สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายปุ๋ยลดต้นทุน (1)

จาก คมชัดลึกออนไลน์

คมชัดลึก :ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ออกนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวควรจะมีมาตั้งนานแล้ว แต่ด้วยเหตุใดก็ตามทำให้สิ่งดีๆ เช่นนี้กลับถูกละเลยและมองข้ามมาเป็นเวลานาน
 เรื่องของเรื่องก็คือ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554  มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร พิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ เป็นต้น

 จนคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษซึ่งประชุมเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร สำหรับข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง และเรียกโครงการนี้สั้นๆ ว่า “โครงการปุ๋ยลดต้นทุน”

 ความจริงการกำหนดนโยบายดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นผลจากการสะสมองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยต่อเนื่องกว่า 12 ปี ของ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมงานอีกหลายคนจากหลายหน่วยงาน ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินผลงานที่เรียกชื่อสั้นๆ ว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” มาแล้ว
 
 เรื่องปุ๋ยสั่งตัด ก็คือการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีที่อิงตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ ชนิดของดินที่ปลูก พืชที่ปลูก และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้อิงอยู่บนค่าการวิเคราะห์ดินเพียงอย่างเดียวอย่างเช่นที่บางคนเข้าใจ
 
 นอกจากนี้ “ปุ๋ยสั่งตัด” ก็ไม่ใช่ชื่อยี่ห้อปุ๋ย หรือสูตรปุ๋ยเฉพาะที่สร้างขึ้นมา แต่เป็นกระบวนการให้ปุ๋ยตามคำแนะนำที่เกษตรกรสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรือโดยความช่วยเหลือของนักวิชาการหรือนักส่งเสริมก็ตาม
 
 ดังนั้นจึงมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าการใช้ปุ๋ยแบบเดิมที่ใช้วิธีการเดาสุ่มหรือใช้ตามความเชื่อ หรือตามคำแนะนำแบบกลางๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนักวิชาการทางด้านนี้มองว่าการใช้ปุ๋ยแบบเดิมเหมือนกับการตัดเสื้อโหล ไม่ได้มีการวัดขนาดมาก่อน หากเป็นเสื้อผ้าก็ไม่พอดีตัว หากเป็นเรื่องของปุ๋ยก็คงคล้ายกัน คือมักจะขาดๆ เกินๆ หลายครั้งจึงเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งนักวิจัยได้พิสูจน์มาแล้วในพื้นที่จริงหลายพื้นที่ที่มักจะพบว่าเกษตรกรใช้ปุ๋ยผิดสูตร ผลเสียที่ตามมาจึงมีหลายอย่าง

 ที่เห็นชัดอย่างแรกคือต้นทุนค่าปุ๋ยที่สูงเกินความจำเป็น โดยพืชไม่ได้รับประโยชน์จากปุ๋ยอย่างที่ควรจะเป็น เพราะกลายเป็นว่าได้ธาตุอาหารบางอย่างมากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจน จนกระทั่งก่อให้เกิดผลเสียคือหักล้มง่าย ผลผลิตต่ำ หรือเป็นโรคได้ง่าย และได้ธาตุอาหารบางอย่างน้อยเกินไป พืชก็เลยไม่โต ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ ทั้งๆ ที่บอกว่ามีการให้ปุ๋ยแล้ว แต่เป็นการให้ปุ๋ยผิดสูตร ก็เหมือนกับคน ที่ให้กินแต่ข้าวอย่างเดียว ซึ่งมีแต่คาร์โบไฮเดรตเป็นหลักแต่ไม่ให้โปรตีน ไขมัน วิตามิน และอื่นๆ

 ผลก็คืออ้วนอย่างเดียว แต่ไม่แข็งแรง และอาจถึงขั้นที่เรียกว่าอ้วนผิดปกติซึ่งก็หมายความว่าเป็นโรคนั่นเอง ต้นไม้ก็เหมือนกัน หากเราให้แต่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก ๆ จะเห็นว่าต้นและใบเขียวสวยงาม แต่ไม่ได้หมายความว่าต้นไม้นั้นแข็งแรง มีข้อสังเกตคือต้นไม้ที่ได้ไนโตรเจนมากๆ มีสีเขียวเข้มจริง แต่ อ่อนแอ หักล้มง่าย และเป็นโรคง่ายกว่า หากมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ปุ๋ยเสียใหม่ให้ถูกต้อง ต้นทุนอาจลดลง แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น นั่นคือที่มาของโครงการปุ๋ยลดต้นทุน

 คราวหน้าจะเล่ารายละเอียดให้ฟังเกี่ยวกับโครงการนี้ครับ

รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ

Tags :

view