สหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นขึ้นมาทันที รัฐบาลไม่ควรผลีผลาม แค่แสดงความสนใจก็พอ โอบามาชนะเลือกตั้งเดินทางมาประเทศไทยก็ช่วยดึงภาพรัฐบาลขึ้นมากแล้ว นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไทยเป็นคนกลาง ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
       
       จ่ายค่ายาเพิ่มทุกคน
       
       วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การแสดงออกของนายกรัฐมนตรีของไทยเท่ากับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ ถือเป็นข้อผูกพันทางการเมือง แม้ว่าจะยังไม่มีการลงนามกันอย่างเป็นทางการ แต่แนวโน้มเชื่อว่ารัฐบาลทำ TPP ร่วมกับสหรัฐฯ แน่
       
       ประการสำคัญคือหากไทยเปิดกรอบการเจรจาไว้กว้างๆ ย่อมเท่ากับเปิดโอกาสให้สหรัฐฯเต็มที่ เรื่องนี้รัฐบาลควรปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ในทางปฏิบัติดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชน หากรัฐบาลดึงดันคงจะมีการชุมนุมคัดค้านในเรื่องนี้เหมือนกับปี 2549 อย่างแน่นอน
       
       นอกเหนือไปจากเรื่องของค่ายาที่จะแพงขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อตกลง TPP แล้ว คนมีรายได้น้อยจะเข้าถึงยาเหล่านี้ยากขึ้น เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือป่วยเรื้อรัง รวมถึงอาจทำให้เกิดภาระหนี้สินจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นกว่าเดิม
       
       สำหรับบ้านเราที่มีระบบประกันสังคมสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ค่ายาในส่วนนี้ก็จะเข้ามาบวกในสิทธิการรักษา เท่ากับเราต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ยาตัวเดิมสำหรับการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับค่า ยา ตรงนี้จะไปกระทบกับงบประมาณของรัฐบาลที่ต้องนำมาสนับสนุนในส่วนนี้
       
       รวมไปถึงกลุ่มคนที่แม้จะมีสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการของรัฐที่ ต้องการได้รับความสะดวกสบายมากกว่าด้วยการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกัน เมื่อราคายาปรับเพิ่มขึ้นโอกาสที่บริษัทประกันจะปรับค่าเบี้ยประกันขึ้นก็มี เช่นกัน
       
       ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวยังอาจรวมไปถึงเรื่องของสิทธิขาดในการศึกษา วิจัย รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพยา ตรงนี้เท่ากับเป็นการปิดกั้นโอกาสบริษัทยาของไทย ท้ายที่สุดอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยก็จะตายลง
       
       หายนะประเทศไทย
       
       ในส่วนของสิทธิบัตรด้านพรรณพืชนั้น ประเทศมหาอำนาจที่เดิมพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม ต่างหันมาจับสินค้าอาหารกันมากขึ้น หากปล่อยให้มีการนำข้อตกลงดังกล่าวมาบังคับใช้แล้วปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ยึดครองเท่ากับเป็นหายนะของประเทศ
       
       TPP ก่อให้เกิดการผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์พืช ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น ก่อนหน้านี้ต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์พืชอยู่ที่ 5-7% ของต้นทุนการผลิต และขยับขึ้นมาเรื่อยๆ ปัจจุบันอยู่ที่ 10-12% ทั้งๆ ที่ยังไม่มี TPP หากมีการทำข้อตกลงและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด หากใช้จริงๆ ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นไปถึง 30%
       
       นอกจากนี้สหรัฐฯ ผลักดันในเรื่องพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ด้วย พร้อมกำหนดให้ใช้สารเคมีของเขา รวมแล้วต้นทุนการผลิตจะเป็น 2 ใน 3 ไม่เพียงเท่านั้นอย่างกรณีมะละกอ GMO หากมีการส่งออกเกิน 1 ล้านเหรียญ จะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรอีก 35%
       
       “สิ่งที่จะเกิดขึ้นเกษตรกรแม้จะไม่ตาย แต่จะกลายเป็นผู้รับจ้างผลิต ถือว่าเป็นการขายชีวิตเกษตรกรและคนส่วนใหญ่ในประเทศ”
       
       อำนาจอธิปไตยหาย
       
       ประการสำคัญคือเรื่องของอำนาจอธิปไตยของไทย นั่นคือเมื่อรับข้อตกลง TPP แล้ว กฎหมายใดที่ขัดต่อข้อตกลงดังกล่าว จะต้องมีการแก้ไขอีกเป็นร้อยฉบับ นอกจากนี้ยังเท่ากับเป็นการละเมิดอำนาจของศาลไทย เพราะเมื่อเกิดกรณีพิพาทใด แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะแต่ไปขัดกับสัญญาหรือข้อ ตกลงที่มี ตรงนี้เอกชนจากต่างประเทศก็จะฟ้องรัฐบาลได้ โดยใช้กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้พิจารณา
       
       สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มทุนที่สนับสนุนของรัฐบาลแต่ละประเทศ
       
       ดังนั้น จากนี้ไปเรื่องการเข้าไปใช้กำลังทหารเพื่อยึดพื้นที่แล้วกอบโกยเอาทรัพยากร ไม่จำเป็นอีกต่อไป แค่ใช้ข้อตกลง TPP กับประเทศเป้าหมาย แค่นี้ก็ไม่ต่างกับการเข้าไปยึดครองประเทศในอดีต


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view