สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คืนกล้วยไม้ รองเท้านารีอินทนนท์ สู่ธรรมชาติที่ขุนยวมกว่า 1ล้านต้น

คมชัดลึก :หลัง จากที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รับผิดชอบโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในภาค เหนือ (ขุนยวม) ปัจจุบันสะสมพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ถึง 564 กระถาง สามารถคืนกล้วยไม้รองเท้านารีสู่ธรรมชาติแล้วกว่า 1 ล้านต้น
   นายพิชิต สวยสุดยอด อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านหัวแม่สุริน ต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นผู้ดูแลและขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ในโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริในภาคเหนือ (ขุนยวม) บอกว่า โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้า นารีอินทนนท์ เกิดจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับ พล.ท.ยิ่งยศ โชติพิมาย สมัยที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 เมื่อปี 2536 ให้พิจารณาหาหนทางในการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ซึ่งเป็นกล้วยไม้ไทยที่หายาก เนื่องจากถูกลักลอบเก็บออกจากป่า ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จนกระทั่งกล้วยไม้รองเท้านารีใกล้สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทยแล้ว

 จากนั้นกองทัพภาคที่ 3 รับสนองพระราชดำริโดยส่งเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและพลเรือน เข้าสำรวจแหล่งกำเนิดกล้วยไม้รองเท้านารีทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าดอยแม่สุริน ต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งยังคงมีกล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์อินทนนท์ในแหล่งธรรมชาติจำนวนมาก จึงได้ตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้า นารีขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบโครงการตลอดจนอำนวยการ กระทั่งปี 2547 กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบโอนให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าดำเนินโครงการต่อ ปัจจุบันโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้า นารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริในภาคเหนือ (ขุนยวม) อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 "ที่ตรงนี้อยู่ที่สูงกระดับน้ำทะเลปานกลางราว 1,300 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 200 กว่าไร่ กล้วยไม้รองเท้านารีที่นี่จะออกดอกตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ดอกจะบานไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นกล้วยไม้ที่ ชอบอากาศหนาวเย็น การเจริญเติบโตช้า โตเต็มที่เมื่ออายุ 3.5 ปี จึงจะทำการขยายพันธุ์ โดยใช้วัสดุปลูกคือเปลือกของไม้ก่อ เพราะเป็นเปลือกไม้ที่ผุช้า ทนความชื้นได้นาน ทำการขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอเมื่อมีใบ จำนวน 2 ใบ นำไปอนุบาลไว้จนมีใบ 4 ใบ จึงนำไปปล่อยคืนสู่ป่า ขณะนี้ในโครงการ มีต้นพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 564 กระถาง ทำการขยายพันธุ์และนำคืนสู่ธรรมชาติแล้วประมาณ 1 ล้านต้น" นายพิชิต กล่าว

 นับเป็นหน่วยงานที่สร้างความหวังให้แก่คนไทยทั้งประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติได้ เพราะทุกวันนี้กล้วยไม้รองเท้านารีนับวันจะหายากมากขึ้น

Tags :

view