สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หวั่นศัตรูพืชระบาดซ้ำเติมภัยแล้ง เกษตรฯจี้จนท.เร่งรับมือเพลี้ยแป้งมัน-หนอนหัวดำ

จากประชาชาติธุรกิจ

พรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และประธานคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปีนี้ โดยปริมาณน้ำฝนปี 2555 ลดลงจากปี 2554 ถึง 18% โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนลดลง 29% ทำให้ต้องลดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งปีการผลิต 2555/56 ลงจาก 19.23 ล้านไร่ เหลือ 16.62 ล้านไร่แล้ว ทางกรมขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรระวังภัยศัตรูพืชที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมมาก ขึ้น ล่าสุดเพลี้ยแป้งที่ระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและหายไปในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง จึงขอให้เกษตรจังหวัด เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ดูแลและช่วยเหลือเกษตรกรด้วย นอกเหนือจากปัญหาภัยแล้ง

"เพลี้ย แป้งที่ระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังปี 2552-2553 เคยระบาดสูงถึง 1 ล้านไร่เศษ ตอนนี้กลับมาอีกแล้ว นอกจากนี้ศัตรูมะพร้าวก็ระบาดรุนแรงกินพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่"

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า จากการติดตามและปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ณ วันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 46 จังหวัด 9.26 ล้านไร่ พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง 1 จังหวัด คือที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา จำนวน 588 ไร่ พบในมันสำปะหลังอายุ 4-8 เดือน ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้ทุกจังหวัดแจ้งเตือนเกษตรกรสำรวจแปลงและเฝ้า ระวังอย่างต่อเนื่อง เช่น แนะนำเกษตรกรให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมเพลี้ยแป้งโดยการแช่ท่อนพันธุ์ด้วย สารเคมีก่อนปลูก รวมทั้งการปล่อยแตนเบียนและแมลงช้างปีกใส

โดยในช่วง วันที่ 1-7 พ.ย.ที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันปล่อยแตนเบียน 1.12 แสนคู่ สามารถควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพูได้ในพื้นที่ 2,258 ไร่ และปล่อยแมลงช้างปีกใส รวมการปล่อยสะสม 48,500 ตัว ควบคุมพื้นที่ระบาด 488.5 ไร่ ซึ่งผลจากการปล่อย ปริมาณเพลี้ยแป้งสีชมพูลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ระบาดในช่วงเดียวกันปี 2554

สำหรับศัตรู มะพร้าว ได้แก่ หนอนหัวดำ แมลงดำหนามและด้วงแรด พบพื้นที่ระบาดรวม 186,508 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 1.44 ล้านไร่ โดยพบหนอนหัวดำระบาด 88,960 ไร่ แยกเป็นระบาดรุนแรง 32,372 ไร่ ระดับปานกลาง 41,256 ไร่ และระดับน้อย 15,332 ไร่ รวมแล้วเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4,604 ไร่ ส่วนแมลงดำหนาม พื้นที่ระบาด 95,613 ไร่ แยกเป็นระดับรุนแรง 4,785 ไร่ ระดับปานกลาง 33,205 ไร่ ระดับน้อย 57,624 ไร่ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11,983 ไร่ ขณะที่ด้วงแรดพื้นที่การระบาด 1,935 ไร่ ซึ่งเป็นการทำลายในระดับน้อย และไม่พบการเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน

จังหวัดที่มีการระบาดของศัตรู มะพร้าวมากที่สุดของประเทศไทยและมีฝนตกน้อยที่สุดของประเทศไทย คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีฝนตกในปีนี้เพียง 800 กว่ามิลลิเมตร (อ.หัวหิน ฝนตก 600 กว่ามิลลิเมตร)

พบพื้นที่การระบาด 166,377 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 463,000 ไร่ โดยพบหนอนหัวดำระบาด 86,033 ไร่ ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 6,568 ไร่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่แนะนำพ่นเชื้อ Bacillus Thuringiensis (BT) และปล่อยแตนเบียนหนอนและแตนเบียนไข่ในพื้นที่ระบาด แต่แมลงดำหนาม พื้นที่ระบาดรวม 80,174 ไร่ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 14,267 ไร่ ขณะที่ด้วงแรด พื้นที่ระบาดในสัปดาห์นี้รวม 170 ไร่ ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view