สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวเลป่วยน้ำหนีบจำใจออกเรือดำน้ำลึก

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวเลเจอพิษ“น้ำหนีบ”แพทย์เผยปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 26 ราย ผจก.มูลนิธิชุมชนไทระบุเป็นผลกระทบจากนโยบายท่องเที่ยว

หลังจากพื้นที่ทะเลภาคใต้มีชุมชนชาวเลพื้นเมืองอาศัยอยู่ ได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์นั้น ชาวเลประสบปัญหาหลายด้าน เข่น เรื่องไร้กรรมสิทธิ์ครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินชุมชน การถูกไล่ที่จากภาคเอกชน รวมถึงการไม่สามารถออกเรือจับสัตว์น้ำในบริเวณอุทยานแห่งชาติฯ ได้ ทำให้ชาวเลหลายพื้นที่ต้องออกเรือไกลและลงน้ำลึกกว่าเดิม ซึ่งนอกจากต้องเพิ่งภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเรือแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกด้วย โดยที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคน้ำหนีบ ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน โครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายสนิม แซ่ซั่ว ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเล กล่าวว่า จากการที่ชุมชนชาวเลถูกคุกคามด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น ทำให้ชาวเลที่มีอาชีพออกเรือประมงไม่สามารถออกเรือในพื้นที่ต่ำที่ถูกประกาศ เป็นพื้นที่อุทยานฯ จึงจำเป็นต้องออกเรือเพื่อดำน้ำลึก ทำให้เกิดอาการป่วยน้ำหนีบ คือ อาการชาและปวดบริเวณกล้ามเนื้อแขน ขา ไขสันหลัง โดยบางรายได้ขึ้นมาจากน้ำได้ 10 นาที ก็เสียชีวิต ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านหลายรายพยายามต้องรู้และเข้าใจเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว เพิ่มมากขึ้น โดยมีคณะแพทย์ พยาบาลในพื้นที่ มาร่วมให้ความรู้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หลังจากชาวประมงในพื้นที่จ.ภูเก็ต ป่วยถึงขั้นพิการแล้ว 6 ราย

นางสาวหทัยรัตน์ ตันติพิศาลพงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการเวชศาสตร์ใต้น้ำ โรงพยาบาล (รพ.) วชิระภูเก็ต กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน ปัญหาโรคน้ำหนีบจะไม่มากเหมือนครั้งก่อนแต่ก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง โดยสถิติผู้ป่วยโรคน้ำหนีบที่มาพบแพทย์ในรพ.วชิระภูเก็ต ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2556 มีทั้งหมด 26 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มาจากหลายที่ ทั้ง จ.สตูล พังงา กระบี่ และภูเก็ต ขณะที่ปี 2555 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล โดยเสียชีวิตหลังจากขึ้นน้ำทะเลได้เพียง 10 นาที และคระแพทย์ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทัน

นางสาวหทัยรัตน์ กล่าวถึงอาการของโรคน้ำหนีบว่า  อาการของโรคนี้มี 2 แบบ คือแบบทั่วไปและแบบรุนแรง แบบทั่วไปมีอาการปวดหลัง ตัวชา เดินไม่ได้ บางรายอาเจียนและหน้ามืด ส่วนอาการรุนแรงคือ ปัสสาวะไม่ออก ปวดกระดูกรุนแรงทั้งตัว และอาจพิการท่อนล่าง โดยจากการซักประวัติของผู้ป่วย คือ มักจะดำน้ำลึกระหว่าง 30-50 เมตรด้วยตังเปล่า และมีการดำน้ำต่อเนื่อง รวมทั้งขึ้นจากน้ำเร็วกว่าปกติ ซึ่งการดำลักษณะนี้จะมีความลึกต่างจากการดำน้ำเพื่อสันทนาการแค่ 10-20 เมตร และมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเกิดโรคน้ำหนีบ คือ การดำลึกกว่า 18 เมตร

