สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร.ต.ต.อำนวย (ดาบนวย) หงษ์ทอง ชวนเที่ยวงาน มะปรางหวาน มะยงชิด นครนายก

จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

เทคโนโลยีการเกษตร

จิรวรรณ โรจนพรทิพย์

ร.ต.ต.อำนวย (ดาบนวย) หงษ์ทอง ชวนเที่ยวงาน มะปรางหวาน มะยงชิด นครนายก

ตั้งแต่ ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนเมษายน ตรงกับช่วงการจัดงานมะยงชิด มะปรางหวาน ของดีจังหวัดนครนายก หากใครมีโอกาสแวะผ่านจังหวัดนครนายกอย่าลืมแวะเลือกซื้อผลไม้ของดีของ จังหวัดนครนายก หรือใครสนใจเที่ยวสวน สัมผัสชีวิตชาวสวน ก็ขอแนะนำให้ติดต่อขอเยี่ยมชม "สวนนพรัตน์" ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ชุมชนบ้านดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

ร.ต.ต.อำนวย หงษ์ทอง หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ "ดาบนวย" ประธานคณะกรรมการบริหารชมรมชาวสวนมะปรางนครนายก เจ้าของสวนนพรัตน์ สะสมประสบการณ์ในการปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิดมายาวนานถึง 30 ปีแล้ว ปัจจุบันดาบนวยอายุเฉียด 60 ปีแล้ว เกิดและเติบโตภายในสวนมะปราง ตำบลดงละคร จังหวัดนครนายก เมื่อเรียนจบก็ไปบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจที่จังหวัดชลบุรีประมาณ 3 ปี ก็ได้ย้ายกลับมาประจำที่จังหวัดนครนายก ก็เริ่มสนใจทำสวนมะปรางเป็นรายได้เสริม ดาบนวยฟื้นความหลังให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ จำได้ว่า มะปรางพื้นเมืองที่มีขนาดลูกเล็ก รสชาติหวาน ขนาด 20-30 ลูก/กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 3-5 บาทเท่านั้น แต่เมื่อ 30 ปีก่อน ผมมีโอกาสซื้อมะปรางผลใหญ่ไปฝากผู้บังคับบัญชา ขายได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท เมื่อเทียบกับรายได้ตำรวจในขณะนั้น เพียงเดือนละ 700-800 บาท หากซื้อมะปราง 10 กิโลกรัม ก็เท่ากับหมดเงินเดือนไปครึ่งเดือน

ดาบ นวย บอกว่า ตนมั่นใจว่า อาชีพนี้จะสร้างรายได้ที่ดี ในช่วงปี พ.ศ. 2522-2523 จึงได้รวบรวมรายได้จากเงินเดือนและเงินกู้จากสหกรณ์ มาลงทุนซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 6,000 บาท สามารถปลูกมะปรางได้ จำนวน 10 ไร่ ในสมัยนั้น มีสวนที่ปลูกมะปรางหวานลูกใหญ่เพียงไม่กี่ราย ผมก็ขอผลมะปรางที่หล่นจากโคนต้นมาเพาะเมล็ด และอาศัยเทคนิคการทาบกิ่งจากสวนเกษตรกรที่มีมะปรางผลใหญ่ ลองผิดลองถูกกันไปเรื่อย มาได้ผลในปีที่ 3 หลังจากนั้นก็เริ่มคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีคุณภาพดีตามที่ต้องการ โดยขอซื้อกิ่งพันธุ์ ขนาด 50-80 เซนติเมตร จากเกษตรกรในราคากิ่งละ 200-300 บาท

เริ่มลงทุนปลูกมะปรางตอนแรกจำนวน 30 ต้น เพราะไม่มีทุนและยังไม่แน่ใจว่า ปลูกแล้วจะดีจริงหรือไม่ ปลูกไปแล้วก็เกิดปัญหาตามมาจริงๆ เพราะตำบลดงละคร มักเกิดประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี แหล่งน้ำหรือบ่อน้ำโบราณ จะมีเส้นรอบวงประมาณ 2 เมตร และต้องขุดลึกลงไปประมาณ 15 เมตร จึงจะเจอตาน้ำขึ้นมาใช้ได้ พอเราปั๊มน้ำขึ้นมาใช้จริงๆ เพียงแค่ 30 นาที น้ำก็หมดแล้ว น้ำก็ไม่พอ ทำไปก็มีปัญหา

