สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดตัววัคซีน ไข้เลือดออก จากเชื้อผสม 4 สายพันธุ์ครั้งแรกของโลก

เปิดตัววัคซีน “ไข้เลือดออก” จากเชื้อผสม 4 สายพันธุ์ครั้งแรกของโลก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี – เปิด ตัววัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจากเชื้อผสมไวรัสไข้เด็งกี่ 4 สายพันธุ์ ครั้งแรกของโลก ผลงานความร่วมมือ 3 หน่วยงาน สวทช.-มช.-มหิดล พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนไปพัฒนาวัคซีนต่อ
       
       ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.พูนสุข กีฬาแปง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ รศ.นพ.สุธี ยกส้าน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกัน ไข้เลือดออกครั้งแรกของโลก ตลอดจนการลงนามอนุญาตให้บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย รับสิทธิ์ในการรับไปพัฒนาต่อเป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้ในอนาคตอันใกล้
       
       ดร.วีระชัยเปิดเผยในรายละเอียดว่า ปัจจุบันการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นงานสำคัญที่มีผลต่อ การพัฒนา เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเมินความก้าวหน้าของประเทศในสายตานานาชาติ ยิ่งถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดด ยิ่งจำเป็นต้องใช้งานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถไปเพิ่ม ผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่สุด ที่ผมได้ให้นโยบายไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ ผมเน้นการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเต็มที่ อนาคตถัดจากนี้ประเทศไทยจะต้องหันมาให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้นเพราะจะ สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศและมนุษยชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการเกษตรและการแพทย์ ดังตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญในวันนี้คือการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อน ฤทธิ์ป้องกันโรคไข้เลือดออก
       
       สำหรับโรคไข้เลือดออกนี้ เริ่มอุบัติขึ้นมาในโลกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นได้แพร่กระจายไปทั่วแถบภูมิภาคเขตร้อน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และเมื่อปี 2501 ได้ระบาดเข้ามายังประเทศไทย จนปี พ.ศ. 2515 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย ในปี 2553 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยจำนวนกว่าหนึ่งแสนราย และเฉพาะเดือนมกราคมของปี 2554 มีผู้ป่วยแล้วประมาณ 1,200 ราย ซึ่งผมเชื่อว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงนี้ ต้องมีมากกว่าตัวเลขที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการอย่างแน่นอน รวมทั้งแนวโน้มการระบาดหรืออุบัติการณ์ของโรคน่าจะสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากโรคนี้มีแหล่งระบาดอยู่ในเมือง ซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นตามลำดับ การคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นทำให้เชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆแพร่กระจายได้อย่างกว้าง ขวาง รวมทั้งสถานการณ์ภาวะโลกร้อนซึ่งอาจทำให้ยุงมีจำนวนมากขึ้นในหลายๆ แห่ง
       
       โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งมีถึง 4 ชนิด เมื่อคนติดเชื้อไวรัสชนิดใดจะสามารถปกป้องไวรัสเฉพาะชนิดนั้นได้ตลอดชีวิต แต่ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อซ้ำโดยไวรัสเด็งกี่ชนิดอื่น และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดนี้ อาจทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้การพัฒนาวัคซีนป้องกันเด็งกี่เป็นไปด้วยความยาก ลำบาก ซึ่งนอกจากต้องสร้างวัคซีนให้ครบทุกชนิดแล้ว ยังต้องทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนมีระดับที่ใกล้เคียง กันด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมขณะนี้เราถึงยังไม่มีวัคซีนไข้เลือดออกใช้กัน แม้ว่าทั่วโลกจะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนมาแล้วกว่า 30 ปี
       
       สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การนำของ ศ.นพ. ณัฐ ภมรประวัติ เป็นผู้พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์เป็นรายแรก และต่อมามี รศ.นพ.สุธี ยกส้าน เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ ด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนาวัคซีนที่มีมานาน และความเชี่ยวชาญของ นพ.สุธี ที่ได้การยอมรับจากนานาชาติด้านไข้เลือดออก ร่วมกับความสามารถทางพันธุวิศวกรรมของ รศ.นพ. นพพร สิทธิสมบัติ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบกับการสนับสนุนด้านงบประมาณ รวมทั้งการบริหารจัดการและผลักดันงานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อให้เกิดวัคซีนลูกผสมทางพันธุวิศวกรรมชนิดเชื้อเป็นแต่อ่อนฤทธิ์อีก 1 ชุด ซึ่งบริษัทไบโอเนท-เอเชีย บริษัทของคนไทยได้ขอรับไปพัฒนาต่อเพื่อให้ประชาชนไทยจะได้มีวัคซีน ป้องกันโรคไข้เลือดออกใช้ในอนาคตอันใกล้ต่อไป
       
       ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต แม้จะยังไปได้ไม่เร็วเท่าอัตราของประเทศผู้นำด้านนี้ แต่งานวิจัยของไทยหลายอย่างก็ช่วยให้เราสามารถติดตามความก้าวหน้าต่างๆได้ อย่างเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของ สวทช.เองยังมองว่างานวิจัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในส่วนตัวอยากเห็นการลงทุนด้านนี้แม้ว่าจะต้องใช้เวลา ความอดทนสูงและรอจังหวะที่จะนำศักยภาพผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งบทบาททิศทางการดำเนินงานของ สวทช. ในปัจจุบันและอนาคตจะเน้นทั้งบทบาทวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่ และพัฒนาความรู้ที่ได้ ไปสร้างเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยจะรักษาสมดุลระหว่างการวิจัยและพัฒนานี้ไปด้วยกัน
       
       สำหรับความสำเร็จของการวิจัยและอนุญาตใช้สิทธิในการพัฒนาวัคซีนลูก ผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกันโรคไข้เลือดออกดังกล่าว จะสำเร็จขึ้นไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากทั้ง 3 ภาคส่วน คือ สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว เป็นการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาร่วมกันสร้างสรรค์งานวิจัยที่เป็น ประโยชน์ต่อการแพทย์และสาธารณสุข ลดอัตราการชีวิตของผู้ป่วยเด็กที่ได้รับเชื้อ อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงการควบคุม รักษาโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคตด้วย

Tags :

view