สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมอดินเมืองปากน้ำโพ...พลิกผืนนาสร้างชีวิตใหม่

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

ปัจจุบันมี เกษตรกรจำนวนมาก ที่หันมาใส่ใจเรื่องการทำเกษตรแบบพึ่งพาสารอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้เปลี่ยนวิถีการผลิตมาสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ ก็เนื่องจากปัจจัยการผลิตจำพวกปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตรปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้สารเคมีมายาวนานนอกจากจะทำให้ดินเสื่อมโทรม เพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว สุขภาพของผู้ใช้เองก็มีปัญหา ที่สำคัญปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นโดยเลือกบริโภคสินค้าที่ ปลอดภัยจากสารพิษมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปลอดสารพิษสูงขึ้นตามไปด้วย

นายปรุง ขำสุ่ม เป็นเกษตรกรท่านหนึ่งที่ผ่านวิถีการทำนาโดยเน้นใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการ เกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มผลผลิต แต่ได้ผลในทางตรงข้ามคือผลผลิตไม่เพิ่มแถมยังมีต้นทุนสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเขามีพื้นที่ปลูกข้าวถึง 9 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวเพียง 300 ถัง จากนั้นจึงหันมาปลูกพืชผักเสริมแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งได้แนวคิดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากการฟังรายการเกษตรทางวิทยุที่แนะนำ ให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง เมื่อทดลองทำใช้ในนาข้าวก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของดินที่ดีขึ้น สุดท้ายจึงปรับผืนนามาทำไร่นาสวนผสมและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี

หลังจากนั้นเป็นต้นมา นายปรุง เริ่มมาใส่ใจเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น โดยได้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรด้านการพัฒนาที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินและได้ นำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมอดินอาสาประจำตำบล ซึ่งเขาเป็นคนมีความมุ่งมั่นและขยันหมั่นเพียรในการหาความรู้มาประยุกต์ใช้ ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนยึดวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่เกษตรของเขาจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่และละแวกใกล้เคียงเข้ามาศึกษาหาความ รู้ในศาสตร์การพัฒนาที่ดินที่ถูกต้อง

นายปรุง เล่าว่า พื้นที่ 9 ไร่ของศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มทำนาข้าวจำนวน 4 ไร่ โดยทำคันล้อมรอบแปลงมีทางระบายน้ำเข้าออกแปลง ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง ใช้ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ปรับปรุงดินด้วยการหมักและไถกลบตอซังทุกฤดูกาล  หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทำการปลูกปอเทืองและไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ใช้น้ำหมักชีวภาพ จากสารเร่งซูเปอร์ พด.2 โดยใช้วัตถุดิบจากเศษปลา และจากหน่อกล้วย  ได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ย  94 ถังต่อไร่ สำหรับสวนผสมผสาน จำนวน 5 ไร่ ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง น้อยหน่า ไผ่ตงหวาน แก้วมังกร ขนุน กล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม และเลี้ยงปลากินพืช  เช่น ปลานิล ปลาทับทิม
   
สำหรับกิจกรรมด้านการพัฒนาที่ดินที่ดำเนินการภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ได้แก่ การปลูกและขยายพันธุ์หญ้าแฝกในร่องสวน รวมทั้งการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดในแปลงนา และปลูกพืชแซมเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกขยายในการปลูกข้าวรอบ ถัดไป ผลิตสารขับไล่แมลงโดยใช้สารเร่ง พด.7  กับวัตถุดิบสมุนไพรท้องถิ่น ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซูเปอร์ พด.2 โดยใช้วัตถุดิบจากเศษปลา และหน่อกล้วย ผลิตปุ๋ยหมักด้วยสารเร่งซูเปอร์ พด.1 จากเปลือกและตอซังถั่ว รวมทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแปลงสาธิตปลูกพืชสมุนไพรท้องถิ่น เช่น  สบู่ต้น หางไหลแดง บอระเพ็ด ข่า ตะไคร้ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น กิจกรรมการหมักและไถกลบตอซังฟางข้าวในนาข้าวทุกฤดูกาลปลูก

ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่ทำขึ้นภายในศูนย์เรียนรู้การพัฒนา ที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก  เช่น ในนาข้าว สามารถลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีลงกว่าครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มรายได้ได้ดีขึ้น

...นี่คือตัวอย่างหนึ่งของเกษตรกรที่พลิกชีวิตจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโดยเน้นใช้สารเคมีทางการเกษตร มาเป็นวิถีการทำเกษตรผสมผสานและพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ จนประสบความสำเร็จมีความสุขกับชีวิตแบบพอเพียง หากท่านใดสนใจแนวทางการดำเนินชีวิตของนายปรุง ขำสุ่ม หมอดินอาสาประจำตำบลจันเสน ติดต่อได้ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง บ้านสันติสุข หมู่ 11  ต.จันเสน  อ.ตาคลี  จ.นครสวรรค์  โทร.08-9682-3205.

เพิ่มเติมข้อมูลได้ที่ bronze@hotmail.com

Tags :

view