สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กะเทาะ เมโทมิล สารกำจัดศัตรูพืช

จาก คมชัดลึกออนไลน์

กะเทาะ 'เมโทมิล' สารกำจัดศัตรูพืช ชาวสวนมะม่วงจี้รัฐเร่งขึ้นทะเบียน : รายงานเกษตร : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          ถึงแม้มะม่วงไทยจะได้รับการยอมรับในตลาดโลก มีมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีมูลมหาศาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเภทเมโทมิลได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในตลาดต่างแดน หลังกรมวิชาการเกษตรไม่ยอมขึ้นทะเบียน ทั้งที่เกษตรกรใช้สารเคมีตัวนี้มาอย่างยาวนานและยังได้รับการยืนยันจากวงการแพทย์ว่าไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ยกเว้นจงใจจะทำร้ายตนเอง

 

          ด้วยเหตุนี้ สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ร่วมกับสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.) ได้สัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ "ความเดือดร้อนของชาวสวนผลไม้เพื่อการส่งออกกระทบจากการระงับการขึ้นทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืชเมโทมิล" ระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากกรณีดังกล่าว

          มานพ แก้ววงษ์นุกูล นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ทำหนังสือไปยังกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้ทราบถึงความเดือดร้อนของชาวสวนมะม่วงที่กำลังประสบปัญหาสารเมโทมิลขาดตลาด เนื่องจากทางการยังไม่ขึ้นทะเบียนนำเข้าสารดังกล่าว ทั้งนี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้ตอบกลับมาว่ายังอยู่ในระหว่างการหาข้อมูลมาประกอบการขึ้นทะเบียนสารตัวนี้

          "สารเมโทมิล เป็นยากำจัดศัตรูพืชที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ได้ในตลาดส่งออกนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูงมากในการตรวจสอบสินค้านำเข้าก็ยังยอมรับสารตัวนี้ ขณะนี้ทางกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกกำลังเดือดร้อนและเป็นกังวลใจอย่างมาก เนื่องจากสารเมโทมิลเริ่มขาดแคลนและราคาก็ปรับสูงขึ้นส่งผลถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งไม่เฉพาะมะม่วงเท่านั้นรวมถึงผลไม้ส่งออกอื่นๆ ด้วย อาทิ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น ผมยืนยันว่าชาวสวนผลไม้ยังจำเป็นต้องใช้สารตัวนี้อยู่"

          นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย กล่าวต่อว่า การส่งออกมะม่วงของไทยไปตลาดต่างประเทศนั้นมีตลาดใหญ่อยู่ที่ญี่ปุ่น รองลงมาคือเวียดนามและเกาหลีใต้มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงมีความเข้มแข็งมาโดยตลอด ไม่เคยเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องการประกันราคาแต่อย่างใด แต่วันนี้ภาครัฐกำลังสร้างปัญหาให้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะม่วงและผลไม้ทั่วประเทศ

          "การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและผู้บริโภค และทางสมาคมจะนำผลสรุปในวันนี้เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เร่งทบทวนและหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป"

          ขณะที่ อภิชาติ จงสกุล เลขาธิการสำนักเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก การสร้างรายได้ให้แก่ประเทศและสภาวการณ์แข่งขันของประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนผลกระทบจากการเข้าสู่เออีซีของไทย โดยระบุว่ามูลค่าส่งออกผลไม้ของประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุดคือจีน ในขณะที่มะม่วงเป็นผลไม้ที่ส่งออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ36 ของผลไม้ทั้งหมด  

          "แหล่งผลิตมะม่วงที่สำคัญคือจีน ส่วนในอาเซียน มีไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และพม่า ดูจากตัวเลขปริมาณผลผลิตมะม่วง ปี 2549 มีจำนวน 3.3 ล้านตัน พอปี 2553 ขึ้นมาเป็น 3.8 ล้านตัน มีแต่เพิ่มขึ้นตลอด ผู้ผลิตรายใหญ่มีจีนและอินเดีย ส่วนไทยอันดับ 3 ฤดูกาลผลิตเราทราบกันดี ประเทศอื่นไม่มีทั้งปี มีแต่ไทยประเทศเดียวที่มีมะม่วงให้ผลผลิตตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงมีนายน-เมษายน มะม่วงจะให้ผลผลิตสูงสุด"

          เลขาธิการสศก.แจงรายละเอียดต่อว่าสำหรับผลไม้ในประเทศไทยมีแหล่งผลิตอยู่ทั่วประเทศ ภาคเหนือจะมี ลิ้นจี่ ลำไย อีสานมีสับปะรด มะม่วง ทุเรียนและ เงาะ ภาคตะวันออกเน้นทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง และลำไย ภาคกลางสับปะรด มะม่วงและลิ้นจี่และภาคใต้ ทุเรียน มังคุด เงาะและลองกอง ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาล แต่ผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทยและพื้นที่ปลูกมากที่สุดคือมะม่วง มีประมาณ 1.8 ล้านไร่ในปี 2550 จากนั้นปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น  2 ล้านไร่ รองลงมาคือ ลำไย ทุเรียน และสับปะรด   