“ในการรักษาอาการของผู้ป่วยนั้น คือต้องใช้ออกซิเจนประมาณ 2-3 ครั้ง ในกรณีผู้ป่วยมีอาการทั่วไป แต่ในกรณีที่รุนแรง ก็อาจให้มากถึง 5 ครั้ง โดยผู้ป่วยต้องพักฟื้นและงดกิจกรรมดำน้ำนานถึง 1 เดือน ซึ่งชาวประมงที่ประสบปัญหาจะปฏิบัติไม่ค่อยได้ เพราะด้วยปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นทีมแพทย์ในรพ.จึงต้องประสานงานกับรพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลและอาสา สมัครหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้เพื่อป้องกันตัวจากโรคน้ำหนีบ โดยหลักการง่าย ๆ คือ เน้นการพักครึ่งน้ำและขึ้นจากน้ำช้า ๆ เพื่อดันฟองอากาศที่เป็นก๊าซไนโตรเจนออก เช่น ดำน้ำลึก 50 เมตร ต้องพักในระหว่าง 25 เมตร และพักอีกครั้ง 12.5 เมตร จึงค่อย ๆ ขึ้นมาจากน้ำ” นางสาวหทัยรัตน์ กล่าว

นายหมัด ประมงกิจ ผู้นำชาวเลชุมชนแหลมตง เกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ชาวเลต้องออกหาปลาในน้ำลึก เพราะไม่กล้าเสี่ยงตั้งไซ รอก ในบริเวณที่มีนักท่องเที่ยว อันเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติแอบตัดหรือทำลายเครื่องมือหาปลา ทำให้ชาวเลต้องเสียค่าใช่จ่ายในการซ่อมบำรุง หรือซื้อเครื่องมือใหม่ ซึ่งหลายคนฐานะยากจน ไม่สามารถซื้อได้บ่อย ประกอบกับการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติในบริเวณท่องเที่ยวด้วยแล้ว ชาวประมงจึงต้องระวังตัวมากขึ้น

นายสนั่น หาดวารี ชาวเลหมู่บ้านแหลมตง เกาะพีพี จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตนเลิกอาชีพออกเรือหาปลา มาตั้งแต่ปี 2543 แล้วหันมาขับเรือรับจ้างนักท่องเที่ยว เพราะไม่กล้าเสี่ยงชีวิตออกดำน้ำหาปลาในน้ำลึกได้อีก เพราะเคยป่วยเป็นโรคน้ำหนีบมาแล้ว รู้ดีว่าทรมานมากและไม่อยากกลับไปทำอาชีพหาปลาอีก ขณะที่ชาวเลในชุมชนเดียวกัน ก็ยกเลิกอาชีพดั้งเดิมเช่นเดียวกัน

นายสนั่นกล่าวเพิ่มเติมว่า ประมาณ 10 กว่าปีก่อน ชาวเลเคยหากินริมฝั่งได้อย่างสะดวกสบาย แต่พอความเจริญเข้ามาในพื้นที่ที่เคยทำกินกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ชาวเลต้องออกเรือไกลจากเดิมเกือบ 3 กิโลเมตร และต้องดำน้ำลึกกว่า 40-50 เมตร ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะหาปลาได้ดีกว่าเดิม เพราะน้ำลึกออกซิเจนน้อย ปลามีไม่มาก ค่าน้ำมันแพง จึงจำเป็นต้องวางมือจากอาชีพดังกล่าว

นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ปัญหาป่วยน้ำหนีบ เป็นตัวอย่างผลกระทบอีกด้านที่มาจากนโยบายการท่องเที่ยวเป็นตัวบีบบังคับ คือ หลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติฯ ที่มีทั้งรีสอร์ต โรงแรม และที่พักมากมาย พยายามจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พิจารณาได้จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ในอดีตนั้นพื้นที่ทำกินตามเกาะแก่งของชาวเลมีทั้งหมด 25 จุด ได้แก่ หาดราไวย์ และเกาะราชา รวมทั้งหน้าเกาะเฮ อ.เมือง จ.ภูเก็ต


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view