สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รอยเตอร์ ถล่มนโยบายข้าว เพื่อไทย ระบุจะทำให้ไทยเสียแชมป์ส่งออก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ASTVผู้จัดการ – สำนักข่าวรอยเตอร์เสนอบทวิเคราะห์ระบุว่า ถ้า “พรรคเพื่อไทย” ชนะการเลือกตั้งในเดือนหน้า และเดินหน้านโยบายรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาตันละ 15,000 บาทตามที่ให้สัญญาไว้ในการหาเสียงขณะนี้แล้ว ในที่สุดก็กลับจะทำให้ไทยขายข้าวได้น้อยลง และสูญเสียตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกไปอย่างแน่นอน
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์บอกว่า พรรคเพื่อไทยกำลังรณรงค์หาเสียงจากเกษตรกร ด้วยการให้สัญญาว่าหากชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ก็จะออกนโยบายรับซื้อข้าวโดยตรงจากเกษตรกรในราคาตันละ 15,000 บาท ราคาดังกล่าวนี้สูงจากราคาตลาดในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ตันละ 8,000 บาทถึงราว 80% โดยที่พวกพ่อค้าข้าวชี้ว่า การทำตามนโยบายนี้อาจจะส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกของไทยพุ่งขึ้นลิ่วกลายเป็น ตันละ 870 ดอลลาร์ได้ทีเดียว จากระดับ 500 ดอลลาร์ในขณะนี้
       
       “นั่นจะนำไปสู่การล้มครืนในการส่งออกของไทย ยอดการส่งออกอาจจะต่ำลงมาเหลือเพียง 5 ล้านตันเท่านั้นในปีหน้า เนื่องจากเราย่อมไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้เมื่อตั้งราคาขายสูงถึง ระดับดังกล่าว” นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวแสดงความเห็นกับรอยเตอร์
       
       ประเทศไทยนั้นตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวปริมาณระหว่าง 9.0 ล้าน ถึง 9.5 ล้านตันในปีนี้ ถ้าหากยอดส่งออกหล่นลงมาอยู่ที่ 5.0 ล้านตันจริงๆ ก็จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากเวียดนามมีความสามารถที่จะส่งออกได้ 6.0 ล้านตันต่อปี
       
       โดยที่ในเวลานี้ ข้าวขาวชนิด 5% ของเวียดนาม เสนอขายอยู่ในระดับราคาตันละ 465 ดอลลาร์เท่านั้น
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชี้ว่า พวกพ่อค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าวต่างมองว่า ราคาข้าวในตลาดโลกน่าที่จะขยับสูงขึ้นอยู่แล้วในระยะไม่กี่เดือนถัดจากนี้ไป เนื่องจากมีอุปสงค์ใหม่ๆ จากจีนซึ่งเกิดภัยแล้งหนัก ขณะเดียวกันในหลายๆ ส่วนของสหรัฐฯและยุโรปก็เกิดภัยแล้งขึ้นมาเช่นกัน
       
       ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมของจีน ปริมาณฝนตกในบรรดามณฑลที่เป็นแหล่งปลูกข้าวของแดนมังกร ไม่ว่าจะเป็น อานฮุย, เจียงซู, หูหนาน, หูเป่ย, เจียงซี, เจ้อเจียง และมหานครเซี่ยงไฮ้ ล้วนอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับแต่ปี 1954 ถึงแม้เป็นที่คาดการณ์กันด้วยว่าน่าจะเกิดฝนตกหนักๆ ในเร็ววันนี้
       
       รอยเตอร์อ้างคำพูดของนายชูเกียรติที่ชี้ว่า เมื่อมีอุปสงค์ใหม่ๆ เช่นนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาข้าวในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น แต่แน่นอนว่าจะยังสูงไม่เท่าราคาข้าวไทยหลังถูกแทรกแซงจากรัฐบาลในกรณีที่ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง
       
       มิหนำซ้ำในตลาดโลกยังมีปัจจัยอื่นที่จะจำกัดไม่ให้ราคาข้าวขยับขึ้น ไปได้มากมายนักอีกด้วย เป็นต้นว่า อุปสงค์ของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในปีนี้จะต่ำลงกว่าปีก่อนๆ โดยที่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่กรุงมะนิลา ได้ออกมาพยากรณ์ว่าราคาข้าวในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปัจจุบันไป จนกระทั่งถึงปี 2012 เนื่องจากมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นจากการที่มีฝนตกมากในหลายๆ พื้นที่ รวมทั้งข้าวที่เก็บสต๊อกไว้ก็ยังมีจำนวนมาก
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชี้ว่า เมื่อเดือนเมษายน 2008 ข้าวชนิดที่ใช้เป็นราคาอ้างอิงของไทย มีราคาพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับตันละ 1,080 ดอลลาร์
       
       แต่นายชูเกียรติบอกว่า สถานการณ์เวลานี้แตกต่างจากในปี 2008 โดยที่ในตอนนั้นราคาตลาดโลกทะยานแรง เนื่องจากอินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าว ทำให้ซัปพลายในตลาดโลกลดลง บวกกับเกิดความตื่นตกใจเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร สืบเนื่องจากเกษตรกรได้หันเหจากการปลูกพืชผลที่ใช้เป็นอาหารไปมุ่งปลูกพืช เพื่อทำไบโอดีเซล
       
