สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝายนํ้ากอนบริหารจัดการนํ้าโดยประชาชน

จาก เดลินิวส์ออนไลน์
ลุ่มน้ำน่าน มีพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งสิ้น34,331 ตารางกิโลเมตร ครอบ คลุม 5 จังหวัดในตอนเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์  พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำสายหลัก ต้นกำเนิดอยู่ที่ ดอยภูแว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดน่าน มีความยาวตลอดลำน้ำ 615 กิโลเมตรยาวที่สุด ในบรรดาแควต้น น้ำเจ้าพระยาด้วยกัน
   
ลุ่มน้ำน่านถือเป็นอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำ น่านที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์   ทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมากมายมหาศาล สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านตอนล่าง และลุ่มเจ้าพระยาอย่างเป็นรูปธรรม  นอกจากนี้ในลุ่มน้ำน่านยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่เกิดขึ้น
   
ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางโครงการหนึ่งที่อยู่ห่างไกลความเจริญแต่ถือ ว่าเป็นแบบอย่างของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำขนาด
กลางโครงการหนึ่ง ที่มีระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิ ภาพและที่สำคัญบริหารโดยภาคประชาชนเกือบ 100% เจ้าหน้าที่กรมชลประทานเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น 
   
นั่นก็คือ โครงการฝายน้ำกอน ฝายน้ำกอนสร้างกั้นลำน้ำกอน ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำน่าน  อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2514 และระบบส่งน้ำสร้างแล้วเสร็จในปี 2522 ซึ่งแรก ๆ การบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด  ต่อมาก็ให้ประชาชนเข้ามาร่วมบริหารบ้าง แต่ยังไม่เป็นระบบ ปัญหาการใช้น้ำจึงสะสมเรื่อยมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งจะเกิดสงครามแย่งน้ำให้เห็นเสมอ
   
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรม ชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการฝายน้ำกอน แม้จะเป็นแค่ฝายน้ำล้นแต่สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ถึงมากกว่า 3,000 ไร่ในฤดูฝน และในฤดูแล้งไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี  เศรษฐกิจในชุมชนค่อนข้างดี
   
สำหรับระบบส่งน้ำของฝายน้ำกอนนั้นมีคลองส่งน้ำสายใหญ่ 1 สาย ระยะทาง 6,500เมตร และมีคลองซอยส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตร กรรมอีกจำนวน 11 สาย มีกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นกลุ่มพื้นฐานทั้งหมด 11 กลุ่มซึ่งแบ่งตามคลองซอยทั้ง 11 สาย และกลุ่มบริหาร 1 กลุ่ม โดยหัวหน้าของกลุ่มพื้นฐาน จะเป็นตัวแทนของกลุ่มอยู่ในคณะกรรมการของกลุ่มบริหารด้วย เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของฝายน้ำกอน โดยมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเป็นที่ปรึกษา
   
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยให้ผู้ใช้น้ำทั้งหมดมาบริหารจัดการน้ำกันเอง  กรมชลประทานก็จะแจ้งว่าในแต่ละปีนั้นจะสามารถส่งน้ำได้ในปริมาณมากน้อยแค่ ไหน  กลุ่มผู้ใช้น้ำก็จะวางแผนการใช้น้ำกันเอง  ทำให้ปัญหาการแย่งน้ำไม่เกิดขึ้นอีกเลย  แม้บางปีในช่วงฤดูแล้งจะมีน้ำไม่มากก็ตาม ชาวบ้านที่อยู่ต้นน้ำกับชาวบ้านที่อยู่ปลายน้ำได้ใช้น้ำเท่า ๆ กันทุกครอบครัว 
   
“การบริหารจัดการน้ำของฝายน้ำกอนในปัจจุบัน ดำเนินการโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำเกือบ 100% นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้แล้ว ยังทำให้ชาวบ้านรู้คุณค่าน้ำ ช่วยกันบำรุงรักษาทั้งฝายกั้นน้ำ  คลองส่งน้ำ  อาคารชลประทานต่าง ๆ ทำให้ฝายน้ำกอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในขณะนี้” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว.

Tags :

view