สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แปลง หมอดู พยากรณ์เพลี้ย แนวคิดชนะศัตรูมันสำปะหลัง

จาก คมชัดลึกออนไลน์

คมชัดลึก :ตลอด ระยะเวลาที่ผ่านมา เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังเป็นตัวมหันตภัยร้ายแรงที่คอยคุกคามและสร้างความ เสียหายให้แก่เกษตรกร แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่จะแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าได้เพียงบรรเทาระดับหนึ่งเท่านั้น ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้หาวิธีการป้องกัน โดยเน้นเกษตรกรช่วยเหลือตัวเองด้วยการใช้แปลงทดลอง ซึ่งคาดว่าจะได้ผลดี ทั้งนี้ จากคำยืนยันของ สุวรรณ สอนภู่ เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง หมู่ 6 ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ที่ใช้เป็นแปลงทดลอง ผลปรากฏว่า ลดความเสียหายได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
  จากปีที่ผ่านมา เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังต้อง ประสบกับภาวะเพลี้ยแป้งลงทำลายผลผลิตจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังนั้น ปี 2554 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยนายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรม จึงได้วางมาตรการรับมือกับเพลี้ยแป้งไว้ 5 แนวทางคือ 1.เฝ้าระวัง 2.แจ้งเตือนภัย 3.ควบคุมเพลี้ยแป้ง 4.ช่วยเหลือเยียวยา 5.ติดตามประเมินผล และหนึ่งในมาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรการต้นน้ำที่สำคัญก็คือ การเฝ้าระวัง และเพื่อให้การเฝ้าระวังเป็นรูปธรรมชัดเจน กรมจึงคิด แปลงติดตามสถานการณ์เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ขึ้นมา

 "เบื้องต้นกรมมอบหมายให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนจำนวน 572 ศูนย์ สมาชิกจำนวน 17,160 ราย ทั่วประเทศ สำรวจเพลี้ยแป้งในแปลงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยมีสมาชิกศูนย์ 1 ราย เป็นผู้สำรวจบันทึกข้อมูล รายละเอียดหลักๆ จะประกอบด้วย ชื่อเกษตรกรผู้บันทึก พื้นที่ปลูก พันธุ์ ระยะการเติบโต อุณหภูมิ ความชื่นสัมพัทธ์ ศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ" อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แจง

 ส่วนการประเมินผลพื้นที่ระบาดได้เชิญผู้นำชุมชน คณะกรรมการและสมาชิกศูนย์จัดการศัตรูพืช 10 ราย มาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการสำรวจในแปลงเกษตรกร 5-10 ราย เพื่อยืนยันข้อมูลที่ได้จากเกษตรกร และประเมินพื้นที่การระบาดโดยเฉลี่ยเป็นเปอร์เซ็นต์ หากพบ 1 จุด แสดงว่ามีการระบาด 10% หรือพบ 10 จุด แสดงว่าระบาด 100% ทั้งนี้ ให้ดูสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น ศัตรูธรรมชาติ สภาพแปลงข้างเคียง และนำผลการวิเคราะห์รายงานต่อสำนักงานเกษตรอำเภอทราบทุกสัปดาห์ หากพบการระบาดจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

 "การสำรวจแปลงติดตามสถานการณ์เพลี้ยแป้งจึงเปรียบเสมือน “หมอดู” พยากรณ์ให้ทราบล่วงหน้าถึงการระบาดของเพลี้ยว่ามีหรือไม่ ทำให้เกษตรกรและทางราชการเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที แก้ไขควบคุมไม่ให้ขยายวงระบาด นอกจากนั้นยังเป็นตัวชี้เป้าในการปล่อยแตนเบียนและแมลงช้างปีกใส เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้ง หากไม่ใช่จุดที่มีการระบาดจริงก็จะทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์"

 สุวรรณ สอนภู่ ซึ่งปลูกมันสำปะหลัง 50 ไร่ ถึงปีนี้เป็นปีที่ 14 ปัจจุบันผลผลิตมันสำปะหลังต่อ ไร่อยู่ที่ประมาณ 7 ตัน ซึ่งใช้แปลงทดลองดังกล่าว บอกว่า การใช้แปลงสำรวจมีความสำคัญมาก ทำให้รู้สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้ง สามารถฉีดยาจัดการกับเพลี้ยแป้งได้ทันท่วงที ไม่ให้ระบาดและสร้างความเสียหาย

 "ผมต้องย้อนไปในช่วงที่ยังไม่มีเพลี้ยแป้งระบาด เมื่อปี 2549 ตอนนั้นผลผลิตที่ อ.เสิงสาง เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ตันต่อไร่ พอเกิดเพลี้ยแป้งระบาด ช่วงปี 2550 บางไร่ก็ได้ผลผลิตอยู่ที่ 1-2 ตัน เราจึงต้องมีการเฝ้าระวังสำรวจไร่มันอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอาทิตย์ละครั้ง ถ้าอากาศร้อนหรือมีข่าวการระบาดก็ต้องดูถี่ขึ้น" สุวรรณ แจง

 วิธีการสำรวจแปลงมันสำปะหลังของ สุวรรณ เขาบอกว่า ให้นับจากชายแปลงมา 10 แถว แถวหนึ่งเดินหน้าสำรวจ 10 ต้น แปลงที่ 2 เดินหน้าสำรวจอีก 10 ต้น สำรวจไปจนครบ 10 แถว หากเจอเพลี้ยแป้ง 2-5 จุด แสดงว่ามีการระบาดแล้ว ก็จะนำยามาฉีดเพื่อกำจัดเพลี้ยเพื่อไม่ให้ระบาดต่อไปอีก

Tags :

view