สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับโครงสร้างสวนปาล์มน้ำมัน

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

ปาล์มน้ำมัน เป็นสินค้าเกษตรหนึ่งใน 23 รายการสินค้าอ่อนไหว ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีผลบังคับให้ประเทศไทยต้องยกเลิกโควตาและลดภาษีนำเข้าปาล์มน้ำมันและ น้ำมันปาล์มตามที่ผูกพันไว้เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ดังนั้น ถ้าเกษตรกรไทยไม่มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจจะสู้กับประเทศอื่นอย่างประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีศักยภาพการผลิตที่สูงกว่าค่อนข้างยาก โดยเฉพาะหากมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศเหล่านี้ที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามา แข่งขันกับน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ภายในประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 แสนครัวเรือน อีกทั้งกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าเกษตรที่ได้มีการวิเคราะห์ไว้ว่า จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้สามารถ แข่งขันกับประเทศอื่นได้ในยุคการค้าเสรี โดยอาศัยกลไกของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ หรือ กองทุน FTA ที่จะเข้ามาช่วยในการสนับสนุนเงินทุนในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร สนับสนุนปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกรให้สามารถสร้างโอกาสทางการแข่งขันได้ดี ยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังได้สนับสนุนด้านการถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลกองทุน FTA จึงพยายามหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้า เสรีอย่างเต็มที่ ล่าสุดได้จัดการสัมมนากองทุน FTA ทางรอด ทางเลือก สินค้าปาล์มน้ำมัน โดยได้เชิญตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตลอดจนชี้แจงแนวทางที่กองทุน FTA กำลังจะดำเนินการในด้าน การ ปลูกปาล์มพันธุ์ดีทดแทนสวนปาล์มเก่า

สวนปาล์มเก่าที่มีอายุกว่า 20 ปี ไม่เพียงแต่จะเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรเท่านั้น ยังให้ผลผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพันธุ์ปาล์มที่ใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังไม่มีคุณภาพ ดังนั้น กองทุน FTA จึงเตรียมสนับสนุน งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินการส่งเสริมปลูกปาล์มพันธุ์ดีทดแทนสวนปาล์มเก่า โดยมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 30,000 ไร่ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง และสตูล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกร เนื่องจากปาล์มน้ำมันจะให้ผลผลิตสูงในช่วงอายุ 8-12 ปี   หลังจากอายุ 15 ปีจะให้ผลผลิตลดลงต้นปาล์มมีความสูงยากในการเก็บเกี่ยว ทำให้ต้นทุนสูง ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วเมื่อต้นปาล์มมีอายุมากกว่า 20 ปี ควรตัดทิ้งเนื่องจากต้นปาล์มโทรมและให้ผลผลิตต่ำ อย่างไรก็ตาม จากการสัมมนาครั้งนี้เกษตรกรให้ความสนใจและมีการตอบรับในการเข้าร่วมโครงการ เป็นอย่างดี

...แม้ว่ากองทุน FTA จะมีหน้าที่ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้า เสรีก็ตาม แต่สิ่งที่อยากจะฝากถึงเกษตรกรคืออยากให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการรักษามาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยในส่วนของปาล์มน้ำมันนั้น ขอให้เกษตรกรตัดผลที่มีคุณภาพในช่วงที่เหมาะสม โดยเฉพาะควรให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 17% ขึ้นไป เพื่อให้ท่านสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ดี ไม่ถูกกดราคา อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน.

Tags :

view