สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เบรกปลูกยางเฟสสาม 8 แสนไร่ ป.ป.ช.ดับฝันชาวสวน อีสาน-เหนือ เกษตรกร2.1แสนรายรอเก้อ

จากประชาชาติธุรกิจ

ป.ป.ช. ชงคณะรัฐมนตรีสั่ง "ชะลอ" โครงการปลูกยางพารา เฟสสาม 8 แสนไร่ แจงป้องกันการทุจริต ด้าน สกย.พร้อมสนองนโยบาย หวั่นเกษตรกรทั้งเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้กว่า 2.1 แสนราย ที่ลงทะเบียนขอรับการส่งเสริมได้รับผลกระทบหนัก เพราะเตรียมพื้นที่ปลูกรอล่วงหน้า



แหล่ง ข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพุธที่ 20 เมษายนนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา "ชะลอ" โครงการปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553-2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ก่อน

พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาทบทวนกระบวนการส่งเสริมการปลูกยางพารา และสรุปผลการปลูกยางพาราระยะที่ 2 ว่ามีปัญหาในเรื่องใดบ้าง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดปัญหายางตาย และการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ให้จัดทำข้อกำหนดการบริหารความเสี่ยงในการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น เพื่อป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการด้วย

ขณะเดียวกันในส่วนของ ความเดือดร้อนเสียหายของเกษตรกรเนื่องจากการตายของต้นยางอันเกิดจากภัย ธรรมชาติ ทั้งที่อยู่ในและนอกโครงการส่งเสริมฯ ระยะที่ 2 ป.ป.ช.เสนอให้รัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย ให้เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกันกับการตายของสวนยางอันเกิดจากภัยธรรมชาติอื่น ๆ เช่น อุทกภัย

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังเสนอให้นำงบประมาณที่จะใช้ในการส่งเสริมการปลูกยางมาใช้ศึกษาวิจัย เพื่อแก้ปัญหาสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควบคู่กับการพัฒนาการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร มากกว่า

กระทบเกษตรกร 2.1 แสนราย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สอบถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ได้รับการชี้แจงจากนายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ว่า สกย.เตรียมเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม ครม.แล้ว เนื่องจากโครงการดำเนินการคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว แต่ไม่ว่า ครม.จะให้ชะลอ หรือให้ดำเนินการต่อไป ในส่วนของ สกย.ไม่มีปัญหาอะไร เพราะปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามหากมีการชะลอโครงการจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่ลงทะเบียนขอรับ การสงเคราะห์ไปก่อนหน้านี้กว่า 2.1 แสนราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกกว่า 2 ล้านไร่อย่างแน่นอน รัฐบาลจึงต้องเตรียมชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจ

ชี้การเมืองแทรก-จ้องฮุบงบฯ

ขณะ ที่แหล่งข่าวในระดับปฏิบัติการของ สกย.เปิดเผยว่า ข้อเสนอ ป.ป.ช. เป็นเรื่องที่ควรรับฟัง เนื่องจาก ป.ป.ช. เกรงว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใสเหมือนกรณีโครงการกล้ายางล้านไร่ แต่หาก ครม.มีมติชะลอโครงการอาจมีปัญหาในแง่มวลชน เพราะเกษตรกรมีความตั้งใจในการปลูกยางพารามาก ที่สำคัญเกษตรกรบางส่วนได้เตรียมพื้นที่ปลูกไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันจะส่งผลต่อการดำเนินงานของ สกย.ด้วย เพราะต้องชะลอดำเนินการในบางขั้นตอนไว้ก่อน อาทิ การอบรบความรู้การปลูกยางพาราอย่างถูกวิธีให้แก่เกษตรกร

"ที่ผ่านมา สกย.ส่งเสริมการปลูกยางพาราต่อเนื่องมา 2 เฟสแล้ว ไม่เคยมีปัญหา เงินสงเคราะห์ถึงมือเกษตรกร เพราะมีระบบการตรวจสอบที่รัดกุม แต่ตอนนี้การเมืองเข้ามาแทรกแซงหนักมาก และมีความพยายามที่จะเข้ามาใช้งบฯส่วนอื่น เช่น งบฯสำหรับการประชาสัมพันธ์ และการฝึกอบรมเกษตรกร"