ดาบนวยคิดว่า สวนมะปรางเนื้อที่ 10 ไร่ ควรมีสระน้ำสัก 3-4 ไร่ จึงตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณข้างเคียงไร่ละ 10,000 บาท และขุดหน้าดินไปขาย เมื่อหักลบรายจ่ายรายรับ ก็เท่ากับมูลค่าที่ดินใหม่ที่ซื้อมาใหม่ จึงเท่ากับได้ที่ดินมาฟรีๆ ปรากฏว่า ขุดดินแล้วรถแทร็กเตอร์ขึ้นมาไม่ได้ เพราะบ่อที่ขุดทั้งลึกและชันมาก จึงซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อให้รถเวียนขึ้นมาให้ได้ ปัจจุบันจึงมีสระน้ำอยู่หลังบ้านประมาณ 10 ไร่ สำหรับใช้เพาะปลูกมะปรางในสวนแห่งนี้

หลังจากปลูกมาได้สักพัก ราคามะปรางก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80-100 บาท ก็รู้สึกดีใจว่า จับทิศทางตลาดถูก ถึงแม้เรารับราชการก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะสามารถใช้วันหยุดช่วงเสาร์-อาทิตย์มาทำสวนได้ ผมก็ขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาทางจังหวัดเริ่มจัดงานโปรโมตสินค้ามะปราง สินค้าผมก็เริ่มขายได้แล้ว มีแม่ค้ามารับซื้อสินค้าถึงสวนเลย ผมเริ่มโปรโมตสินค้าโดยนำมะปรางลูกใหญ่ไปแจกกับผู้คนที่รู้จัก เมื่อพวกเขารู้จักสินค้าก็เริ่มสนใจอยากเข้ามาซื้อมะปรางถึงสวน ช่วงนั้นต้นยังไม่ใหญ่ ผลผลิตยังไม่มาก เฉลี่ยประมาณ 5-10 กิโลกรัม/ต้น

หลัง จากปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา มีชาวบ้านสนใจปลูกมะปราง ประมาณ 10 ราย สำนักงานเกษตรประจำจังหวัดเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของมะยงชิด-มะปราง จึงเริ่มจัดงานประกวดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ทำให้ประชาชนเริ่มรู้จักว่า นครนายกเป็นแหล่งเพาะปลูกมะปรางที่สำคัญ ความจริงโดยทั่วไปก็มีหลายจังหวัดที่ปลูกมะปรางพันธุ์พื้นเมือง แต่มีรสชาติอร่อยสู้ผลไม้เมืองนครนายกไม่ได้ ดาบนวยกล่าวว่า แม่ผมเชื่อว่า ผลไม้ประเภท กระท้อน ขนุน มะม่วง ที่ปลูกในพื้นที่ตำบลดงละคร จะมีรสชาติหวานกว่าปกติ เนื่องจากตำบลดงละคร มีระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่า 10 เมตรนั่นเอง ซึ่งดาบนวยก็มีความเชื่อเช่นเดียวกับคุณแม่ เพราะหากเปรียบปริมาณน้ำตาลในมะปรางที่ปลูกในพื้นที่ดงละครกับที่ดินท้องนา พบว่า มีความแตกต่างกันกันประมาณ 1-2 บริกซ์

ที่ผ่านมา ดาบนวยดำเนินนโยบายการตลาดในลักษณะแจกบ้าง ขายบ้าง สร้างรายได้เข้าสู่กระเป๋านับหลายแสนบาทต่อปี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบรายได้จากธุรกิจสวนมะปรางก็เท่ากับตัวเลขเงินเดือนข้า ราชการตำรวจตลอดทั้งปี ทำให้ดาบนวยเกิดแรงจูงใจที่จะขยายพื้นที่สวนมะปรางเพิ่มขึ้น โดยนำรายได้จากธุรกิจสวนมะปรางมาซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นทีละ 3-5 ไร่ อย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ สวนนพรัตน์ของดาบนวย มีพื้นที่ปลูกมะปรางอยู่ในตำบลดงละครประมาณ 50 ไร่ ปลูกต้นมะปราง-มะยงชิด รวมทั้งสิ้น 1,000 กว่าต้น โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นต้นมะยงชิด ที่เหลือร้อยละ 30 เป็นต้นมะปราง ปัจจุบันสวนแห่งนี้ มีมะปรางต้นใหญ่ อายุ 30 ปี จำนวน 30 ต้น นอกนั้น เป็นมะปราง อายุ 20 ปี ประมาณ 300-400 ต้น และต้นมะปรางอายุ 10 ปี อีกประมาณ 400-500 ต้น

