สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระวัง!...ปุ๋ย-เมล็ดพันธุ์พืชปลอม ซ้ำเติมเกษตรกรเหยื่อน้ำท่วมใต้

คมชัดลึก :สถานการณ์น้ำท่วมนอกฤดูกาลในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 7 แสนไร่นั้น ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่กลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่เริ่มกลับไปปรับสภาพพื้นที่การเกษตรของตัวเอง เพื่อปลูกพืชตามที่ตัวเองถนัด ขณะเดียวกันการที่เกษตรกรหันมาปลูกพืชแทนที่สูญเสียนั้น หลายฝ่ายต่างเป็นห่วงว่า อาจมีกลุ่มคนหรือกลุ่มมิจฉาชีพที่หวังจะซ้ำเติมเกษตรกรผู้ประสบด้วยหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ ที่ผ่านมามักมีกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะมาในหมาดนักบุญใจบาป คือสินค้าด้อยคุณภาพมาขายในราคาถูก โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องของเมล็ดพันธุ์พืช และปุ๋ยปลอม
  เรื่องนี้ นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่า ช่วงหลังน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้จะมีเกษตรกรตั้งหน้าตั้งตาฟื้นฟูพื้นที่เพื่อเพาะปลูกพืชใหม่ทดแทน จึงขอแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติ 2 เรื่องด้วยกัน คือ ให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนรีบไปแจ้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในเบื้องต้น อีกเรื่อง เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว ขอแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชระยะสั้นจำพวก ผักชี ผักบุ้งจีน คะน้า ผักกาด แตงกว่า ถั่ว เพื่อใช้บริโภคเอง หากเหลือสามารถนำไปขายได้

 อย่างไรก็ตาม ช่วงที่จะปลูกพืชใหม่ นายอรรถเตือนว่า ระวังจะถูกหลอกจากผู้ที่ไม่หวังดี อาจมาแอบอ้างว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการนำเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดถึงเท่าตัว ซึ่งบ้างครั้งจะเป็นเมล็ดพันธุ์หรือปุ๋ยด้อยคุณภาพ หรือของปลอมาขาย ฉะนั้นต้องหมั่นสังเกตให้ดี โดยเฉพาะปุ๋ยดูที่ฉลากทะเบียนกำกับของกรมวิชาการเกษตรรับรอง หากพบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ทันที เพราะถือว่ากระทำความผิด

 ด้าน นายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ปัญหาเมล็ดพันธุ์ปลอมในประเทศไทยมีตลอด เฉพาะข้าวโพดอย่างเดียว พบว่ามีเมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพปีละเป็นพันๆ ตัน ฉะนั้นเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมคิดจะจัดหาเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกทดแทนพืชที่ได้รับความเสียหายต้องสังเกตให้ดี เพราะหากมองอย่างผิวเผินไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นเมล็ดที่ด้อยคุณภาพหรือไม่ เกษตรกรต้องดูที่ภาชนะบรรจุภัณฑ์ว่ามีฉลาก พพ.(พันธุ์พืช) จะบอกถึงที่มา วันที่ผลิต บริษัทที่ผลิต ชัดเจน หากไม่มีข้อมูลใดๆ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า น่าจะเป็นเมล็ดที่ด้อยคุณภาพ อย่าซื้อ

 "เป็นไปไม่ได้เลยว่า จะขายเมล็ดพันธุ์ที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง เพราะการค้าเมล็ดพันธุ์มีกำไรไม่มากนัก หากเกษตรกรต้องการเมล็ดพันธุ์จริงๆ ควรจะไปซื้อตามร้านที่คุ้นเคย หรือเป็นร้านตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของแต่ละท้องถิ่น ถ้าจะให้ดีควรดูว่ามีป้ายสัญลักษณ์ของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยหรือไม่ หากมีถือว่าเป็นร้านที่สมาคมเรารับรอง ไม่ควรจะซื้อจากพ่อค้าหาบเร่ หากเจอเมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพต้องขาดทุนแน่นอน เพราะส่งผลต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของพืชด้วย" นายพาโชค กล่าว
 
