สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฉายรังสีเพิ่มผลผลิต มะยงชิด

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ  (องค์การมหาชน) หรือ สทน.ประสบความสำเร็จ

ใน การทดลองใช้  “สารละลายไคโตซาน”  ที่ผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยการฉายรังสี มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับ มะยงชิด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของ จ.นครนายก  
   
ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธุ์ รองผู้อำนวยการ สทน. บอกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สทน. ได้ทำการทดลองฉีดพ่นสารละลายไคโตซาน ให้กับมะยงชิดจำนวน 5 ต้น ปรากฏว่าได้ผลผลิตในรุ่นที่ 1 ประมาณ 100 กิโลกรัม ในขณะที่มะยงชิด ที่ไม่ได้ฉีดพ่น จะไม่ได้ผลผลิตเลย
   
นอกจากช่วยเพิ่มผลผลิตแล้ว สาร ละลายไคโตซาน ยังส่งผลต่อคุณภาพของมะยงชิด ที่ต่างกันในเรื่องของรสชาติ ที่หวานกว่า เนื้อที่กรอบมากกว่า ไม่เละเหมือนมะยงชิดต้นที่ไม่ได้ฉีดพ่นสารละลายไคโตซาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสารละลายไคโตซาน ที่ผ่านการฉายรังสีว่าสามารถนำมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และปรับปรุงคุณภาพของมะยงชิดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง
   
“สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เตรียมนำเสนอผลงานนี้ ถ่ายทอดสู่เกษตรกรที่สนใจต่อไป ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการเกษตร จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี ขึ้นแก่เกษตรกรไทย”  ดร.สิรินาฏ กล่าว
   
ดร.ปรารถนา คิ้วสุวรรณ นักวิจัยจาก สทน. กล่าวเสริมว่า  งานวิจัยเรื่องสารละลายไคโตซาน ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตสารไคโตซาน ซึ่งมีคุณสมบัติเร่งการเจริญเติบโตของพืช ทั้งนี้สารดังกล่าวผลิตได้จากสัตว์ทะเล อาทิ  เปลือกกุ้ง กระดองปู  เปลือกหอย หรือ แกนปลาหมึก สิ่งเหล่านี้หากไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ก็จะกลายเป็นขยะไร้ค่า 
   
“นักวิจัย ได้ทำการลดขนาดโมเลกุล ของไคโตซานให้สั้นลง ด้วยวิธีการฉายรังสีแกรมมา แทนการใช้สารเคมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  เพื่อให้ได้สารเร่งการเจริญเติบโตของพืชที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  อีกทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่นำมาช่วยส่งเสริมชีวิต เกษตรกรให้ดีขึ้น”
      
ด้าน นางบังอร บุญอินทร์  ตัวแทนชาวสวนมะยงชิด ต.ดอนยอ อ.เมือง จ.นคร นายก เกษตรกรผู้เริ่มทดลองนำสารละลาย     ไคโตซาน ไปใช้ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ สทน. มีความตั้งใจจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรชาวสวนมะยงชิด เพราะมะยงชิดเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีราคาเฉลี่ย 100-300 บาทต่อกิโลกรัม โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวจังหวัดนครนายก เป็น อย่างมาก
   
“ตอนนี้บ้านไหน หากไม่ปลูกมะยงชิด ถือว่าเชย มีปลูกกันแทบทุกบ้าน เพราะมีตลาดรองรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำออกมาเท่าไหร่ขายหมด อย่างตัวฉันรับซื้อจากที่อื่นได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1.5 ตัน เต็มที่ไม่เกิน 2 ตัน หากลูกมะยงชิดสวย ๆ จะส่งไปขายที่มาเลเซีย กิโลกรัมละหลายร้อย แต่ถ้าลูกเล็ก ๆ มีตำหนิ จะส่งไปขายที่เขมร กิโลกรัมละ 20 บาท”
     
สำหรับมะยงชิดที่นครนายก มีจุดเด่นคือ ผลที่ใหญ่พอ ๆ กับไข่เป็ด จะติดผลปีหนึ่ง 3 รุ่น เวลาติด
ผลจะดกมาก และผลมีขนาดเสมอกันทุกพวง เวลานำไปชั่งกิโลขายจะอยู่ระหว่าง 10-12 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม รสชาติละมุนลิ้น ที่รสชาติหวาน หอม อร่อย เนื้อหนา เมล็ดลีบ เปลือกบาง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด บางครั้งถึงขนาดต้องสั่งจองกันข้ามปีเลยทีเดียว... 
   
...นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของประเทศไทยที่ต้องจดจารในประวัติศาสตร์  เมื่อคนไทยสามารถนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรเป็นผลสำเร็จ.

Tags :

view