สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปิดตำนานยางปักษ์ใต้ เต็กบี้ห้าง ทุนจีน จีเอ็มจีโกลบอล-จี.พี.แซนโตซา ซื้อกิจการ

จากประชาชาติธุรกิจ



ปิด ตำนานเต็กบี้ห้าง ของหลี เก็งเส็ง หลังทุนจีนจากสิงคโปร์ "จีเอ็มจี โกลบอล-จี.พี.แซนโตซา" เข้าซื้อกิจการแปรสภาพเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ วงการชี้ประสบปัญหาทางการเงินมานาน ทยอยปิดกิจการโรงยางสาขาในหลายจังหวัด สุดท้ายประกาศขายที่ดิน 16 แปลง หมดยุครุ่งเรือง ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ติด 1 ใน 10 ในอดีต

แหล่งข่าวในวงการค้ายางพาราเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในขณะนี้วงการผู้ค้ายางกำลังจับตาการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นของบริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ หรือเต็กบี้ห้าง (Teck Bee Hang) ผู้ผลิตส่งออกยางแท่งรายใหญ่ของนายหลี เก็งเส็ง กับกลุ่มทุนจีนใหม่ที่มาจากสิงคโปร์ โดยกระบวนการซื้อขายหุ้นได้เกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคมกับเดือนมกราคมที่ ผ่านมานี้ การตรวจสอบรายการในหนังสือรับรองจดทะบียน บริษัทล่าสุด พบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ ทุนจดทะเบียน 1,648,000,000 บาท ปรากฏชื่อผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา 2 รายด้วยกัน คือบริษัท จีเอ็มจี โกลบอล จำกัด สิงคโปร์ จำนวนหุ้น 80,752 หุ้น กับบริษัท จี.พี.แซนโตซา เอ็นเตอร์ไพรเซส จำนวนหุ้น 9,888 หุ้น ขณะที่หุ้นในสัดส่วนของนายเก็งเส็ง แซ่หลี หรือนายหลี เก็งเส็ง จำนวน 8,135 หุ้นหายไป รวมถึงการลดจำนวนหุ้นบริษัท เตียกกุน จากเดิมถืออยู่ที่ 128,200 หุ้น (77.7913%) ก็ลดลงเหลือ 69,653 หุ้น ส่วนบริษัท ลำฮั่ว ยังคงถืออยู่ในสัดส่วน 3,800 หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 100 หุ้น




ทั้ง นี้ จากการตรวจสอบบริษัท เตียกกุน กับบริษัท ลำฮั่ว พบว่าเป็นบริษัทของตระกูลหลี โดยบริษัทเตียกกุน มีที่ตั้งที่เดียวกันกับบริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ คือ 157 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทั้ง 2 บริษัท ล้วนมีนายหลี เก็งเส็ง เป็นผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท

สำหรับผลประกอบการล่าสุดที่บริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏปี 2551 บริษัทมีรายได้รวม 6,350,983,465 บาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขาย 6,258,029,236 บาท มีกำไรสุทธิ 5,381,411 บาท ส่วนปี 2552 บริษัทมีรายได้รวม 4,994,968,948 บาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขาย 5,233,129,636 บาท ขาดทุนสุทธิ 323,318,881 บาท

มีข้อน่าสังเกตในงบ แสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้นสิ้นสุด ณ เดือนธันวาคม 2552 ปรากฏรายการ ที่น่าสนใจ ก็คือการกู้ยืมเงินจากบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องจากบริษัท ลำฮั่ว 100 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนหน้านี้ก็มีการกู้ยืมจากบริษัทเดียวกันนี้อีก 60 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ ประสบปัญหาทางการเงินมาตลอด ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศขายที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ กับบริษัท ลำฮั่ว ประกอบไปด้วย 1) ที่ดิน จำนวน 24 ไร่ จ.จันทบุรี เป็นที่ว่างเปล่า 2) ที่ดิน จำนวน 45 ไร่ มีโรงยางตั้งอยู่ที่ ต.นาทราย จ.นครศรีธรรมราช 3) ที่ดิน จำนวน 1 ไร่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง มีโรงงานยางเลิกกิจการตั้งอยู่

4) ที่ดิน 83 ไร่ ต.บางรัก จ.ตรัง มี โรงยางเลิกกิจการตั้งอยู่ 5) ที่ดิน 29 ไร่ ต.ปากล่อ จ.ปัตตานี 6) ที่ดิน 12 ไร่ ถ.ระแงะมรรคา จ.นราธิวาส แจ้งเป็นที่อยู่อาศัย 7) ที่ดิน 231 ไร่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 8) ที่ดินว่างเปล่า 141 ไร่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 9) ที่ดิน 176 ไร่ จ.ชุมพร แจ้งเป็นโรงตากยาง 10) ที่ดิน 105 ไร่ จ.กระบี่ แจ้งเป็นที่ว่างเปล่า 11) ที่ดิน 21 ไร่ อ.ทับเที่ยง จ.ตรัง แจ้งเป็นโรงยางปิดกิจการ

12) ที่ดิน จำนวน 27 ไร่ จ.ยะลา แจ้งเป็นโรงยางปิดกิจการ 13) ที่ดิน จำนวน 5 ไร่ จ.ปัตตานี แจ้งเป็นโรงยางปิดกิจการ 14) ที่ดิน จำนวน 6 ไร่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แจ้งเป็นที่ ว่างเปล่า

15) ที่ดิน จำนวน 10+2 ไร่ ที่บางกะจะ แจ้งเป็นโรงยางปิดกิจการ และ 16) ที่ดิน จำนวน 2 ไร่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แจ้งเป็นที่ว่างเปล่า

ส่วนรายชื่อกรรมการบริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ แม้จะเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปแล้วก็ตาม ยังปรากฏกรรมการชุดเดิม ได้แก่นายหลี เฉือ เทา, นายเฉียน หมิง, นายโล คันยู, นายหม่า เต๋อ โหย่ว, นายเก่งบิ้น แซ่หลี, นายเก็งเส็ง แซ่หลี และนายซือหยาง แซ่หลี

Tags :

view