สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พรทิวา เบรกปรับราคาปุ๋ยดันโครงการธงฟ้า1แสนตัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"พรทิวา" เบรกข้อเสนอขึ้นราคาปุ๋ย สั่งกรมการค้าภายใน อคส.หารือเกษตรฯนำเข้าเองผลิตปุ๋ยธงฟ้า 1 แสนตัน
  วานนี้ (7 เม.ย.) อนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ย ที่มี นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติให้ปรับราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตรา 10-35% และให้มีผลทันทีในวันที่ 8 เม.ย. แต่เมื่อผลการประชุมของอนุกรรมการส่งไปถึงนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีชะลอการปรับราคาเอาไว้ก่อน  นางพรทิวา กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามข้อเท็จจริงและหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากมีการอนุมัติให้ขึ้นราคาปุ๋ยเคมี โดยให้กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าปุ๋ยเคมีชะลอการปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีออกไปก่อน
  นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย จัดทำโครงการปุ๋ยธงฟ้าขึ้น จัดจำหน่ายปุ๋ยราคาถูกให้กับเกษตรกร เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรม
 รายงานข่าวกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า นางพรทิวาได้สั่งกรมการค้าภายในให้ชะลอการขึ้นราคาปุ๋ยออกไปก่อน และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ได้สั่งการให้กรมการภายใน องค์การคลังสินค้า (อคส.) หารือกับกรมวิชาการเกษตรและดึงกลุ่มสหกรณ์การเกษตรเข้ามาร่วม ในการจัดหาปุ๋ยนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยธงฟ้าช่วยเหลือเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายนำเข้า 1 แสนตัน ให้ทันกับฤดูกาลเพาะปลูกนี้ ซึ่งนางพรทิวาได้หารือเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกฯก็เห็นด้วยที่จะดำเนินการในมาตรการดังกล่าว
 นางวัชรี กล่าวว่า สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยยินดีให้ความร่วมมือจัดปุ๋ยเคมีเพื่อจำหน่ายตามโครงการปุ๋ยธงฟ้า จำนวน 1 แสนตัน โดยจะดำเนินการให้ทันกับความต้องการของเกษตรกรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกนี้
นายกฯเบรกปรับราคาจี้หารือครม.
 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงพาณิชย์มีมติให้ขึ้นราคาปุ๋ย ว่า ตนได้พูดคุยกับทางนางพรทิวา แล้ว หลังจากที่มีข่าวว่าจะขึ้นราคาปุ๋ย โดยตนให้นโยบายไปแล้วว่าหากจะขึ้นราคาจริง ต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ชัดเจน ซึ่งนางพรทิวาได้รับกลับไปพิจารณาแล้ว ส่วนจะมีการชะลอการขึ้นราคาได้ถึงเมื่อไหร่นั้นต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์เสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมาก่อน
 “นางพรทิวาชี้แจงว่าเท่าที่หารือกับสมาคมชาวนาไทยแล้วยืนยันว่าไม่มีปัญหา แต่ผมต้องการให้ ครม.ได้พิจารณาร่วมกันก่อนว่า มีมาตรการอะไรรองรับ และการขึ้นราคาปุ๋ยเป็นอย่างไร เพราะแต่ละสูตรปุ๋ยขึ้นราคาไม่เหมือนกัน”  ส่วนสาเหตุที่ราคาสินค้าต่างๆ ขยับสูงขึ้นในปัจจุบัน นายกฯ กล่าวว่า เป็นเพราะราคาต้นทุนทั่วโลกสูงขึ้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ อะไรที่เราสามารถบริหารได้ก็บริหารไป อย่างกรณีของน้ำมันดีเซลที่กองทุนน้ำมันยังให้การอุดหนุนอยู่ ซึ่งประมาณการว่าเงินในกองทุนขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 11,000 ล้านบาท เมื่อตัวเลขใกล้ตามที่กำหนดไว้ก็ต้องมาคุยกันอีกรอบว่าจะดำเนินการอย่างไรเพราะมาตรการดังกล่าวจะครบกำหนดในปลายเดือนเม.ย. และตนจะนัดหารือกับทางกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน
 เมื่อถามว่าจำเป็นจะต้องใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิตมาช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า เป็นทางเลือกหนึ่ง และมีอีกหลายทางเลือกที่รมว.คลังเตรียมแผนไว้ และตนคิดว่ายังมีความจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลต่อไป อย่างไรก็ตาม หากใช้มาตรการทางภาษีก็จะไม่กระทบต่อรายได้ของประเทศ เพราะขณะนี้การจัดเก็บรายได้เกินเป้าและเกินมากกว่าที่ตอนที่เสนองบกลางปี
เอกชนขู่งดนำเข้าแม่ปุ๋ยอ้างต้นทุนสูง
 นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผยว่า ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีของไทย คงต้องชะลอการนำเข้าแม่ปุ๋ยเข้ามา เนื่องจากประสบปัญหาภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากการชะลอไม่ให้ปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมี 4 สูตร ถือเป็นความจำเป็น เพราะแบกรับภาวะต้นทุนไม่ไหวทั้งๆ ที่ได้มีการตกลงกันในที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ยเคมีที่มีมติให้ปรับขึ้นปุ๋ยเคมี 4 สูตร ไปแล้วเฉลี่ย 10-35% แต่ช่วงบ่ายทางอธิบดีกรมการค้าภายในกลับโทรศัพท์อ้างคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ชะลอการปรับขึ้นราคาไปก่อน
อนุกรรมการเคาะขึ้นราคาปุ๋ย10-35%
 นางวัชรี  กล่าวหลังประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ย ว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้ปุ๋ยยูเรีย 4 สูตร ได้แก่ 46-0-0, 15-15-15, 16-20-0 และ 21-0-0 ปรับขึ้นราคาตั้งแต่ 10-35% ตามต้นทุนวัตถุดิบปุ๋ยยูเรียที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (8 เม.ย.) เป็นต้นไป
 สาเหตุที่ทำให้ต้องปรับเพิ่มราคาปุ๋ยยูเรียในครั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนแม่ปุ๋ยยูเรียนำเข้าสูงขึ้นต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น มีการปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้น และยังมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูก ทำให้หลายๆ ประเทศมีการใช้ปุ๋ยมากขึ้น
  “จากปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมด ได้ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยสูงขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ก็พบว่าสูงขึ้นจริง จึงอนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาได้ แต่การปรับขึ้นราคาให้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ให้ปรับขึ้นตามที่ผู้ประกอบการขอมา” นางวัชรี กล่าว
 สำหรับการปรับราคาปุ๋ยยูเรียทั้ง 4 สูตรนั้น ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ราคาขาย ณ โรงงาน ให้ปรับเพิ่มขึ้นจากตันละ 11,000 บาท หรือถุงละ 550 บาท เป็นตันละ 13,410-14,210 บาท หรือถุงละ 671-711 บาท
 ปุ๋ยยูเรีย สูตร 15-15-15 ราคาขาย ณ โรงงาน ให้ปรับเพิ่มขึ้นจากตันละ 14,000บาท หรือถุงละ 700บาท เป็นตันละ 15,671-16,342บาท หรือถุงละ 784-816บาท
 ปุ๋ยยูเรีย สูตร 16-20-0 ราคาขาย ณ โรงงาน ให้ปรับเพิ่มขึ้นจากตันละ 11,500 บาท หรือ ถุงละ 575 บาท เป็นตันละ 12,345-13,836 บาท หรือถุงละ 618-692 บาท
 ปุ๋ยยูเรีย สูตร 21-0-0 ราคาขาย ณ โรงงาน ให้ปรับเพิ่มขึ้นจากตันละ 6,000 บาท หรือถุง 300 บาท เป็นตันละ 7,139-8,000 บาท หรือถุงละ 357-400 บาท
 สำหรับสถานการณ์การใช้ปุ๋ยยูเรียของไทย ปุ๋ยสูตร 46-0-0 เป็นปุ๋ยที่มีการใช้มากที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้ปีละกว่า 2 ล้านตัน ส่วนปุ๋ยที่ใช้รองลงมา คือ สูตร 16-20-0 โดยปริมาณการใช้ปุ๋ยย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปี 2550 มีปริมาณการใช้รวม 4.3 ล้านตัน ปี 2551 ใช้ 3.7 ล้านตัน ปี 2552 ใช้ 3.7 ล้านตัน ปี 2553 ใช้ 5.1 ล้านตัน และปี 2554 คาดว่าจะใช้ 4.7 ล้านตัน

Tags :

view