"หนองคาย-บึงกาฬ" อ่วมหนัก

ด้าน นายอุบล นาคฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า กรณีที่มีบางหน่วยงานออกมาคัดค้านให้ชะลอโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 นั้น หากมีการชะลอโครงการจริง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับผลกระทบแน่ เนื่องจากการปลูกยางพาราในภาคอีสานอย่างจังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ จะมีช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมอยู่เพียง 3 เดือน คือในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมเท่านั้น

เหตุผลหนึ่งที่ต้องการให้ชะลอ โครงการคือ ไม่เคยมีการวิจัยหรือวิเคราะห์ความเหมาะสมมาก่อนนั้น จริง ๆ แล้วไม่ถูกต้อง เพราะกรมวิชาการเกษตรได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยพื้นที่ในจังหวัดหนองคาย และบึงกาฬแล้ว ว่าพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดเหมาะสมในการปลูกยางพาราเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกยางไปแล้ว ทั้งที่ได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมโครงการและที่ลงทุนปลูกเองไม่น่าจะต่ำ กว่า 1 ล้านไร่แล้ว และเปิดกรีดได้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนไร่ สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละหลายล้านบาท

สำหรับการเปิดรับสมัคร เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 ในช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรในหนองคาย และบึงกาฬ สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก เกินโควตาที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 50,000 ไร่

นายกสวนยาง จ.เลย หนุนชะลอ

ขณะที่นายทรงศักดิ์ ประจงค์จัด นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดเลย เปิดเผยว่า หากมีการชะลอโครงการปลูกยางเฟส 3 ไปก่อน ตนเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะเกษตรกรบางส่วนยังไม่มีความรู้เต็มที่ ทั้งเรื่องพันธุ์ ปุ๋ย และการดูแลระยะยาว แม้บุคลากรของกองทุนสงเคราะห์ฯจะมีเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอและเข้าไม่ถึงพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้า ต้นยางมีปัญหากรีดไม่ได้

ทั้งนี้จากการสำรวจของทางราชการทราบมาว่า จังหวัดเลยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 7.4 แสนไร่ ในปีที่ผ่านมามีต้นยางพารายืนต้นตายกระจัดกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ กว่า 2 หมื่นไร่ ที่พบมากที่สุดคือพื้นที่อำเภอผาขาว วังสะพุง นาด้วง และอำเภอเมือง ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพาราที่มีอายุตั้ง 1-2 ปีจะตายมากที่สุด ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำและการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

ชี้ขายฝันชาวบ้าน-รัฐไม่พร้อม

นาย เพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างมากกับการให้ชะลอโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 ไปก่อน เนื่องจากมีความไม่พร้อมในการจัดการของหน่วยงานราชการและการเตรียมโครงการ ที่ผิดพลาดมาตั้งแต่แรก เป็นการขายฝันให้เกษตรกร

ล่าสุดวันนี้ (19 เม.ย.) ได้ทำหนังสือส่งไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อรายงานและชี้แจงข้อเท็จจริงในหลายส่วน อาทิ เรื่องพันธุ์ยาง การล็อกสเป็กให้กับบริษัทปุ๋ยรายหนึ่งที่จำหน่ายปุ๋ยในราคาสูงและมีคุณภาพ ไม่ผ่าน แต่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นต้น

แห่ขอรับส่งเสริม 2.1 แสนราย

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า โครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2554-2556 จำนวน 8 แสนไร่ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณรวม 4,000 ล้านบาท ดำเนินงานในปีแรกคือ ปี 2554 งบประมาณ 580.05 ล้านบาท

ความคืบหน้า โครงการขณะนี้ สกย.กำลังออกตรวจและรังวัดที่ดินเพื่อจัดสรรพื้นที่ให้แก่เกษตรกรที่ยื่นขอ รับการสงเคราะห์ โดยก่อนหน้านี้มีผู้สนใจยื่นขอรับการสงเคราะห์ทั้งสิ้น 219,382 ราย เนื้อที่ 2,014,554.39 ไร่ เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ 800,000 ไร่ ในเวลา 3 ปี แบ่งเป็นภาคใต้ 5,155 ราย 42,579.74 ไร่ ภาคตะวันออกและภาคกลาง 7,042 ราย 84,952 ไร่ ภาคเหนือ 29,216 ราย 251,368.66 ไร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 177,969 ราย 1,635,653.99 ไร่

Tags :

view