 สอดคล้องกับ นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาปุ๋ยแท้ไปขายราคาที่ถูกกว่าถึง 50% เพราะการค้าปุ๋ยกำไรอะไรมากมาย ฉะนั้นหากมีคนนำไปเสนอขายปุ๋ยราคาถูกอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของพ่อค้าที่ฉวยโอกาสมาหลอกขายปุ๋ยปลอม ที่ผ่านมายอมรับว่า มีปุ๋ยเคมีปลอมระบาดทั่วประเทศ ที่สำคัญหากดูด้วยตาเปล่าไม่สามารถจะแยกแยะได้เลย สิ่งที่สังเกตคือสลากข้างบรรจุภัณฑ์ว่าผลิตที่โรงงานไหน ใครเป็นตัวแทนจำหน่าย มีการระบุธาตุอาหารที่ชัดเจน หากไม่รอบคอบอาจจะถูกหลอกได้

 "น้ำท่วมภาคใต้ พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 7 แสนไร่ การที่น้ำท่วมนานนั้นจะชะล้างปุ๋ยหน้าดินไปด้วย เกษตรกรต้องใช้เวลาฟื้นฟู ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะกรมพัฒนาที่ดินต้องตรวจดินว่า หลังจากน้ำท่วมแล้วที่ดินแต่ละแห่งขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง จากนั้นจึงจัดหาปุ๋ยมาทั้งปุ๋ยเคมีมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์" นายเปล่งศักดิ์ กล่าว

 นายเปล่งศักดิ์ ยืนยันว่า ปุ๋ยเคมีความจำเป็นในภาคเกษตร ไม่ได้เลวร้ายเหมือนกับบางคนเข้าใจ เพราะปุ๋ยเคมีเป็นธาตุอาหารสำหรับพืช แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธี และเหมาะสมกับสภาพของดิน สามารถใช้ร่วมกันกับปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพได้ ตามหลักสากลโลกที่ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษนั้น ไม่ได้แปลว่า จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีคือธาตุอาหารสำหรับพืช ที่ผลิตผ่านกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ใสที่โค่นต้น ไม่ได้ฉีดพ่นบนต้นเหมือนกับสารเคมีฆ่าศัตรูพืชแต่อย่างใด

 ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง สำหรับเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำในภาคใต้ในครั้ง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ "คม ชัด ลึก" เอง ก็จัดหน่วย "จิตอาสา คม ชัด ลึก" ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการที่จะช่วยเหลือ หากท่านใดประสงค์จะมีส่วนร่วม สอบถามได้ที่โทร.0-2338-3333 ต่อ 3335 และ 3349 

เรียนรู้การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกวิธี
 อย่างไรก็ตามต้องเรียนการใช้ปุ๋ยให้ถูกวิธี หรือต้องทราบข้อมูลอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ประโยชน์หรือโทษอย่างไร ทางสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย และสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาหัวข้อ “อนาคตปุ๋ยไทยใช้อย่างไรให้ยั่งยืน” ในวันที่ 28 เมษายน 2554 ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

 งานนี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเกษตรกรรม” นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการระดับดอกเตอเตอร์ที่คร่ำหวอดในวงการปุ๋ย และแกนนำเกษตรกร ร่วมเป็นวิทยากรด้วย

 ในภาคบ่ายจะมีการเสวนาเรื่อง “ปุ๋ยสั่งตัด...ประหยัดต้นทุน ?” โดยมี ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ นักปฏฐีวิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เจ้าแห่งความคิดเรื่องปุ๋ยสั่งตัดมาร่วมเสวนาด้วย ผู้ที่สนใจอยากทราบว่า ปุ๋ยสั่งติดคืออะไร ให้ประโยชน์กับเกษตรอย่างไร สอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่โทร.0-2940-5425-6 งานนี่ฟังฟรี มีอาหารว่างและมื้อเที่ยงด้วย

"ดลมนัส  กาเจ"

Tags :

view