สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปิดฉาก 20 ปีสงครามกล้วยหอม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ใครจะคิดว่า"กล้วย"พืชหน้าตาธรรมดาๆในบ้านเรา จะจุดชนวนสงครามเศรษฐกิจได้ยืดเยื้อยาวนานถึง 20 ปี
เมื่อพูดถึง "กล้วย" สำหรับคนไทยและอีกหลายชาติบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว ไม่ได้ให้ความรู้สึกหวือหวาอะไร เพราะเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ขอกันทานได้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวลีติดปากว่า เรื่องกล้วยๆ หรือง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

แต่สำหรับในบางประเทศ ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง เรื่องกล้วยๆ นี่แหละ ที่เป็นชนวนสงครามเศรษฐกิจอันยืดเยื้อมายาวนานร่วม 20 ปี จนกลายเป็นข่าวที่สื่อใหญ่ระดับโลกทุกสำนักพร้อมใจกันนำเสนอแบบไม่ยอมตกข่าวกันเลยทีเดียว

ข่าวใหญ่แม้พื้นที่(ข่าว)จะเล็กที่ว่านี้ เผยแพร่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน โดยไล่หลังข่าวผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียง 1-2 วัน มีใจความสำคัญว่า สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา 10 ประเทศ บรรลุข้อตกลงการลงนามร่วมกันอย่างเป็นทางการ เพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า 8 คดี ที่ยื่นต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ย้อนประวัติศาสตร์เส้นทางการค้ากล้วยหอม ยุโรป นับว่าเป็นตลาดสำคัญของกล้วยหอม มีข้อมูลว่าคนในยุโรป รับประทานกล้วยหอมเฉลี่ย 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยมีแอนท์เวิร์ป ในเบลเยี่ยม เป็นเมืองท่าสำคัญที่นำเข้ากล้วยหอมมากที่สุดในโลกหลายล้านตันต่อปี

และแม้ความต้องการบริโภคกล้วยหอมของชาวยุโรปจะมีมหาศาล แต่สหภาพยุโรป ก็ยังเลือกเอื้อสิทธิประโยชน์ให้กับผลผลิตจากบางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแอฟริกา แคริเบียน และแปซิฟิค (ACP) จนทำให้ฟากอเมริกา กระแนะกระแหนว่า เป็นการเลือกให้สิทธิพิเศษกับอดีตประเทศในอาณานิคม และกีดกันประเทศอื่น ด้วยการกำหนดโควต้า และอัตราภาษีที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอียู ก็ให้เหตุผลว่า สหรัฐ ไม่เคยปลูกและส่งออกกล้วยหอม แต่บริษัทยักษ์ใหญ่มะกันทั้งหลาย ใช้วิธีจ้างแรงงานละตินอเมริกา ทั้งในประเทศโคลัมเบีย คอสตาริก้า ฮอนดูรัส และปานามา จนครองตลาดโลกมากกว่า 60% และเฉพาะ 3 บริษัทใหญ่ของสหรัฐก็ครองตลาดยุโรปไปแล้วครึ่งหนึ่ง ดังนั้น จึงเลือกที่จะช่วยเหลือประเทศผู้ผลิตกล้วยหอมซึ่งเป็นเกษตรกรขนาดเล็กและมีต้นทุนการผลิตสูง ครองตลาดในสัดส่วนตัวเลขหลักเดียว

ส่วนการบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่นำมาสู่การยุติข้อพิพาทประวัติศาสตร์ครั้งนี้ มีขึ้นหลังข้อตกร่วมกันของอียูเมื่อปี 2552 ที่ยอมรับให้มีการลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอย่างต่อเนื่อง 8 ปี สำหรับกล้วยที่นำเข้ามาจากละตินอเมริกา

บทสรุปครั้งนี้ ทำให้นายปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการ องค์การการค้าโลก ถึงกับเอ่ยปากว่า "เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view