          "มะม่วงส่งออก 1.3% บริโภคภายในประเทศ 97% แปรรูปแค่ 1% ชี้ให้เห็นว่ามะม่วงตลาดโลกต้องการมาก แต่ยังส่งออกน้อย ปัญหาการส่งผลไม้ไปต่างประเทศนั้นค่อนข้างมีปัญหาเยอะเพราะว่าเน่าเสียได้ง่าย การตรวจเข้มของประเทศคู่ค้า โดยผลไม้สด ตลาดจีนใหญ่สุด รองลงมาก็ฮ่องกง ส่วนผลไม้แปรรูปตลาดใหญ่คือสหรัฐอเมริกา รองลงมาเยอรมนีและรัสเซีย"

          อภิชาติยังให้ความสำคัญต่อตลาดอาเซียนค่อนข้างมาก เพราะเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน ที่สำคัญการคมนาคมขนส่งก็สะดวก โดยเฉพาะมะม่วงตลาดใหญ่ยังเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนร้อยละ 46 รองลงมาคือญี่ปุ่น โดยเฉพาะเวียดนามถือเป็นตลาดหลักที่สำคัญ เนื่องจากไม่มีการปลูกมะม่วง แต่ยังคงห่วงพม่า ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ถึงแม้รสชาติจะสู้มะม่วงไทยไม่ได้ แต่ก็มีจีนเป็นตลาดหลักมะม่วงพม่า

          ด้าน ผศ.ดร.โสภณ อุไรชื่น อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ยอมรับว่าเมโทมิลเป็นสารเคมีอันตรายสำหรับใช้กำจัดแมลง ซึ่งเป็นปัญหาในกระบวนการผลิตจะมีศัตรูพืชมารบกวน ทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามต้องการ เมื่อเกิดปัญหาสิ่งที่เกษตรกรแก้ไขก็จะหาทางกำจัดศัตรูพืชนั้นๆ ด้วยวิธีการใช้สารเคมีเป็นอันดับแรก

          "ท่านลองนึกว่าถ้าท่านปลูกมะม่วง มะม่วงติดช่อ มีจักจั่นมาจับช่อมะม่วงท่านคิดถึงอะไร จะใช้สารเคมีอะไร ท่านก็ใช้เมโทมิล เพราะเห็นผลทันที หลังติดช่อเรียบร้อยแล้วเริ่มมีผลขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มมีแมลงวันผลไม้มาเจาะไช ท่านก็ใช้สารเคมีอีก แม้จะมีหลายๆ วิธีที่ไม่ต้องใช้สารเคมีได้ เช่นใช้ถุงห่อผลมะม่วง แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าเราจะหยุดใช้สารเคมี เพราะสารเคมียังเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญที่จำเป็น"

          ผศ.ดร.โสภณย้ำด้วยว่า สิ่งที่ต้องคำนึงในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเริ่มจากความเหมาะสมกับพืชหรือผลไม้ชนิดนั้นๆ หรือไม่ มีความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้หรือไม่ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ มีสารตกค้างหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างเช่นตกต้างอยู่ในแหล่งน้ำหรือ ดิน ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุที่กรมวิชาการเกษตรยังไม่ยอมขึ้นทะเบียนสารเคมีชนิดนี้ก็น่าจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ด้วย  

          ส่วน นพ.วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยายอมรับว่าสารเมโทมิลจะมีผลกระทบต่อร่างกายในระยะฉับพลันเท่านั้น แต่ไม่มีผลในระยะยาว เนื่องจากเป็นสารเคมีที่สลายไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด แม้ว่าดูจากข้อมูลผู้ป่วยของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี พบว่าผู้ป่วยที่มีอัตราการตายสูงสุดมาจากสารเมโทมิลเทียบกับสารเคมีตัวอย่างอื่นๆ ก็ตาม

          "จากข้อมูลที่เราได้มาผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากสารเมโทมิลเป็นผู้ที่จงใจทำร้ายตัวเองแล้วรับประทานสารตัวนี้เข้าไป ไม่ใช่เกิดจากการเจ็บป่วยที่เกษตรกรนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ขอย้ำว่าเมโทมิเป็นสารที่ออกฤทธิ์เร็ว แต่ก็สลายไปเร็วเช่นเดียวกัน ถ้าผู้ป่วยดื่มสารเมโทมิลเข้าไปและได้รับการรักษาทันเวลาก็จะปลอดภัย โดยทั่วไปถ้าผ่าน 48 ชั่วโมงไปได้ถือว่าปลอดภัย" นพ.วินัยกล่าวทิ้งท้าย

          "เมโทมิล" แม้จะเป็นสารเคมีอันตราย แต่หากใช้อย่างถูกวิธีก็ไม่มีปัญหาและเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงใช้กันมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นสารเคมีที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร จนเกิดปัญหาในการส่งออกผลผลิตสู่ตลาดต่างประเทศนั่นเอง

----------

(หมายเหตุ : กะเทาะ 'เมโทมิล' สารกำจัดศัตรูพืช ชาวสวนมะม่วงจี้รัฐเร่งขึ้นทะเบียน : รายงานเกษตร : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ไม้,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags :

view