สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกษตรกรต้นแบบ งดสารเคมี ปลอดโรคจากแปลงปลูกสู่โต๊ะอาหาร

จาก คมชัดลึกออนไลน์

คมชัดลึก : แม้รู้ทั้งรู้ว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ "ยาฆ่าแมลง" แทบทุกชนิดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย แต่ยังพบว่าในภาคการเกษตรยังมีการใช้อย่างต่อเนื่อง และนับวันยิ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานทางสถิติพบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีในปี 2552 ปริมาณเฉลี่ย 118,152 ตัน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2545 ปริมาณเฉลี่ยเพียง 39,634 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างกันถึง 78,518 ตัน จะเห็นว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอย่าง ชัดเจน
  ลุงเสส ใจดี เกษตรกร ต้นแบบฟาร์มตัวอย่างที่มีระบบผลิต GPA (Good Agricultural Practice) ที่เป็นระบบรับรอง "คุณภาพและความปลอดภัย" ของผลผลิต ผู้บริโภค ผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อมจากสารพิษที่ใช้ในขั้นตอนการผลิต จากโครงการความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) ด้านพืช ชนิดพืชทุเรียน ของ กระทรวงสาธารณสุข เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้พอมองเห็นภาพของความพยายามที่เกิดขึ้นใน โครงการ

 ลุงเสส เล่าว่า มีอาชีพปลูกทุเรียนอยู่ที่ ต.กองดิน อ.แกลง จ.ระยอง ในพื้นที่ 57 ไร่ แต่ก่อนก็มีการนำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้โดยตลอด ผลกำไรที่ได้จึงไม่ค่อยเหลือเพราะต้องเอาไปลงทุนไปกับค่าสารเคมี แถมสุขภาพร่างกายก็รู้สึกไม่ค่อยจะดีเพราะได้รับสารเคมีเป็นจำนวนมาก ตอนที่หน่วยงานของสาธารณสุขเข้ามาตรวจสุขภาพก็มักจะพบสารเคมีในร่างกาย และที่เกษตรอำเภอ กับเจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาตรวจสอบสารตกค้างในทุเรียนและ คุณภาพดิน ก็พบว่าทั้งในผลผลิตและในดินมีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย

 "ที่ผ่านมามีทั้งเกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เสนอแนวทางและให้ความรู้ในการทำเกษตรให้ ปลอดสารเคมีเพื่อที่จะได้เข้ามาตรฐานแก๊ป (GAP) โดยลดการใช้สารเคมีลงเรื่อยๆ แล้วหันมาใช้จุลินทรีย์ชีวภาพแทน เพื่อให้แน่ใจก็ส่งตัวอย่างผลผลิตให้แก่ อสม. หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้ชุดทดสอบตรวจหาสารตกค้างอีกที"

 เกษตรกร ต้นแบบคนเดิมระบุอีกว่า ปัจจุบันคุณภาพดินของที่นี่ดีขึ้นร่วนซุยเหมาะแก่การเพาะปลูกมากกว่าแต่ก่อน มาก ยิ่งก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1-2 เดือน จะไม่มีการใช้สารเคมี เพราะเป็นช่วงที่จะมีสารเคมีตกค้างอยู่ในผลผลิตมาก ผู้บริโภคที่ซื้อไปรับประทานก็จะไม่ปลอดภัย ตอนนี้สุขภาพร่างกายก็ดีขึ้นมาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาตรวจก็ไม่ปรากฏว่ามีสารเคมีในเลือดและในร่างกาย เหมือนเมื่อก่อน

 ด้าน ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่าทุกวันนี้ยังคงพบว่ามีการใช้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมาก โดยสารเคมีที่ชาวสวนใช้กันมาก ได้แก่ กลุ่มสารออร์กาโนฟอสเฟต ใช้ในการกำจัดแมลง ส่วนชาวไร่ใช้สารกลุ่มพาราควอท กำจัดวัชพืช เกษตรกร ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สารเคมี เช่น ขณะที่ฉีดพ่นไม่ได้ใช้เครื่องป้องกันเช่นแว่นตาป้องกันละอองสารเคมี บ้างก็ไม่ได้ใส่ถุงมือ และไม่ใช้ที่ปิดจมูก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่สารเคมีจะเข้าสู่ร่างกาย

 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และมีการดำเนินงานรณรงค์ เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภคได้ตระหนักถึงอันตรายและความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัด ศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 นี้ ได้ดำเนินโครงการ "เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส"

 โดยจะมุ่งรณรงค์การส่งเสริมสุขภาพเกษตรกร ให้ปลอดภัยจากการเจ็บป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเกษตร พร้อมตั้งเป้าให้บริการตรวจเลือดเกษตรกร 8.4 แสนคนทั่วประเทศ และเตรียมผลักดันให้การตรวจเลือดหาสารตกค้างในเลือดเกษตรกรบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย

"สุรัตน์ อัตตะ"

Tags :

view