ปัจจุบัน มะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์ ถือเป็นผลงานที่ดาบนวยมีความภาคภูมิใจมาก เพราะช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่สวนนพรัตน์ เพราะมะปรางพันธุ์ทั่วไปจะออกลูกในระยะ 3-5 ปี แต่เป็นมะปรางหวานพันธุ์นี้ มีจุดเด่น คือ ออกลูกง่าย แค่ใช้เวลาปลูกเพียง 2 ปีเท่านั้น ลักษณะผลยาวรี เมล็ดเล็ก ผลมีขนาดใหญ่เท่ากับมะยงชิด มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 10-12 ลูก/กิโลกรัม ความหวานประมาณ 19-20 บริกซ์ หากเปรียบเทียบกับมะปรางพันธุ์อื่นๆ แล้ว พบว่า มะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์ จะมีความหวานมากกว่า นอกจากนี้ยังมีความต้านทานโรคและแมลงได้ดี

ดาบ นวย เล่าว่า ตนก็ไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของมะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์ เพราะน้าชายเป็นผู้นำกิ่งพันธุ์มาให้ทดลองปลูกเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ขณะนี้ได้ปลูกและขยายพันธุ์ในสวนแห่งนี้ไปแล้วกว่า 350 ต้น ดาบนวยพึงพอใจกับมะปรางพันธุ์นี้มาก เพราะเมื่ออายุครบ 5 ปี ให้ผลผลิตดกทุกปี เฉลี่ยต้นละ 30-40 กิโลกรัม/ปี ดาบนวยจะคัดเกรดมะปรางพันธุ์นี้ เป็น 3 ขนาด และขายในราคาเดียวกับมะยงชิด คือ กิโลกรัมละ 100-150 บาท และ 200 บาท ดาบนวยเคยขายมะปรางทองนพรัตน์ผลใหญ่ในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 250 บาท

นอก จากนี้ ดาบนวยยังผลิตมะยงชิดคุณภาพดี พันธุ์ทูลเกล้าที่เป็นผลงานขึ้นชื่อของจังหวัดนครนายก และพันธุ์ชิตนพรัตน์ ที่เกิดจากการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ โดยคำว่า นพรัตน์ มาจากชื่อลูกชายดาบนวยนั่นเอง ปกติมะยงชิดทั่วไป ผลจะมีลักษณะทรงรี แต่มะยงชิดพันธุ์ชิตนพรัตน์ ผลจะมีลักษณะกลมใหญ่ และมีความหวานมากถึง 22 บริกซ์

ดาบนวย เล่าถึงเทคนิคการทาบกิ่งว่า สมัยก่อนเกษตรกรไม่รู้จักเทคนิคการทาบกิ่ง มักจะไปทาบกิ่งแก่ที่อยู่ด้านล่างจึงไม่ได้ผล แต่ผมโชคดี ได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการทาบกิ่งจากน้าชายว่า ต้องเลือกทาบกิ่งอ่อน เพื่อให้กิ่งพันธุ์มีการเจริญเติบโตที่ดี ที่ผ่านมา สวนมะปรางของผมจะสร้างนั่งร้านคลุมต้นมะปรางไว้ทั้งต้น เพื่อทาบกิ่งเฉพาะส่วนยอดเท่านั้น โดยทั่วไป ต้นมะปรางจะแตกยอดใหม่ทุกๆ 1-2 ปี สวนผมจึงทาบกิ่งทุกปี

ดาบนวย สังเกตว่า มะม่วงกับมะยงชิด มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน มะม่วงจะมีช่อดอกรุ่นเดียว แต่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มะยงชิดจะมีโอกาสแทงช่อถึง 3 รุ่นในต้นเดียว เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อากาศหนาวประมาณ 18-19 องศา ประมาณ 5 วัน หลังจากนั้นอากาศร้อนขึ้น ต้นมะยงชิดก็เริ่มแทงยอดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้ผลผลิตรุ่นแรกประมาณ 20% หลังจากนั้น เกิดปรากฏการณ์ซ้ำรอยเดิม อากาศคลายหนาวมาเจอร้อน ต้นมะยงชิดให้ผลผลิตรุ่น 2 ช่วงวันที่ 25 ธันวาคม และ รุ่น 3 เมื่อวันที่ 5 มกราคม คาดว่า ตลอดเดือนมีนาคมจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพราะมีผลผลิต รุ่น 2 และ รุ่น 3 เข้าสู่ตลาดห่างกันแค่ 12 วัน

