สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อนุรักษ์ดินและนํ้า..ลดเสี่ยงภัยพิบัติ

จาก เดลินิวส์ออนไลน์
ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศแปรปรวนบวกกับมีการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำมาเพื่อทำ การเกษตรอย่างมาก สภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ป่าไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับน้ำไว้ได้ ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลบ่าจากที่สูงลงสู่พื้นที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เกิดการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน ส่งผลให้เกิดปัญหาดินถล่มและน้ำท่วมตามมา อย่างเช่นพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรอย่างมาก กรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรดิน จึงได้เร่งให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยมีการลงพื้นที่ภาคใต้ มีการสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
   
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงความคืบหน้าในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย และดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ว่า ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินได้รับงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 25 ล้านบาท ได้เร่งเข้าไปฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยและดิน ถล่มในพื้นที่เร่งด่วนจำนวน  5,834 ไร่ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์
ธานี นครศรีธรรมราช และ กระบี่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบหนักที่สุด ในเบื้องต้นกรมฯ สามารถสำรวจจำแนกพื้นที่เสียหายออกเป็น 3 ส่วน เพื่อบริหารจัดการแก้ไข ดังนี้
   
1. พื้นที่เกิดดินถล่ม บริเวณเชิงเขาเนินเขา ที่มีความลาดชัน ซึ่งปลูกไม้ผล ยางพาราอยู่ เกิดการถล่มลงมาจนทำให้พืชผลเสียหาย กรมฯ จะเข้าดำเนินการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชดังกล่าวได้ใหม่ในฤดูกาลที่จะมาถึง
   
2. พื้นที่เศษซากวัสดุ เศษดินและหินทับถม เป็นพื้นที่เกษตรที่ถูกทับถมด้วยเศษซากวัสดุ เศษพืช ดินและก้อนหินขนาดใหญ่ การแก้ไขโดยทำการปรับเกลี่ยสภาพพื้นที่และจัดการเศษซากพืชและเศษหินออกจาก พื้นที่ทำการเกษตร
   
3. พื้นที่ตะกอนดินทับถมพื้นที่สวนไม้ผลและไม้ยืนต้น จะดำเนินการขุดลอกตะกอนดินทับถมไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และขุดร่องระบายน้ำ ทั้งนี้ กรมฯ ได้ตั้งเป้าดำเนินการตามแผนที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2554 เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกในรอบต่อไป
   
นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังมีภารกิจในการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา อุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง สงขลา และ สุราษฎร์ธานี รวมเนื้อที่ที่ต้องฟื้นฟูประมาณ 392,088 ไร่ ซึ่งจากการสำรวจความเสียหายคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการปรับปรุง ฟื้นฟูไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยกรมฯ ได้กำหนดแผนการฟื้นฟูปรับปรุงสภาพพื้นที่ โดยจัดหาวัสดุปรับปรุงฟื้นฟูบำรุงดินแจกจ่ายให้เกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคมนี้
   
นอกจากมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนแล้ว กรมพัฒนาที่ดินยังมีมาตรการในระยะยาว สำหรับป้องกันพื้นที่เสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มในปีต่อ ๆ ไป โดยการใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม พร้อมกับจัดระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่เสี่ยงรวมทั้งพื้นที่ที่เกิด ปัญหาในปีนี้ด้วย เนื่องจากระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำคือการจัดระบบการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางผังการใช้พื้นที่ทำการเกษตรตามหลักวิชาการ มีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น จัดทำเป็นขั้นบันไดดิน ปลูกหญ้าแฝกตามทางลาดเท เพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำ และมีการทำคันดินกั้นน้ำ คันดินเบนน้ำ ทำบ่อดักตะกอนดินทำให้น้ำไหลไปสู่แหล่งกักเก็บน้ำที่กำหนดไว้ ...
   
...ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถลดการไหลบ่าของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอย่างรวด เร็วอันจะก่อให้เกิดปัญหาดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้ดีแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งด้วย.

Tags :

view