สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฟผ.ยันระบายน้ำได้ตามแผน ขอเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด

จากประชาชาติธุรกิจ

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กฟผ. เพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ปี 2555/56 ซึ่งเริ่มต้นแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม ส่วนเขื่อนอื่นๆ จะเริ่มในเดือนธันวาคม 2555 และมกราคม 2556 แม้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนหรือน้ำใช้งานได้ในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่สามารถนำมาจัดสรรได้ตามแผนที่คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งกำหนด อย่างเหมาะสม

 

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่เป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ในปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จำนวน 8,612 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก แต่หากมองย้อนหลังไปจะเห็นว่าก็เคยมีบางปี เช่นปี 2552 ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนใกล้เคียงกับปีนี้ สำหรับการวางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างฯ ทั้งสอง คณะทำงานฯได้มองไกลไปถึงอนาคต เพื่อให้มีความมั่นคงในการใช้น้ำโดยไม่เกิดการขาดแคลน

 

อย่างไรก็ตาม ได้วางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2555/56 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555-30 เมษายน 2556 จากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จำนวน 6,800 ล้าน ลบ.ม. เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 600 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 600 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำที่ผันจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 1,000 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการจัดสรรในโครงการเจ้าพระยาใหญ่ทั้งหมด 9,000 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ 1,800 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่อการเกษตร 6,100 ล้าน ลบ.ม. สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทานได้ 7.5 ล้านไร่

 

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้เริ่มระบายน้ำช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1-8 พฤศจิกายน 2555 ไปแล้ว 248 ล้าน ลบ.ม. เป็นการระบายจากเขื่อนภูมิพล 138 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนสิริกิติ์ 111 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือปริมาณน้ำที่จะระบายตลอดช่วงฤดูแล้งอีก 6,552 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเขื่อนทั้งสองมีปริมาณน้ำต้นทุน 8,518 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของความจุใช้งานได้ เป็นน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพล 4,816 ล้าน ลบ.ม. และน้ำต้นทุนของเขื่อนสิริกิติ์ 3,702 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอกับความต้องการน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง

 

สำหรับเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตกจะเริ่มระบายน้ำ เพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งในเดือนมกราคม 2556 ซึ่งเขื่อนทั้งสองมีแผนการระบายน้ำ 7,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อพื้นที่ชลประทานโครงการแม่กลองใหญ่ และผันไปช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยปริมาณน้ำใช้งานได้ของเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ณ ปัจจุบันมีอยู่ 10,392 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 78 ของความจุใช้งานได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นปริมาณน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ 5,631 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนวชิราลงกรณ 4,761 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอกับความต้องการน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้

 

ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งน้ำให้กับโครงการชลประทานหนองหวาย จ.ขอนแก่น ปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก จึงทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยไปด้วย ปัจุบันเหลือปริมาณน้ำใช้งานได้เหลืออยู่เพียง 477 ล้าน ลบ.ม. แต่มีเพียงพอเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาลำน้ำอย่างแน่นอน เพราะในปีนี้โครงการชลประทานหนองหวายจะงดเว้นการทำนาปรัง

 

“เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำ กรมส่งเสริมการเกษตรประธานคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จะจัดประชุมชี้แจงแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2555/56 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 เพื่อชี้แจงการดำเนินการและรับฟังความคิดเห็น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมทั้ง กฟผ. ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น จะทำให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำมีความเข้าใจสถานการณ์น้ำในปีนี้ เพื่อร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรตลอดฤดูแล้งนี้ อย่างแน่นอน” นายกิตติกล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags :

view