สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เครือข่ายมะม่วง บนเส้นทางตลาดโลก...

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

 

มะม่วง เป็นหนึ่งในผลไม้ 6 ชนิด ที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้เกษตรกรเร่งพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขัน ได้ในตลาดโลก โดยเน้นให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงรวมกลุ่มผลิตทั้งในรูปกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายระหว่างกันซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการการผลิตสินค้ามะม่วง ตั้งแต่กระบวนการวางแผนการผลิต การพัฒนาจัดการธุรกิจ การสร้างเครือข่ายจนถึงการพัฒนาระบบรวบรวมและกระจายสินค้า ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายการผลิตเชื่อมโยงกับการตลาด และส่งเสริมการจัดทำ คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาตามเงื่อนไขสัญญาระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต กับผู้ซื้อ/ผู้ส่งออกด้วย

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายผู้ผลิตมะม่วงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย” มีเครือข่ายสมาชิกกว่า 60 กลุ่ม เกษตรกรไม่น้อยกว่า 10,000 รายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นและประสบผลสำเร็จ มาก นอกจากจะช่วยให้สมาชิกเครือข่ายได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ทางการ ค้าแล้ว สมาชิกยังได้รับทราบความเคลื่อนไหวทางการตลาด รวมถึงข้อมูลการส่งออก-นำเข้า ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อพัฒนาผลผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและเป็นไปตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก

ที่สำคัญเครือข่ายสมาชิกยังสามารถจัดสรรหรือแบ่งโควตาการผลิตสินค้า ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้ โดยสามารถวางแผนผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ ป้อนตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดปี

...และการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายยังช่วยเพิ่มโอกาสและสร้างอำนาจต่อรองทาง การค้า ทำให้เกษตรกรสมาชิกจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดี ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกกดราคา นอกจากนั้นยังช่วยลดช่องว่างทางการตลาดและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกร รายใหญ่กับเกษตรกรรายย่อยด้วย

“การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายผู้ผลิตสามารถช่วยให้เกษตรกรสมาชิกรู้เท่าทัน เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการผลักดันเข้าสู่ระบบ การรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม พร้อมเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกัน รวมถึงการรวบรวมผลผลิตและการคัดบรรจุ และเครือข่ายยังมีการช่วยเหลือและร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งจะมีโอกาสทางการตลาดสูงและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการผลิตแบบรายเดี่ยว” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
   
...อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตมะม่วงของตนเองให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ สินค้าต้องได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยตรงตามเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้า ทั้งยังต้องวางแผนการผลิตให้สอดรับและตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค พร้อมส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพให้ทันตามกำหนดเวลา เพื่อรักษาตลาดส่งออกเอาไว้ …
   
...ถือเป็นจุดแข็งที่จะช่วยเสริมสมรรถนะและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้ามะม่วงไทยในตลาดโลกได้.

Tags :

view