สำหรับต้นมะยงชิด ที่มีอายุ 15 ปี จะมีผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 100 กิโลกรัม หากขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท จะมีรายได้เฉลี่ยต้นละ 15,000 บาท สมัยก่อนผมปลูกในอัตรา 6x6 ตารางเมตร เฉลี่ยไร่ละ 45 ต้น ระยะหลังผมเห็นว่า เป็นการปลูกที่หนาแน่นเกินไป จึงหันมาปลูกในอัตรา 8x8 ตารางเมตร เฉลี่ยไร่ละ 25 ต้น ผมเห็นว่า ปลูก 5-6 ปียังไม่รู้เรื่องเลย จึงหันมาปลูกเพิ่ม สับหว่างลงไปลักษณะเหมือนไฮโลลูก 5 จากเดิมไร่ละ 25 ต้น ก็เพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 50 ต้น ต้นมะยงชิดที่ปลูกชุดนี้มีอายุ 6 ปี มีจำนวน 100 กว่าต้น ให้ผลผลิตมาแล้วประมาณ 2-3 ปี ฤดูที่ผ่านมา เก็บผลผลิตขายได้แสนกว่าบาทแล้ว

ดาบนวย บอกว่า โดยทั่วไปสวนมะยงชิด-มะปรางหวาน ถือว่ามีต้นทุนการดูแลรักษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับสวนผลไม้อื่นๆ ต้นทุนการดูแลรักษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องปุ๋ย ค่าตัดหญ้า และมีค่าไฟฟ้าสำหรับรดน้ำต้นไม้ ประมาณปีละ 4-5 แสนบาท โดยทั่วไปสวนมะยงชิด-มะปรางหวานจะใช้ปุ๋ยยาน้อยมาก ช่วงที่แตกใบอ่อนจะใช้สารเคมีเป็นครั้งคราว ระยะที่ต้นมะยงชิดออกช่อในช่วงฤดูฝน จะฉีดสารเคมีป้องกันเพลี้ยไฟและเชื้อราประมาณ 2 ครั้ง

ดาบนวยเล็ง เห็นโอกาสทางการตลาดของมะยงชิดและมะปรางหวาน จึงได้ทยอยซื้อที่ดินสำหรับทำสวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ สวนมะยงชิดและมะปรางหวาน กระจายอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอแก่งคอย จำนวน 20 ไร่ อำเภอสาริกา 10 ไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อีก 20 ไร่ เนื่องจากดาบนวย สะสมประสบการณ์การทำสวนมะยงชิด-มะปรางหวานมานานกว่า 30 ปีจึงมีเกษตรกรมือใหม่แวะเวียนเข้ามาขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเพาะปลูกอย่าง สม่ำเสมอ ดาบนวยเล่าว่า ปัญหาที่เกษตรกรถามกันไม่รู้จบ ได้แก่ เทคนิคการให้ปุ๋ย เกษตรกรส่วนใหญ่มีความตั้งใจสูงในการทำสวนแต่ยังไม่เข้าใจหลักการธรรมชาติ พืชที่เริ่มปลูกใหม่ๆ เกษตรกรบางรายโหมใส่ปุ๋ยสูตรเสมอจำนวนมาก ประมาณครึ่งกิโลกรัม-1 กิโลกรัม ซึ่งพืชก็ตายได้ ผมก็ให้คำแนะนำไปว่า พืชที่ปลูกใหม่ ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยมาก แต่ควรให้ปุ๋ยทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ สำหรับปุ๋ย 1 กระสอบ สามารถแบ่งใส่ใต้ต้นได้ถึง 3 ครั้ง ทุกๆ 3-4 เดือน

ดาบนวย แนะนำว่า ปุ๋ยควรใช้ในระยะแต่งกิ่ง ช่วงระยะออกดอกออกผลจะใช้ปุ๋ย 8-24-24 เพื่อบำรุง ดอกผลให้มีสภาพสมบรูณ์ นอกจากนี้ ภายหลังการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน จะใช้ปุ๋ยขี้วัวจากสระบุรี และลพบุรี ปกติจะสั่งซื้อเป็นกระสอบครั้งละ 3,000 บาท นำปุ๋ยขี้วัวมาเทใต้ต้นมะยงชิด เฉลี่ยต้นละ 3 กระสอบ เมื่อคำนวณเป็นต้นทุนก็ถือว่าไม่แพง เพียงต้นละ 30-40 บาทเท่านั้น ส่วนปุ๋ยขี้ไก่ ชาวสวนส่วนใหญ่มักไม่นิยมใช้ เพราะเจ้าของฟาร์มไก่มักนำโซดาไฟมาใช้ล้างเล้าไก่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อต้นพืชได้

