สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขยายผลคัดแยกจุลินทรีย์ทนกรดสู่เกษตรกร

ขยายผลคัดแยกจุลินทรีย์ทนกรดสู่เกษตรกร

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นศูนย์รวมกำลังของเจ้าหน้าที่ด้านเกษตร สังคม และการส่งเสริมการศึกษามารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ความรู้ และช่วยอนุเคราะห์ด้านวิชาการแก่ประชาชน ในการประกอบอาชีพและพัฒนาตนเอง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งนี้มีเป้าหมายสำคัญด้านการวิจัยเพื่อปรับปรุงดินพรุ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมให้ได้มากที่สุด และมีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดครอบครัวแบบครบวงจร ในเรื่องยางพาราและปาล์มน้ำมัน อันเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ การดำเนินงานของโครงการเป็นไปในลักษณะผสมผสาน มีหน่วยงานที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริเป็นจำนวนมาก เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ฯลฯ
   
ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานพระราชดำริ เพื่อพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้ราษฎรได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้สานต่อพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามและเยี่ยมชมการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงประทับรถพ่วงพระที่นั่งทอดพระเนตรกิจกรรมภายในศูนย์ฯ
          
อาทิ แปลงนาข้าวและพืชผัก ซึ่งเป็นกิจกรรมการศึกษา ทดลองการใช้เชื้อจุลินทรีย์ในดินเปรี้ยวที่ได้จากแปลงแกล้งดิน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2527 ด้วยทรงแบ่งพื้นที่ดินเปรี้ยวในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองเป็น 6 แปลงย่อย แล้วทำการแกล้งดินในวิธีที่ต่างกัน พบว่าแปลงที่ 4 และแปลงที่ 6 มีพืชพรรณหลายชนิดเกิดขึ้น ต่อมาในปี 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ศึกษาวิจัยคัดแยกและคัดเลือกจุลินทรีย์ทนกรดในพื้นที่แปลง ที่ 4 และ 6 พบว่าสามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ได้ 8 กลุ่ม ปัจจุบันได้นำเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดมารวมเป็นจุลินทรีย์ผสม เรียกว่าปุ๋ยชีวภาพแล้วนำมาทดลองปลูกข้าว ข้าวโพดหวาน และผักคะน้า พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี ช่วยลดต้นทุนการผลิต ฟื้นฟูดิน กระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์ รวมถึงลดอัตราการเกิดโรครากเน่า
   
จากการนำปุ๋ยชีวภาพที่ได้ไปทดลองในการปลูกข้าว ข้าวโพดหวานและผัก ภายในแปลงทดลอง พบว่าการนำปุ๋ยชีวภาพที่ขยายในปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ในช่วงเตรียมดินซึ่งเป็นดินเปรี้ยวจัด สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้เช่นเดียวกันกับการใส่ปุ๋ยเคมี โดยมีผลทำให้ลดอัตราการใส่ปูนและปุ๋ยเคมีลง ระหว่าง 50-100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ต้นพืชมีความแข็งแรง ช่วยฟื้นฟูดินและรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยชีวภาพจากกลุ่มจุลินทรีย์ทนกรด ยังช่วยส่งเสริมกระตุ้นการงอกของเมล็ดข้าว ข้าวโพดหวาน และผักคะน้า
   
และจากความสำเร็จครั้งนี้ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระ ราชดำริ จะมีการขยายผลไปสู่เกษตรกรรอบศูนย์ฯ ตลอดจนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัดเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาดิน เพื่อการเพาะปลูกกันต่อไป.


tidtangkaset@dailynews.co.th

Tags :

view