สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สาหร่ายไทยกว่า 40 สายพันธุ์พร้อมทำไบโอดีเซล คาดปี 58 ผลิตสู่ตลาดได้

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

วว.พัฒนาเทคนิคคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันแบบ รวดเร็ว พบ 40 สายพันธุ์พร้อมสกัดพัฒนาเป็นไบโอดีเซล ด้าน ปตท. ทุ่มทุน 140 ล้าน บ. ให้ วว.ผลิตเชื้อเพลิงสาหร่ายเชิงพาณิชย์ รมว.วท.คาดปี 58 ไบโอดีเซลสาหร่ายไหลเข้าสู่ตลาดได้ พร้อมรณรงค์ให้เปลี่ยนทัศนคติจากการใช้น้ำมันปิโตรเลียมมาใช้พลังงานทดแทน อย่างสาหร่ายที่เพาะใช้งานได้ทุก 14 วัน
       
       สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เปิดตัวโครงการ “มหัศจรรย์แห่งสาหร่าย...แหล่งพลังงานและอาหารเพื่ออนาคต” เมื่อวันที่ 11 ก.พ.53 ณ อาคารวิจัยและพัฒนา 1 เทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดย ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ทาง วว. กำลังศึกษาวิจัยหาทางนำสาหร่ายมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์
       
       "เนื่องจากสถานการณ์แหล่งปริมาณน้ำมันสำรองของโลกกำลังลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ ให้เพียงพอและรองรับสำหรับในอนาคต โดยนักวิจัยต่างก็ทราบกันดีว่า สาหร่ายบางชนิดนั้นสามารถให้น้ำมันได้ และน้ำมันจากสาหร่ายเหล่านี้ยังสามารถมาทำน้ำมันไบโอดีเซลได้อีกด้วย” รมว.วท. เผย
       
       ดร.วีระชัย อธิบายว่า วว.ได้คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของ ประเทศไทย โดยใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) เป็นเทคนิคของการใช้สีที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถย้อมน้ำมันได้ และเป็นสีที่เรืองแสง รวมทั้งเป็นวิธีการย้อมแบบเปิดผนังเซลล์สาหร่าย ทำให้สีที่ย้อมไปจับตัวกับน้ำมันในสาหร่ายได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อมองผ่านกล้องฟลูออเรสเซนต์ก็จะเห็นได้ชัดว่า สายพันธุ์ไหนมีน้ำมันมากน้อยแค่ไหน รูปแบบของเม็ดน้ำมันเป็นอย่างไร เพื่อง่ายต่อการศึกษาวิเคราะห์และวิจัย
       
       ทั้งนี้ เทคนิคดังกล่าวเป็นการคิดค้นที่สามารถดำเนินการคัดสาหร่ายได้เร็วขึ้น ถึงเดือนละประมาณ 50 สายพันธุ์ เมื่อเทียบจากวิธีดั้งเดิมที่สามารถคัดแยกสาหร่ายได้เพียงปีละประมาณ 100 สายพันธุ์ โดยค้นหาสายพันธุ์ที่มีน้ำมันในปริมาณที่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพื่อนำไปสกัด ซึ่งขณะนี้พบสายพันธุ์สาหร่ายที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันดังกล่าวแล้วกว่า 40 สายพันธุ์ จากกว่า 1,000 สายพันธุ์
       
       การคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายนั้น จะคัดเลือกจากคลังสาหร่ายของ วว. โดย นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. อธิบายว่า ทาง วว. นั้น มีคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและจีน โดยเก็บรักษาสายพันธุ์ที่แยกจากระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ และมีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100 – 10,000 ลิตร โดยการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในบ่อขยายกลางแจ้งใช้เวลาเพียง 14 วันเท่านั้น
       
       “โดยเทคนิคการเพาะเนื้อเยื่อและเพาะเลี้ยงสาหร่าย จะต้องมีการพัฒนาวิธีการในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเลี้ยงสาหร่ายนอก ธรรมชาติ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ในต้นทุนระดับต่ำ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ที่จะพัฒนาไปสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายผลิตน้ำมันในเชิงพาณิชย์อีกด้วย” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
       
       ทางด้าน ดร.กันย์ กังวานสายชล นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลงทางเลือก สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และผู้จัดการเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) อธิบายว่า ภายหลังที่ วว. คัดเลือกสายพันธุสาหร่ายที่ผลิตน้ำมัน และพัฒนาการเพาะเลี้ยงในระดับเชิงพาณิชย์กลางแจ้งแล้ว ในส่วนของน้ำมันที่ได้นั้น ปตท.จะนำน้ำมันที่สกัดได้ ไปวิเคราะห์คุณสมบัติเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง และพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความเหมาะสมต่อไป
       
       นอกจากนี้ ปตท. ยังได้สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 140 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) ระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ.2551-2558) โดยมีเป้าหมายเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 เหรียญต่อบาร์เรล
       
       อีกทั้ง ยังมีเป้าหมายเชิงเทคนิค ให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 6 ตันน้ำมันต่อไร่ต่อปี ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินต้นทุนการผลิตมวลสาหร่าย อยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง โดยมีปริมาณน้ำมันที่ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ของสาหร่ายแห้ง ซึ่งยังคงเป็นต้นทุนที่สูงอยู่
       
       อย่างไรก็ดี ดร.วีระชัย ได้ตั้งเป้าการทำการวิจัยและทดลองไว้ 7 ปี เพื่อให้การทำน้ำมันไบโอดีเซลจากสาหร่ายเป็นไปในเชิงรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปกว่า 2 ปี แล้ว และอนาคตจะนำสู่ตลาด ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเปลี่ยนทัศนคติมาใช้พลังงานทดแทน แทนน้ำมันปิโตรเลียมต่อไป
       
       “ถึงแม้ว่าน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้มาจากการสกัดออกมาจากสาหร่ายจะมี ราคาสูง เมื่อเทียบกับน้ำมันปิโตรเลียมที่ใช้แล้วก็หมดไป แต่น้ำมันไบโอดีเซลจากสาหร่ายเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสาหร่าย และนำมาผลิตเป็นน้ำมันได้ตลอดเวลา ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานชั้นยอด ที่มาจากฝีมือของคนไทยเป็นผู้คิดค้นเอง” ดร.วีระชัยกล่าว
       
       สาหร่ายนอกจากจะสามารถสกัดน้ำมันเป็นไบโอดีเซล แหล่งพลังงานชั้นยอดแล้ว ยังสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าและได้ประโยชน์อีกด้วย โดย รมว.วท. อธิบายว่า น้ำมันสาหร่ายสามารถนำไปเป็นอาหารเสริมในอนาคตได้อีกด้วย โดยสาหร่ายที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน เป็นคนละสายพันธุ์กับที่ให้น้ำมันทำอาหารเสริมสุขภาพ จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อราคาสาหร่ายที่นำมาเป็นอาหารอย่างแน่ นอน.

Tags :

view