นอกจากนี้ เกษตรกรมักไม่เข้าใจเทคนิคการให้น้ำ บางรายซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกในช่วงฤดูฝน หวังอาศัยน้ำฝนจากเทวดาเลี้ยงต้นไม้นั้น นับเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด เพราะอาจมีฝนตกจริง แต่ไม่สามารถกำหนดปริมาณน้ำได้ ยิ่งปลูกในพื้นที่ลุ่มก็จะทำให้เกิดปัญหาดินแฉะ รากเน่าจนต้นไม้ตายได้ ระยะที่เหมาะสมสำหรับปลูกต้นมะยงชิดก็คือ ช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากสามารถกำหนดปริมาณน้ำและรักษาปริมาณความชื้นในดินได้อย่างสม่ำเสมอ ต้นไม้ก็จะไม่ตาย

คำถามไม่รู้จบที่เกษตรกรส่วนใหญ่สงสัยก็คือ เมื่อต้นมะยงชิดแทงช่อแล้ว ทำไมรดน้ำไม่ได้ ดาบนวยบอกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจว่า ไม่ควรรดน้ำระยะนี้ เพราะจะทำให้ช่อดอกร่วง แต่ความจริงกรณีช่อดอกร่วงเกิดจากปัญหาราน้ำค้าง เพลี้ยไฟ ไรแดง ทำให้ช่อดำ แห้งไปเลย ผมพิสูจน์แล้วว่า สามารถรดน้ำได้ตามปกติ ยิ่งรดน้ำต้นก็จะแทงช่อได้ดีขึ้น ช่อดอกยิ่งสมบูรณ์ไม่แห้ง ส่วนกรณีปัญหาช่อดอกร่วง ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาเชื้อรา ราน้ำค้าง เพลี้ยไฟ ไรแดง ทำให้ช่อดำ แห้งไปเลย การรดน้ำควรใช้ดุลยพินิจแต่พอประมาณ อย่ารดน้ำจนดินแฉะโดยเฉพาะช่วงแตกใบอ่อน หรือช่วงออกผล เพราะจะทำให้เกิดอาการใบร่วงและผลร่วงได้ เพราะธรรมชาติของต้นไม้ เมื่ออดน้ำมา 2-3 เดือน เมื่อได้น้ำ ต้นก็จะกระทุ้งมาออกใบ และทิ้งลูกหมด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องการปลูก บางรายได้รับคำแนะนำว่า ต้องขุดหลุมลึก 1 เมตร กว้าง 1 เมตรนั้น ดาบนวยกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์และเสี่ยงทำให้ต้นไม้ตายได้ เพราะ โดยทั่วไปกิ่งพันธุ์มะปราง สูง 80 เซนติเมตร เพราะขุดหลุมลึก เมื่อใส่ต้นไม้ไปแล้วใช้ดินกลบ ก็เท่ากับ 40 เซนติเมตร ทำให้รอยแผลทาบกิ่งถูกฝังดินด้วยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเชื้อรา เน่าตายได้ง่ายขึ้น ความจริงรอยแผลทาบกิ่งต้องอยู่เหนือผิวดิน ดังนั้นขุดดินลึกเพียง 50x50 ก็เพียงพอแล้ว

ดาบนวยยืนยันว่า ธุรกิจสวนมะปรางหวาน-มะยงชิดถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก ใช้เงินลงทุนปลูกเพียง ไร่ละ 2 หมื่นบาท หากปลูก 5 ไร่ ก็ใช้เงินแค่แสนบาท จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 4 ปี เมื่อนำผลผลิตออกขาย หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้วเหลือผลกำไรก้อนโตถึง 70% ปัจจุบันถือได้ว่า เมืองไทยไม่มีผลไม้ชนิดไหนที่ขายได้ในราคาแพงขนาดนี้ หากปีใดผลผลิตเข้าสู่ตลาดมาก เกษตรกรยังขายมะปรางหวานได้ในราคากิโลกรัมละ100 กว่าบาท แถมไม่ต้องยุ่งยากในการคัดขนาด และมีแม่ค้าจากตลาด อ.ต.ก. มารับซื้อผลผลิตถึงสวน ลูกเล็ก-ลูกใหญ่ซื้อในราคาเดียวกันหมด กิโลกรัมละ 200-220 บาท และไปขายปลีกในราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท นอกจากนี้ ผลผลิตบางส่วนก็ส่งออกไปจำหน่ายที่สหภาพยุโรป และมาเลเซีย ระยะหลังมักมีพ่อค้าจากมาเลเซียเข้ามาติดต่อซื้อมะยงชิด-มะปรางหวานในสวนดาบ นวยวันละ 2-3 รายทีเดียว

Tags :

view