       รอยเตอร์ยังได้อ้างความเห็นของอารุป คุปตะ แห่งบริษัท ฟีนิกซ์ คอมโมดิตีส์ ที่กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไทยเข้าแทรกแซงราคาจนทำให้ข้าวไทยพุ่งสูงขึ้นแล้ว ราคาข้าวในแหล่งผลิตอื่นๆ ก็ย่อมขยับขึ้นไปด้วย เนื่องจากมีผู้ซื้อที่ผละจากไทยหันไปซื้อหาในแหล่งอื่นๆ มากขึ้น “ทว่าราคาในตลาดโลกจะไม่ขึ้นไปสูงเท่ากับราคาของไทย ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สถานการณ์จะไม่เหมือนกับในปี 2008 และผู้ซื้อก็มีความระมัดระวังรอบคอบมากกว่าเดิมด้วย” คุปตะบอก
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชี้ว่า อันที่จริงทางการไทยได้เข้าแทรกแซงตลาดข้าวมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ยากจน ทว่านโยบายเช่นนี้มีลักษณะในเชิงรุกเพิ่มขึ้นมากในยุครัฐบาลทักษิณตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โดยที่รัฐบาลของเขาเข้าซื้อข้าวจากเกษตรกรด้วยวิธีที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อเป็นการสร้างคะแนนิยม
       
       แม้กระทั่งในปี 2008 ตอนที่ราคาพุ่งทำสถิติสูงสุดตลอดกาล และเกษตรกรสามารถทำกำไรได้ในตลาดเปิดอยู่แล้ว รัฐบาลไทยเวลานั้นซึ่งเป็นฝ่ายนิยมทักษิณก็ยังคงเสนอรับซื้อข้าวจากเกษตรกร ในราคาตันละ 14,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด
       
       แผนการดังกล่าวได้ดูดเอาข้าวจำนวนราว 5 ล้านตันเข้ามาอยู่ในสต๊อกของรัฐบาล ซึ่งส่งผลเป็นการตัดลดซัปพลายที่จะไปอยู่ในมือของผู้ส่งออก จนทำให้พวกเขาไม่สามารถขายข้าวในตลาดโลกในจังหวะเวลาที่จะได้ราคาดีมาก
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ระบุว่า แผนการแทรกแซงในแบบของพรรคเพื่อไทยยังน่าจะประสบปัญหาประการอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในการใช้นโยบายทำนองนี้ในอดีต กล่าวคือ การซื้อข้าวจำนวนมากโดยตรงจากเกษตรกรจะทำให้ต้องเก็บข้าวเอาไว้ในสต๊อกเป็น จำนวนมาก และรัฐบาลจะพบว่าเป็นเรื่องลำบากที่จะปล่อยขายในราคาที่มีกำไร ในเวลาที่พวกชาติที่เป็นคู่แข่งต่างกำลังพยายามตัดราคาข้าวไทยอยู่
       
       รอยเตอร์ชี้ว่า ทางการไทยมีข้าวอยู่ในสต็อกสูงจนอยู่ในระดับ 7 ล้านตันในปี 2009 และกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาข้าวลดต่ำลงมา เนื่องจากทางการต้องดิ้นรนหาทางขายออกไปก่อนที่คุณภาพข้าวจะย่ำแย่หนัก
       
       “ถ้าพรรคเพื่อไทยขึ้นสู่อำนาจ แน่นอนทีเดียวที่ราคาจะขยับขึ้นไป และมันจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวขาวของไทย เนื่องจากพวกผู้ซื้อจะมีแหล่งอื่นๆ ให้เลือกซื้อเพื่อการนำเข้าข้าวขาวของพวกตน” รอยเตอร์อ้างคำพูดของหัวหน้าฝ่ายธุรกิจข้าว ณ บริษัทค้าธัญญาหารระหว่างประเทศแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ซึ่งขอสงวนนาม
       
       “พวกเขา(รัฐบาลพรรคเพื่อไทย) จะต้องดิ้นรนเพื่อขายข้าวขาวของไทย ทว่าถึงยังไงข้าวที่อยู่ในสต็อกรัฐบาลก็จะต้องกลับเข้ามาในตลาดในเวลาต่อไป โดยที่จะต้องขายกันด้วยราคาต่ำกว่าตอนจัดซื้อเนื่องจากกลายเป็นข้าวเก่าไป แล้ว รัฐบาลจะต้องขาดทุนสูญเงินแต่ก็จะต้องขายออกไป”
       
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้บอกกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลใหม่จะหาทางกระชับความร่วมมือให้มากขึ้นกับเวียดนามในเรื่องตลาดข้าว โดยอาจจะรวมกลุ่มกันทำนองเดียวกับโอเปกเพื่อส่งอิทธิพลต่อราคาข้าวในตลาดโลก
       
       “เราคุ้นเคยกับความร่วมมือชนิดนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเราขึ้นสู่อำนาจ เราจะกระชับเรื่องนี้ให้แข็งขันขึ้นอีก จนกระทั่งเราสามารถที่จะบริหารจัดการราคาในตลาดโลก เช่นเดียวกับบริหารจัดการซัปพลายด้วยกัน เราต่างก็เป็น 2 ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่แล้ว” นายคณวัฒน์กล่าว
       
       ถึงแม้บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์จะระบุว่า พวกพ่อค้าข้าวต่างสงสัยข้องใจว่าเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จได้ขนาดไหน เพราะแม้เริ่มต้นร่วมมือกันมาได้สักสิบปีแล้ว แต่ก็ยังแทบไม่มีผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน โดยที่เวียดนามยังคงเสนอขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าข้าวไทยเรื่อยมา

Tags :

view